ในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทย ‘หัวเว่ย’ ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการขึ้นแท่นไปอยู่ในลำดับ 2 ของแบรนด์มือถือที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 23% แต่ด้วยความท้าทาย และปัญหาจากสงครามทางการค้าที่เข้ามาส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการใช้งาน ทำให้ปัจจุบัน หัวเว่ย รั้งอยู่เบอร์ 4 ในตลาดสมาร์ทโฟนไทย และทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมากภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
“ในอดีตที่ผ่านมา เราได้เห็นบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มาแล้ว ทั้งการที่ไมโครซอฟท์เลิกทำระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน หรือแม้แต่แบล็กเบอร์รี่ จากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี้หายไปจากตลาด การที่หัวเว่ย ซึ่งปัจจุบันเริ่มพัฒนา Huawei Mobile Service ขึ้นมาใช้งานไม่ถึง 2 ปี และมีจำนวนผู้ใช้หลายร้อยล้านคน และยังอยู่รอดในตลาดนี้ถือว่าโชคดีแล้ว” อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหัวเว่ยในปัจจุบัน
แน่นอนว่า ผู้บริหารหัวเว่ย รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ลากหัวเว่ยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า หัวเว่ย มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานและส่งกลับไปให้รัฐบาลจีน ซึ่งแม้ว่าหัวเว่ย จะได้รับการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ หลายสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เหล่านี้ดีขึ้น
จนกระทั่งล่าสุด หลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ทางหัวเว่ย ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งจากการที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ทาง Qualcomm ผู้ผลิตชิปเซตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลกทำการค้าขายกับหัวเว่ย ได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เคยกีดกันทางการค้า จนทำให้หัวเว่ย กำลังจะเผชิญกับปัญหาชิปเซตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะทำให้ไลน์การผลิตสมาร์ทโฟนหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย แต่อยู่กับการที่ หัวเว่ย ไม่สามารถนำ Google Mobile Service มาใช้งานบนสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย จากคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ห้ามบริษัทอเมริกันทำการค้ากับจีน แม้ว่าตัวสมาร์ทโฟนจะทำงานบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ Android ก็ตาม
กลับกันในท่าทีของหัวเว่ย ก็ไม่ได้มองว่าการนำ GMS (Google Mobile Service) มาใช้งานนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบัน หลังจากที่พัฒนา HMS (Huawei Mobile Service) ขึ้นมาใช้งาน ก็เริ่มมีนักพัฒนาที่ให้ความสนใจ และนำแอปพลิเคชันเข้ามาให้ดาวน์โหลดใน Huawei App Gallery มากกว่า 1.6 ล้านแอปแล้ว จากที่ใน Play Store มีแอปให้ดาวน์โหลดราว 2.6 ล้านแอปพลิเคชัน
อิงมาร์ ให้ข้อมูลอย่างมั่นใจว่า หัวเว่ย เพิ่งพัฒนา Huawai App Gallery ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ถ้าเทียบกับกูเกิลที่พัฒนา Play Store มานานกว่า 10 ปี ปริมาณแอปที่มีให้ดาวน์โหลดนั้นถือว่าสูงมากๆ แล้ว และจะทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป้าหมายในตลาดสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย เวลานี้ ไม่ได้โฟกัสอยู่กับจุดเดิมที่รอคอยโอกาสนำ GMS กลับมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนแล้ว แต่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาอย่างแท้จริง และยอมที่จะเติบโตช้าลงบ้างในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงสู่การเติบโตในระยะยาว
“คาดว่า HMS ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอีก 1-2 ปี เพื่อให้สามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับบริการต่างๆ ของกูเกิล ซึ่งนอกเหนือจากปริมาณแอปแล้วก็ต้องมีการพัฒนาอีโคซิสเต็มให้พร้อมรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”
ส่วนสำคัญที่ทำให้สมาร์ทโฟนหัวเว่ย ยังมีที่ยืนจนเป็นระบบปฏิบัติการอันดับ 3 ในตลาดนอกจาก iOS และ Android ก็คือยอดขายสมาร์ทโฟนในประเทศจีน เมื่อมองย้อนไปในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หัวเว่ย สามารถขึ้นเป็นผู้นำสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ จากการที่ตลาดจีนฟื้นตัวกลับมาหลังสถานการณ์โควิด-19 ด้วยส่วนแบ่งในจีนเกือบ 50%
ต่อเนื่องมาในไตรมาสที่ 3 แม้ว่ายอดขายทั่วโลกจะลดลงจนทำให้ หัวเว่ย กลับมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาด แต่ส่วนแบ่งในประเทศจีนก็ยังคงความแข็งแกร่งจากมาร์เกตแชร์ 41.4% ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากเป็นช่วงที่ไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และจะกลับมาเติบโตอีกครึ่งหลังการวางจำหน่าย Mate40 ซีรีส์ ในไตรมาส 4 นี้
