ที่ผ่านมา ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสื่อสารตั้งแต่ยุค 2G มาเป็น 3G 4G จนกระทั่ง 5G นั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือทรัพยากรคลื่นความถี่เพราะแน่นอนว่ายิ่งมีปริมาณคลื่นความถี่มากที่สุดก็จะรองรับการให้บริการผู้ใช้งานจำนวนมากได้สูงขึ้น
แล้วในเมื่อโอเปอเรเตอร์ทุกเครือข่ายเริ่มติดตั้งให้บริการ 5G ปัจจัยอะไรที่จะมาช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าเครือข่ายไหนรองรับการใช้งาน 5G ได้ดีที่สุด เพราะนอกเหนือจากพื้นที่ใช้งานที่ครอบคลุมแล้ว ต้องมีในเรื่องของประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุดด้วย
โดยพื้นฐานแล้วจะต้องเริ่มจาก 1.คลื่นความถี่ในการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันทั้ง AIS และ TrueMove H เริ่มนำคลื่น 2600 MHz (n41) มาให้บริการแก่ผู้บริโภคทั่วไปแล้วโดยอยู่ในช่วงคลื่นความถี่ระดับกลางทำให้ได้ทั้งความครอบคลุมและความเร็วในการเชื่อมต่อ
นอกจากคลื่น 2600 MHz แล้ว อีกคลื่นที่ถือว่าเป็นมาตรฐานของ 5G คือคลื่น 3500 MHz (n78) ที่ต้องรอให้เกิดการประมูลคลื่นขึ้นในอนาคต ในขณะที่คลื่นความถี่ต่ำอย่าง 700 MHz (n28) ที่จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้นจากการที่เป็นคลื่นความถี่ต่ำนั้น
ปัจจุบัน คลื่น 700 MHz กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงและพัฒนาคลื่นความถี่ เพราะแต่เดิมถูกนำไปใช้งานกับโครงข่ายทีวีดิจิทัลทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับจูนคลื่นความถี่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานทีวีดิจิทัลจะไม่ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้น จึงเริ่มให้โอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูลนำคลื่นไปใช้งาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2564
ขณะที่ย่านคลื่นความถี่สูงกว่า 24 GHz ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงที่สุด ในไทยมีการเปิดประมูลคลื่น 26 GHz (n258) ไปเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มนำไปใช้งานกับอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจก่อน เนื่องจากต้องมีการลงทุนติดตั้งโครงข่ายให้มีพื้นที่ครอบคลุมการใช้งานอย่างเช่น ในพื้นที่อีอีซี หรือตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มีเพียงคลื่นความถี่อย่างที่เรียกันว่า Sub-6 หรือคลื่นความถี่ต่ำกว่า 6 GHz อย่าง 2600 MHz และ 700 Mhz เท่านั้นที่ผู้บริโภคทั่วไปจะมีโอกาสได้เข้าถึงและใช้งานก่อน ทำให้ทางโอเปอเรเตอร์จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าดีที่สุด
ต่อมาคือเรื่องของ 2.สถานีฐานที่ให้บริการ 5G ที่ปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆคือ 5G SA (Standalone) และ 5G NSA (Non-Standalone) ซึ่งเทคโนโลยีที่จะรีดประสิทธิภาพของเครือข่าย 5G ออกมาได้ดีที่สุดคือ 5G Sa ที่ใช้สถานีฐานปล่อยเฉพาะคลื่น 5G ออกมา ช่วยลดความหน่วง (Latency) ในการเชื่อมต่อให้ต่ำกว่าเดิม
ในขณะที่ 5G NSA จะเป็นการให้บริการ 5G บนสถานีฐานของ 4G เดิมทำให้ความเร็วและความหน่วงของ 5G NSA นั้นสูงกว่า 5G SA ซึ่งในช่วงแรกโอเปอเรเตอร์ในไทยได้เลือกใช้งาน 5G NSA เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการก่อนและในขณะเดียวกัน ก็ลงทุน 5G Sa เพิ่มจนปัจจุบันทั้ง AIS และ TrueMove H ให้บริการ 5G SA ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการใช้งาน 5G แบบ SA คือ ตัวสมาร์ทโฟนต้องรองรับการเชื่อมต่อด้วยซึ่งปัจจุบันมีเฉพาะ Huawei P40 Pro+ และ Huawei P40 Pro เท่านั้นที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G Sa และวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ส่วนในอนาคตทั้ง Samsung OPPO และ vivo ต่างมีแผนที่จะออกสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G Sa และนำเข้ามาทำตลาดในไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ดังนั้น ในการใช้งานหลักๆ ของผู้ใช้งานเครือข่าย 5G ในไทยก็จะอยู่กับเทคโนโลยีแบบ 5G NSA เป็นหลัก เพราะผู้บริโภคที่มีสมาร์ทโฟนรองรับ 5G จะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน
