xs
xsm
sm
md
lg

ออโตเมชันไทยคึกคัก “เร้ดแฮท” ประเมินปี 64 ขยายตัวชัดหลังโควิด-19 เร่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เร้ดแฮทมองประเทศไทยก้าวไกลเกินระดับ “ตั้งไข่” เพราะหลายองค์กรสนใจทำระบบอัตโนมัติด้านซอฟต์แวร์ หรือระบบออโตเมชันตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ชี้หลังโควิด-19 ตลาดมีแนวโน้มจะคึกคักขึ้นอีกจากหลายปัจจัยเร่งที่ส่งให้เกิดการขยายตัวชัดเจนในปี 64 โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินและกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอาเซียน ย้ำระบบอัตโนมัติวันนี้ยังมีความท้าทายเรื่องการสร้างความมั่นใจว่าระบบจะทำงานได้ดีแทนคนตัวจริงได้หรือไม่ ซึ่งแพลตฟอร์มของเร้ดแฮทสามารถตอบโจทย์ได้ด้วยการใช้คอมมูนิตีเป็นเครื่องมือการันตีได้อย่างชาญฉลาด

นายกวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เร้ดแฮท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มจากวิจัยล่าสุดทำให้เชื่อได้ว่าออโตเมชันได้รับความสนใจมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัวยิ่งขึ้นในปี 64 เนื่องจากโควิด-19 เป็นสถานการณ์เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น จากที่เคยต้องเดินทางเข้าสำนักงานไปตั้งค่าหรือติดตั้งซอฟต์แวร์บริษัทที่สาขา แต่การมาของโควิด-19 ทำให้ต้องใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งแทนที่จะต้องจัดสรรคนไปทำงาน ระบบอัตโนมัติจะช่วยให้งานสำเร็จได้เร็วขึ้น ลดการใช้คน ลดความเสี่ยงผิดพลาด ทำให้ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญและมีแนวโน้มจะใช้กันมากขึ้นในไทยช่วงปีหน้า

“ระบบอัตโนมัติสำคัญมาก ช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันได้เร็ว ถ้าไม่มีก็ทำได้ แต่ออโตเมชันจะช่วยให้ทำได้เร็วขึ้นอีก ซึ่งโดยส่วนใหญ่การทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันของหลายองค์กรมักจะมีระบบออโตเมชันซ่อนอยู่ข้างล่างเสมอ”

กวินธร ภู่ตระกูล
กวินธร กล่าวว่า ระบบอัตโนมัตินั้นเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการใช้ทีมงานจำนวนมากทำงานที่ซ้ำกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะองค์กรที่มีสาขาทั่วโลกที่แม้จะดำเนินธุรกิจได้ด้วยตัวเองแต่ต้องอาศัยทีมไอทีจำนวนมาก ระบบออโตเมชันจึงเกิดขึ้นเพื่อการสร้างระบบที่สั่งงานในครั้งเดียว ซึ่งแม้ออโตเมชันจะมีได้ทั้งส่วนซอฟต์แวร์และเครื่องจักร แต่ที่เร้ดแฮทให้บริการคือส่วนระบบอัตโนมัติบนซอฟต์แวร์ที่สามารถสั่งตั้งค่าให้เป็นระบบทำงานซ้ำๆ อย่างรวดเร็วแทนพนักงานดั้งเดิม

เครื่องมือออโตเมชันที่เร้ดแฮทจะทำตลาดคือ Ansible Automation Platform ฐานแห่งการสร้างและการให้บริการระบบอัตโนมัติระดับองค์กรแบบขยายวงกว้าง ยังมี DepOps ซึ่งเป็นเครื่องมืออัตโนมัติทำงานได้เร็วที่สามารถระวังไม่ให้ระบบได้รับหรือสร้างความเสียหาย เพราะระบบมีส่วนตรวจสอบสิทธิผู้สั่งการ ทำให้ระบบอัตโนมัตินี้โปร่งใสจนทุกคนในองค์กรสามารถเข้ามาตรวจได้ว่าระบบถูกใช้กับงานอื่นอยู่หรือไม่ บนภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่ายของผลิตภัณฑ์ Ansible 


กวินธร ยกผลการศึกษาของ Harvard Business Review ระบุว่า 95% ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันทวีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากสัดส่วน 40% ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกที่กำลังพัฒนาและส่งแอปพลิเคชันใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้บริหารในภูมิภาคอื่นของโลกที่อยู่ที่ 23% การที่องค์กรต่างๆ เร่งดำเนินงานตามโปรแกรมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันของตนให้เร็วขึ้น องค์กรเหล่านั้นควรพิจารณาว่าระบบอัตโนมัติคือก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้