โดยในประเทศไทย หัวเว่ย เตรียมที่จะเริ่มเปิดให้สั่งจอง Huawei Mate40 Pro 5G ในวันนี้ (3 ธันวาคม) และเป็นรุ่นเดียวที่นำเข้ามาทำตลาดในไทย ทำให้จะไม่มีโอกาสได้เห็น Mate40 และ Mate40 Pro+ เข้ามาวางขายอย่างแน่นอนในปีนี้
จุดเด่นของ Huawei Mate40 Pro ที่ถือว่ามีพัฒนาการในหลายๆ ส่วนตั้งแต่เป็นแอนดรอยด์โฟนรุ่นแรกที่นำชิปเซต Kirin 9000 ซึ่งพัฒนาบนสถาปัตยกรรม 5 นาโนเมตรมาใช้งาน ทำให้ได้ประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง รองรับการเชื่อมต่อ 5G
มีการปรับปรุงเรื่องของกล้องถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอให้ดีขึ้น เรียกได้ว่า Mate40 Pro ยังสามารถรักษาตำแหน่งสมาร์ทโฟนที่มีกล้องที่ดีที่สุดในท้องตลาดเวลานี้ก็ว่าได้ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ในการดาวน์โหลดแอป หัวเว่ย ได้มีการพัฒนาระบบอย่าง Petal Search ที่จะมาช่วยค้นหาแหล่งดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัยให้ผู้ที่ใช้งาน Huawei สามารถเข้าถึงแอป นอกเหนือจากใน App Gallery ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหัวเว่ย จะเป็นแบรนด์แรกที่นำสมาร์ทโฟน 5G เข้ามาทำตลาดในไทย แต่ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนผ่านระหว่าง 4G ไป 5G นั้น ทางอิงมาร์ เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็วเหมือนในยุค 2G มา 3G หรือ 3G เปลี่ยนมา 4G ทำให้สัดส่วนการนำสมาร์ทโฟนเข้าสู่ประเทศไทย จะยังให้ความสำคัญกับรุ่นที่รองรับ 4G ด้วยเช่นเดิม
***มุ่งสู่สงครามอีโคซิสเต็มเต็มตัว
เมื่อธุรกิจสมาร์ทโฟนไม่สามารถรอดูท่าทีที่จะเกิดขึ้นต่อไปเกี่ยวกับสงครามการค้าจีน และสหรัฐฯ ได้ ทำให้ หัวเว่ย หันกลับมามองถึงความแข็งแกร่งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้กลยุทธ์อย่าง 1+8+N ที่นำดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อไปยังสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หูฟัง นาฬิกา แว่นตา แท็บเล็ต จนถึงสมาร์ททีวี
เกวิน เฉิง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) คนใหม่ที่เข้ามารับไม้ต่อจากอิงมาร์ ดูแลหัวเว่ย คอนซูเมอร์ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของหัวเว่ย ในตลาดอุปกรณ์ IoT และ Wearable (อุปกรณ์สวมใส่ได้)
“ในช่วงที่ผ่านมา อุปกรณ์สวมใส่ได้ของหัวเว่ยไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาวัดสุขภาพ แว่นตาอัจฉริยะของหัวเว่ย มียอดขายเติบโตมากกว่า 60% ในขณะที่กลุ่มหูฟังไร้สายเติบโตถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ตลาดสมาร์ทโฟนเท่านั้นที่หัวเว่ย มีโอกาสอยู่ แต่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อีโคซิสเต็มก็เช่นเดียวกัน”
ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค เริ่มให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้มากขึ้น ทำให้ตลาดนี้เริ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ IoT ที่นำไปใช้งานในชีวิตประจำวันต่างๆ ด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายสมาร์ทโฟน แต่เมื่อมีผลิตภัณฑ์อย่างแล็ปท็อป แท็บเล็ต และในกลุ่ม IoT ทั้งหลายเข้ามา ยังช่วยรักษาการเติบโตของหัวเว่ยได้ โดยคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 2 ดิจิต เช่นเดิม
โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หัวเว่ย มีการปรับลดสัดส่วนการทำตลาดสมาร์ทโฟนลง จากปีก่อนหน้านี้กว่า 90% จะให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟน แต่ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต นาฬิกา หูฟัง แว่นตา รวมถึงสมาร์ททีวีที่จะนำเข้ามาทำตลาดในอนาคตจะให้ความสำคัญเท่ากันหมด
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความหลากหลายของสินค้าที่นำเข้ามาทำตลาดในแต่ละปีมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 30 SKU (Stock Keeping Unit) และในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 50 SKU บนเป้าหมายในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่อีโคซิสเต็มของหัวเว่ย
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ การพัฒนาการเชื่อมต่อภายในอีโคซิสเต็มของหัวเว่ย ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น อย่างเช่นการแชร์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การสั่งงานสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ ผ่านสมาร์ทโฟนที่เป็นศูนย์กลาง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หัวเว่ย มั่นใจว่าอนาคตของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังสดใสสำหรับหัวเว่ยเสมอ
จุดสำคัญที่ เกวิน เน้นย้ำคือ “การที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 1 ของหัวเว่ย ในกลุ่มตลาดต่างประเทศ จึงให้ความมั่นใจว่าหัวเว่ย จะมีการลงทุน และพัฒนาต่อเนื่องในประเทศไทยอย่างแน่นอน”