“พุทธิพงษ์” เผยรายชื่อบอร์ดเอ็นที 5 คน ดึง พ.อ.สรรพชัย กจญ.กสท โทรคมนาคม และ น.อ.สมศักดิ์ บอร์ด ทีโอที นั่งบอร์ดใหม่ ชี้ต้องหาทางแต่งตั้ง พ.อ.สรรพชัย เข้ามารักษาการดูแลงานหน่วยธุรกิจ กสท โทรคมนาคมด้วย หวั่นการทำงานไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ มรกต คุมหน่วยธุรกิจทีโอที ส่วน กจญ. เอ็นทีต้องเป็นคนนอกเท่านั้นเพื่อรักษาความเป็นกลาง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าพบเพื่อขอความชัดเจนเรื่องการควบรวมกิจการ 2 บริษัท เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเรื่องที่สหภาพกังวลหลักๆ นอกจากเรื่องสวัสดิการแล้ว ยังกังวลเรื่องกระบวนการควบรวมซึ่งต้องการให้ควบรวมเป็นธุรกิจเดียวกันในครั้งแรก เพราะเกรงว่าหากทำภายหลังจะยิ่งทำยากกว่า
แต่ตนได้ให้เหตุผลว่าหากทำเช่นนั้นจะกระทบต่อสิ่งที่กระทรวงดีอีเอสได้สัญญาไว้กับสหภาพฯ และผู้บริหารระดับต่างๆ ซึ่งกระทรวงดีอีเอสต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือต้องควบรวมโดยไม่กระทบต่อรายได้และสวัสดิการของพนักงาน แม้ว่าโดยหลักการแล้วบริษัทที่ปรึกษาจะให้แนวทางในการควบรวมแบบหลักสากลแต่ตนไม่สามารถทำตามได้ เพราะทั้ง 2 องค์กรมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน การควบรวมต้องเข้าใจจิตใจของพนักงานทุกระดับด้วย โดยยืนยันว่าวันที่ 7 ม.ค.2564 เอ็นทีจะถูกจดทะเบียนอย่างสมบูรณ์
สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเสนอรายชื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทเอ็นทีนั้น ตนได้รายชื่อแล้ว 5 คน ประกอบด้วย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานบอร์ด ทีโอที นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อพิจารณา ส่วนกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นที กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกคนนอกเข้ามาทำงาน
สาเหตุที่เลือกคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นทีนั้น เพราะต้องการให้พนักงานไม่รู้สึกว่าผู้บริหารระดับสูงเป็นของฝ่ายไหน ตนต้องทำให้ทุกอย่างเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ส่วน พ.อ.สรรพชัย นั้น เมื่อหมดวาระการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม เมื่อควบรวมเป็นเอ็นทีแล้ว เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องเพราะ พ.อ.สรรพชัย ดำเนินการเรื่องควบรวมมาตั้งแต่ต้น นอกจากแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดเอ็นทีแล้ว ต้องหาทางแต่งตั้งให้ พ.อ.สรรพชัย กลับเข้ามารักษาการในตำแหน่งผู้บริหารดูแลสายงาน กสท โทรคมนาคม ด้วย ส่วนนายมรกต เธียรมนตรี นั้นก็ยังคงเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตำแหน่งเดิม เพื่อดูแลสายงานของทีโอที
ส่วนประเด็นเรื่องการแต่งตั้ง พ.อ.สรรพชัย เป็นทั้งบอร์ดและรักษาการในตำแหน่งดูแลสายงาน กสท โทรคมนาคม ในบริษัทเอ็นทีนั้น จะกลายเป็นการเปิดทางให้บอร์ดเข้ามาทำงานเอง ชงเรื่องเข้าบอร์ดเอง และจะกลายเป็นช่องทางคอร์รัปชันหรือไม่นั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยืนยันว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะตนต้องการให้การทำงานของหน่วยธุรกิจ กสท โทรคมนาคม เดินหน้า ดังนั้นจึงไม่ต้องการปล่อยให้ พ.อ.สรรพชัย หลุดออกจากตำแหน่ง เพราะการเป็นบอร์ดเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถลงรายละเอียดงานได้เหมือนการเป็นรักษาการในบริษัท จึงจำเป็นต้องตั้ง พ.อ.สรรพชัย เข้ามารักษาการไปก่อน ส่วนแนวคิดที่เสนอให้แต่งตั้งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม คนอื่นมาแทน พ.อ.สรรพชัย นั้น ตนมองว่าเป็นการบริหารไม่เหมือนกัน อาจทำให้การทำงานสะดุด
"ช่วงต้นคงต้องให้ พ.อ.สรรพชัย เป็นทั้งบอร์ดและผู้บริหารไปก่อน แต่ผมก็กำลังพิจารณาความเหมาะสมด้วย ในระยะต่อไปก็อาจเหลือเพียงเป็นบอร์ดตำแหน่งเดียว"
อย่างไรก็ตาม เมื่อควบรวมเสร็จสิ้นเอ็นทีจะกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดยเอ็นที จะเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ตอนนี้จึงมั่นใจได้ว่าเอกชนที่ไม่เคยเห็นทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็นคู่แข่ง จำต้องหันมากลัวและไม่อยากให้มีการควบรวมเกิดขึ้น
ขณะที่ พ.อ.สรรพชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า การร่วมมือกันของ 2 หน่วยงานนั้น เพื่อพัฒนาบริการที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการไปสู่การเป็น เอ็นที ด้วยจุดแข็งของ กสท โทรคมนาคม ในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน จะสนับสนุนการให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงานมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันที่หลากหลายมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน
เช่นเดียวกับ นายมรกต รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที มั่นใจว่า เมื่อควบรวมทั้ง 2 องค์กรแล้ว เอ็นที จะเป็นกลไกของรัฐที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศและประชาชนสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข็มแข็ง ซึ่งทีโอทีพร้อมที่จะนำทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่มีความชำนาญในการให้บริการซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในทุกๆ ด้านเพื่อให้คนไทยได้ใช้โทรคมนาคมด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