เมื่อคลื่นความถี่ที่นำมาใช้งานรวมกับเทคโนโลยี 5G บนสถานีฐาน และสมาร์ทโฟนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใช้งาน 5G ให้ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทุกคน คือ การนำมาตรฐานในการเชื่อมต่อ 5G มาผสมผสานการทำงานร่วมกับ 4G เพื่อให้สามารถทำความเร็วในการเชื่อมต่อได้สูงขึ้น
ในประเด็นนี้ 'วสิษฐ์ วัฒนศัพท์' หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ให้ข้อมูลว่า ในการให้บริการ AIS 5G ได้มีการนำมาตรฐานการเชื่อมต่อของ 5G NR (5G New Radio) มาใช้งาน โดยเริ่มเปิดให้ผู้ใช้งาน AIS 5G เข้าถึงได้แล้ววันนี้
โดยมาตรฐานการเชื่อมต่อนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า 5G EN-DC หรือ EUTRAN NEW radio Dual Connectivity ที่นำความสามารถของสมาร์ทโฟนที่รองรับเครือข่าย 5G ร่วมกับ 4G เข้าด้วยกันจึงทำให้สามารถเชื่อมต่อใช้งานโมบายดาต้าได้ในความเร็วสูงกว่า 1 Gbps
'ปัจจัยในการนำ 5G EN-DC มาใช้งานคือต้องมีคลื่นความถี่ที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการใช้งาน AIS ในฐานะที่เป็นผู้นำเครือข่าย 5G ที่มีคลื่นมากที่สุดในไทยจึงกลายเป็นเครือข่ายที่มอบประสบการณ์ใช้งาน 5G ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า'
ปัจจุบัน คลื่นความถี่ที่ AIS นำมาให้บริการ 4G ประกอบไปด้วย คลื่น 1800 Mhz จำนวนแบนด์วิดท์ 30 MHz คลื่น 2100 MHz จำนวน30 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งปัจจุบันถ้าใช้งานสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G แบบ 3CA ก็จะรวมเครือข่าย 4G ทั้ง 3 คลื่นเข้ามาใช้งานช่วยให้ประสบการณ์ใช้งานบน 4G ดีขึ้นแล้ว
เมื่อรวมกับคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่มีจำนวน 100 MHz โดยนำมาให้บริการ 5G ด้วยปริมาณแบนด์วิดท์ 60-80 MHz ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและความหนาแน่นในการใช้งานเครือข่าย 5G ที่เหลืออีกราว 20-40 MHz จะนำไปให้บริการ 4G บนคลื่น 2600 MHz เสริมเข้าไปให้ลูกค้ากว่า 41 ล้านรายใช้งาน
ทั้งนี้ ในการทดสอบการเชื่อมต่อ AIS 5G จะพบว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ใช้งานทั่วไปจะทำความเร็วเฉลี่ยได้ที่ราว 400-600 Mbps ส่วนถ้าอยู่ในพื้นที่ AIS 5G ที่ใช้แบนด์วิดท์สูงสุดที่ 80 MHz ความเร็วที่ได้จะขึ้นไปอยู่ราว 800-1000 Mbpsส่วนในพื้นที่ที่มีการนำ 5G EN-DC ให้บริการ ความเร็วในการเชื่อมต่อที่ได้จะทะลุ 1 Gbps ขึ้นไป ซึ่งทำให้ประสบการณ์ใช้งาน 5G บนเครือข่ายที่มีคลื่นมากที่สุดก็จะช่วยทำให้ใช้งานได้ดีที่สุดด้วย
ข้อดีอย่างหนึ่งของ 5G EN-DC คือ การที่สมาร์ทโฟนซึ่งรองรับการใช้งาน 5G รุ่นท็อปๆ ส่วนใหญ่รองรับการใช้งานอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Samsung Galaxy Note20 Ultra 5G, Huawei P40 Pro 5G, OPPO Find X2 Pro 5G และ VIVO V20 Pro รวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่จะทยอยเปิดตัวหลังจากนี้ด้วย
สำหรับความคืบหน้าในการให้บริการ AIS 5G ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 100% ในนิคมอุตสาหกรรม EEC ขณะเดียวกัน จะให้บริการครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า 60% ส่วนทั่วประเทศจะครอบคลุมที่ 16% โดยมีการติดตั้งสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 5,000 สถานีฐาน และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าที่ใช้งานสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G มากกว่า 1 แสนราย จากการที่ปัจจุบันถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศไทยที่ 1420 MHz
'หนึ่งในความภูมิใจของ AIS 5G ในเวลานี้คือการที่ความเร็วในการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกที่ให้บริการ 5G ในเวลานี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าคนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออันดับต้นๆ ของโลกได้แล้วในตอนนี้'