ขณะที่การสำรวจของบริษัท Dora พบว่าระบบอัตโนมัติช่วยให้ธุรกิจดำเนินการได้เร็วกว่าการเขียนโปรแกรมปกติถึง 106 เท่า ขณะเดียวกัน ก็ผิดพลาดน้อยกว่า 7 เท่า แถมยังกู้คืนการทำงานได้เร็วกว่าแอปพลิเคชันแบบเดิมถึง 2,604 เท่าตัว ความเร็วเหล่านี้มีข้อดีคือช่วยให้ธุรกิจขยายบริการได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาร่วมกันกับทีมงานได้ดียิ่งขึ้น สร้างนวัตกรรมได้เร็วเพราะสามารถตัดงานประจำออก ขณะเดียวกัน ก็เสถียรมาก และปรับใช้กับกฎระเบียบได้เร็วขึ้น คุ้มทุนกว่าเดิม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้


ในภาพรวม กวินธร เชื่อว่าออโตเมชันจะได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทยในปี 64 โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรใหญ่ที่มีหลายสาขา ซึ่งหากเป็นงานที่ต้องส่งพนักงานไปตั้งค่าเครื่องคอมพิวเตอร์หลักพันเครื่อง ก็สามารถทำได้เลยจากการสั่งการบนคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โดยเป็นระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบการทำงานย้อนหลังได้ละเอียดโดยไม่ต้องอ่านภาษาโค้ดดิ้ง

“ก่อนโควิด-19 องค์กรไทยก็ใช้ระบบออโตเมชันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกระบวกการเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน แต่โควิด-19 เร่งให้มีความต้องการใช้มากขึ้น เพราะอาจมีกรณีที่เข้าไปทำงานหน้าไซต์งานไม่ได้ จึงต้องรีโมตแล้วออกคำสั่งให้ทำจากระยะไกล”

นอกจากอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมเทลโค หรือโทรคมนาคมจะแห่ใช้ระบบออโตเมชันมากที่สุดในเอเซียแปซิฟิก รวมถึงทุกอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน สาขาหลายแห่ง เบื้องต้น ยังไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุนออโตเมชันทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หากคะแนนเต็ม 5 กวินธร วิเคราะห์ส่วนตัวว่าองค์กรไทยมีระดับการใช้ออโตเมชันระดับ 3 ขึ้นไป เป็นผลจากการเร่งด้วยความต้องการของธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับตัวเอง และสถานการณ์ไม่คาดคิด รวมถึงความต้องการลดค่าใช้จ่ายที่จะทำให้องค์กรเร่งพัฒนาระบบและบุคลากรแบบไม่คิดมาก

สถิติล่าสุดของบริษัท Red Hat
เร้ดแฮทย้ำว่า องค์กรจะปรับใช้ระบบออโตเมชันโดยไม่ลดพนักงานแบบ 100% เพราะระบบอัตโนมัติยังต้องใช้พนักงานสร้างชุดคำสั่งอยู่ดี สำหรับความท้าทายในตลาดออโตเมชันวันนี้อยู่ที่ความมั่นใจ ว่า ระบบจะมาแทนแมนนวลได้ครบจริงหรือเปล่า

“จะมั่นใจได้อย่างไรว่าระบบใส่ข้อมูลได้ถูกต้องเหมือนการนำเอาคนไปนั่งทำงาน จุดนี้ทำให้ระบบออโตเมชันที่ดีต้องสามารถติดตามได้ เป็นข้อกังวลที่ธุรกิจควรต้องให้ความสำคัญ”

แนวคิดนี้ทำให้เกิดเป็นแพลตฟอร์ม Ansible Automation Platform หลักการทำงานคือการเป็นพื้นที่ตรวจสอบว่าสิ่งที่ตั้งค่าไปนั้นเคยมีใครบนโลกที่ได้ทำระบบนี้มาก่อน แพลตฟอร์มจึงเป็นคอมมูนิตีที่นักพัฒนาจะได้ค้นหาชุดคำสั่งที่ได้รับทดสอบมาแล้วว่าให้ตั้งค่าแบบใด จุดนี้หากการทดสอบแสดงชัดว่าได้ผลดี ก็จะเพิ่มความมั่นใจให้องค์กรได้ ลดโอกาสที่ผู้บริหารจะไม่เข้าใจจนตัดสินให้ใช้แรงงานคนแบบเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น