xs
xsm
sm
md
lg

“เลอโนโว” มองวัคซีนโควิด-19 ไม่มีผลเปลี่ยนดีมานด์ตลาดไอทีปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เคน หว่อง (Ken Wong) ประธาน Lenovo ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เลอโนโว (Lenovo) รับโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ดีมานด์หรือความต้องการในตลาดคอมพิวเตอร์พุ่งสูง ทำให้ธุรกิจฮาร์ดแวร์และบริการไอทีของบริษัทเติบโตชัดเจนในปี 2020 ย้ำภาคการศึกษาคือเซ็กเตอร์ที่เห็นโอกาสก้าวกระโดดหลังจากบริษัทประกาศนโยบายโฟกัสธุรกิจบริการไอทีมากขึ้น มั่นใจความต้องการในตลาดไอทีที่ถูกเร่งโดยโควิด-19 จะยั่งยืนไปอีกนาน เรียกว่าจะมีหรือไม่มีวัคซีน ตลาดไอทีเอเชียแปซิฟิกก็จะยังขยายตัวต่อไปในยุคนิว นอร์มอล

นายเคน หว่อง (Ken Wong) ประธาน Lenovo ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงแนวทางการเติบโตของบริษัทในยุคหลังโควิด-19 ว่า ปัจจุบัน Lenovo มุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการ (Lenovo Services) อย่างจริงจังทุกด้านตั้งแต่โซลูชันสำหรับภาคการศึกษา เฮลท์แคร์ บริการรับส่งอาหาร และบริการแมเนจเซอร์วิสมืออาชีพที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับอานิสงส์จากภาวะนิว นอร์มอลซึ่งเร่งให้เกิดความต้องการทั้งด้านฮาร์ดแวร์และโซลูชัน รวมถึงบริการไอทีหลากหลายในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ Lenovo เชื่อว่าว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นเรื่องการเป็นผู้นำตลาดฮาร์ดแวร์ไอที และความสามารถจัดหาผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนลูกค้าองค์กรที่ครอบคลุมมากที่สุด

“ยอมรับว่าธุรกิจในอนาคตจะยากขึ้น แต่ก็ย่อมมีโอกาสสำหรับ Lenovo” หว่องกล่าว โดยเล่าความเคลื่อนไหววงในหลายบริษัทว่าตั้งงบประมาณลงทุนไอทีเพิ่มขึ้น บางบริษัทตั้งงบมากขึ้นกว่า 50% เพระธุรกิจจำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่าจะลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร “ภาคการศึกษาจะเห็นความต้องการมาก ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการ”

วันนี้ Lenovo ทำธุรกิจใน 180 ตลาดทั่วโลก
จากการเป็นบริษัทพีซีรายใหญ่ที่ทำธุรกิจจัดจำหน่ายฮาร์ดแวร์ไอทีทุกระดับ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ Lenovo ประกาศทิศทางบริษัทหันมามุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการ (Lenovo Services) มากขึ้นในช่วง 24-36 เดือน เหตุผลที่ Lenovo บอกชาวโลกไม่ใช่ภาวะตลาดพีซีอิ่มตัว แต่เพราะรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป บริษัทจึงต้องการช่วยให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกสามารถเติบโตได้ ขณะที่ธุรกิจบริการไอทีก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้บริษัท Lenovo ได้อีกทาง

ผู้บริหาร Lenovo ชี้ว่า จุดต่างบริการของ Lenovo คือความยืดหยุ่น เพราะ Lenovo รวมองค์ประกอบทั้งหมดของโซลูชันโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จึงมองว่าจะประสบความสำเร็จในธุรกิจ "As a Service"

ปีนี้ดี ปีหน้าก็แจ่ม

สำหรับภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริหารยอมรับว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ Lenovo ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินไปด้วยดี เช่นเดียวกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวไม่แพ้กัน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดยิ่งทำให้ลูกค้า Lenovo ต้องการความช่วยเหลือเพื่อเอาชนะความท้าทาย จุดนี้ Lenovo ชี้ว่าหลายรายไม่ต้องการลดค่าใช้จ่าย แต่ละเลือกลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหรือการเปลี่ยนแปลง

ผลประกอบการณ์ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.2020 ของ Lenovo ทั่วโลก แสดงส่วนแบ่งตลาดพีซีที่ 26% แปลว่าคอมพิวเตอร์ทุก 4 เครื่องที่มีการซื้อขายในตลาด จะมี 1 เครื่องเป็น Lenovo
“โควิด-19 ทำให้ยอดขายพีซีสูงขึ้นมา เชื่อว่าภาวะนี้จะยังสูงต่อเนื่องเพราะ 3 เหตุผล” ผู้บริหาร Lenovo อธิบายว่าได้แก่ 1.คือเทคโนโลยียังมีความจำเป็น และโควิด-19 ทำให้เกิดการดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันที่ชัดเจน ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันจึงจะสำคัญมากขึ้นและมีการลงทุนมากขึ้นในปีหน้า 2.ความต้องการสมาร์ทโฟนที่มากขึ้น จะดันให้ทุกคนรู้ว่าแม้จะทำงานทุกอย่างได้บนสมาร์ทโฟน แต่ก็ไม่สามารถทำงานบนสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา ทำให้ยังมีความต้องการพีซีและแท็บเล็ตอยู่ นอกจากนี้คือ 3.การใช้งานในครัวเรือน เช่น ครอบครัวที่มี 4 คนอาจต้องการใช้พีซี 4 เครื่อง สมาร์ทโฟน 4 เครื่อง เนื่องจากความต้องการทำหลายอย่างจากบ้านเพราะโควิด-19

หลักฐานที่ชี้ว่า Lenovo ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การทำงานจากระยะไกล หรือรีโมตเวิร์กคือ ยอดขายคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคหลังการแพร่ระบาดนั้นเติบโตดี เบื้องต้น ผู้บริหารเชื่อว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้นเนื่องจากการระบาดนั้นจะเป็นสถานการณ์ที่ดำเนินต่อไป เนื่องจากบริษัททั่วโลกเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยี โดยสิ่งที่ Lenovo ต้องเผชิญคือความท้าทายด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้นในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานแบบเดิมมีข้อจำกัด

ปัจจุบัน Lenovo มุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการ (Lenovo Services) อย่างจริงจัง โดยเฉพาะบริการแมเนจเซอร์วิสมืออาชีพที่หลากหลาย
ผู้บริหาร Lenovo ย้ำว่าบริการจะป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฐานะซัปพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ Lenovo เข้มแข็งขึ้น โดยจะให้บริการร่วมกับพันธมิตรและช่องทางจำหน่ายที่มี ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับที่ปรึกษาอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งบริษัทจัดส่งอาหาร เอสเอ็มอีผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มร้านอาหาร

ไม่ช้าไม่เร็ว

ทั้งหมดนี้ทำให้ Lenovo เชื่อว่าการเปิดตลาดงานบริการที่ช้ากว่าคู่แข่งไม่มีผลลบกับตัวเอง เพราะมีโอกาสใหม่อยู่เสมอ

“บริการไอทีไม่เชื่อเรื่องใหม่ เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว แต่ธุรกิจบริการนั้นกว้างมาก และมีหลายจุดในอุตสาหกรรมที่ต้องการงานบริการ อย่างหนึ่งที่ Lenovo เป็นผู้นำคือเราเป็น 1 ในไม่กี่เวนเดอร์ที่สามารถให้บริการทุกเทคโนโลยีที่โลกมี ตั้งแต่พีซี โทรศัพท์ จนถึงดาต้าเซ็นเตอร์ แต่บริการจะเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไป”

Lenovo ย้ำว่า บริษัทไม่ต้องการขายเครื่องแล้วเดินจากไป แต่ต้องการให้ลูกค้าใช้เครื่องนั้นได้เต็มที่ ต้องจัดการได้ดี สำหรับกรณีภาคการศึกษา Lenovo ตั้งความหวังให้ครูสามารถสอนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องมั่นใจว่านักเรียนเรียนได้ดีขึ้น ในมุมส่วนตัวของหว่องเชื่อว่าความท้าทายอย่างโควิด-19 จะยังอยู่ต่อไป บริษัทจึงต้องให้มั่นใจได้ว่าทั้งครู นักเรียน และทุกฝ่ายในหน่วยงานจะพร้อม

สำหรับนิว นอร์มอลที่เร่งให้ทุกคนไปดิจิทัลมากขึ้น Lenovo มองว่าเทรนด์นี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ 5G, iOT และอุปกรณ์อัจฉริยะเช่นสมาร์ททีวี สมาร์ทวอตช์ กำลังเป็นเทรนด์ที่ขยายตัวในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทย แปลว่าไม่แค่ฮาร์ดแวร์ แต่ชาวโลกก็จะมองหาใครที่ช่วยให้ใช้งานระบบได้ นั่นก็คือบริการ As a Service ที่จะมั่นคงยิ่งขึ้นในปีหน้า ไม่ว่าโลกจะมีหรือไม่มีวัคซีนโควิด-19 ก็ตาม

4 เซกเมนต์ที่ Lenovo ปักหลักทำธุรกิจโซลูชัน ได้แก่ ภาคการศึกษา เฮลท์แคร์ บริการรับส่งอาหาร และบริการแมเนจเซอร์วิสมืออาชีพที่หลากหลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น