นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ซัมซุง (Samsung) สามารถครองตำแหน่งผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้ในเวลานี้ หลังจากที่ทยอยเปิดตัวสมาร์ทโฟนเพื่อมาทำตลาดในช่วงปลายปีนี้
โดยความโดดเด่นของสมาร์ทโฟนในตระกูล Galaxy ของซัมซุง ในเวลานี้ คือมีสินค้าเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าในทุกระดับ ตั้งแต่เริ่มต้นที่ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป จนถึงระดับพรีเมียมอย่างจอพับที่ยังไม่มีคู่แข่งรายอื่นตามได้ทันในเวลานี้
***ขึ้นผู้นำสมาร์ทโฟนจอพับ
ความสำเร็จของการจำหน่าย Samsung Galaxy Z Fold 2 5G ถือเป็นจุดที่มาตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมของซัมซุง เมื่อยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นนี้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานในกลุ่มพรีเมียม ที่ไม่ได้คำนึงถึงราคาของตัวเครื่อง แต่เน้นเข้าไปตอบโจทย์การใช้งาน
เพราะด้วยราคาตัวเครื่อง Z Fold 2 ที่เปิดราคามา 69,900 บาท ถือว่าเป็นระดับราคาใหม่ที่ ซัมซุง ทำตลาดต่อเนื่องมาจาก Galaxy Fold รุ่นแรก และเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
นอกจากการจำหน่ายรุ่นปกติแล้ว ซัมซุง ยังได้มีการนำรุ่นพิเศษอย่าง Galxay Z Fold 2 Thom Browne ที่ประกอบด้วย Z Fold 2 หูฟัง Galaxy Buds Live และ Galaxy Watch 3 ลายพิเศษ มาวางขายจำนวนจำกัดที่ 109,900 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนจองหมดใน 1 วัน
จะเห็นได้ว่า ซัมซุง ถือว่าเป็นแบรนด์ลอยตัวขึ้นมาในการแข่งขันรอบแรกของสมาร์ทโฟนจอพับ ที่ปัจจุบันแบรนด์อื่นๆ ยังไม่ได้มีการทำตลาดมาแข่งขันอย่างจริงจัง จากการมีทั้ง Z Fold 2 และ Z Flip ทำตลาดอยู่ในเวลานี้
จุดเด่นที่ทำให้ Galaxy Z Fold 2 ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้บริหารระดับสูง และนักธุรกิจรุ่นใหม่ คือการปรับปรุงการใช้งานที่ดีขึ้นกว่ารุ่นแรกในหลายๆ ด้าน ไล่ตั้งแต่หน้าจอด้านนอกขนาดใหญ่ 6.2 นิ้ว ทำให้ในกรณีที่ใช้งานทั่วไป สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกางจอออกมา ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน จากในรุ่นเดิมที่จอภายนอกมีขนาดเล็กทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งาน
เมื่อต้องการหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ ก็สามารถกางจอพับออกมาเป็นหน้าจอขนาด 7.6 นิ้ว ที่ใส่เทคโนโลยีการแสดงผลระดับสูงเข้าไปด้วยหน้าจอ Dynamic AMOLED 2X ที่รองรับอัตราการแสดงผลตั้งแต่ 11 Hz จนถึง 120 Hz ครอบคลุมตั้งแต่การอ่านบทความ ชมภาพยนต์ จนถึงการแสดงผลที่ลื่นไหลเวลาเล่นเกม
ความน่าสนใจของ Z Fold 2 5G นั้นไม่ได้หมดที่ตัวฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น อย่างการแบ่งหน้าจอเพื่อใช้งานหลายแอปพลิเคชันพร้อมๆ กัน และรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายขณะกางจอ ผสมผสานกับการใช้จอแสดงผลคู่ในการถ่ายภาพ
เมื่อมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย และใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ Galaxy Z Fold 2 5G กลายเป็นสมาร์ทโฟนจอพับที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดในเวลานี้ จนทำให้รู้สึกว่าเงินเกือบ 7 หมื่นบาทที่เสียไปนั้นได้ความคุ้มค่ากลับมา
***เสริมไลน์ Fan Edition สกัดจีน
ถัดลงมาในกลุ่มของสมาร์ทโฟนแฟลกชิป ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพ และการใช้งานที่ตอบโจทย์ เริ่มตั้งแต่การเสริมไลน์ของ Samsung Galaxy Note20 ซีรีส์ ที่เพิ่มความสามารถของ S-Pen เข้าไปจาก Galaxy 20 ซีรีส์ ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพของกล้อง และการใช้งานทั่วไป
การแข่งขันในกลุ่มสมาร์ทโฟนแฟลกชิปของซัมซุงนั้น เรียกได้ว่ามีความท้าทายสูง เพราะด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นของสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ทำให้ระดับราคาแฟลกชิปของซัมซุง พุ่งขึ้นไปอยู่ราว 3-4 หมื่นบาท จากก่อนหน้านี้ ที่จะครอบคลุมตั้งแต่ 2-3 หมื่นบาท
ในขณะที่แบรนด์จีน ก็ขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแฟลกชิปเข้ามาทำตลาดนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น OPPO Vivo Realme ที่มีการนำรุ่นแฟลกชิประดับราคา 3-4 หมื่นบาทเข้ามาทำตลาดด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
พร้อมๆ ไปกับการนำเสนอสมาร์ทโฟนที่เป็นรุ่นรองแฟลกชิปเพิ่มเข้ามาในช่วงระดับราคา 2 หมื่นบาท ภายใต้กลยุทธ์ในการนำจุดขายหลักที่น่าสนใจอย่างเรื่องกล้องถ่ายภาพเซลฟี่ หรือลูกเล่นการถ่ายภาพเพิ่มเติม และเลือกปรับลดประสิทธิภาพของซีพียูลงมา เพื่อทำให้ราคาจับต้องได้มากขึ้น
ในมุมของผู้บริโภคทั่วไป กลายเป็นว่าการปรับลดซีพียูลงมา พร้อมกับทำราคาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น กลับทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะผู้ใช้บางรายก็ไม่ได้รีดประสิทธิภาพในการใช้งานรุ่นระดับเรือธงได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การเลือกรุ่นรองลงมา แต่ได้ฟีเจอร์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
การแก้เกมของ ซัมซุง ในจุดนี้ คือการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ Fan Edition หรือ FE ออกมาป้องกันไม่ให้ลูกค้าเดิม หันไปเลือกใช้สมาร์ทโฟนแบรนด์คู่แข่ง เช่นเดียวกับการเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่า เหมาะสมกับราคา
ประเดิมด้วยการออกรุ่นพิเศษอย่าง Samsung Galaxy S20 FE ที่เลือกนำหน่วยประมวลผลระดับแฟลกชิปเช่นเดียวกับที่ใช้ใน S20 Note20 รวมถึง Z Fold 2 มาให้เข้าถึงได้ในราคาเริ่มต้นที่ 2 หมื่นบาท เสริมด้วยการคัดเลือกฟีเจอร์ที่ผู้บริโภคนิยมมาให้ใช้งาน
โดยทางซัมซุง ได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ใช้งาน แล้วรวบรวมฟีเจอร์ที่ประทับใจ พัฒนาออกมาเป็นเครื่องรุ่นนี้ อย่างการนำตัวเลือกหน่วยประมวลผลที่เป็น Snapdragon 865 มาให้ใช้ในรุ่นที่เป็น S20 FE 5G การเลือกจอแสดงผล SuperAMOLED ขนาด 6.5 นิ้ว ที่รองรับอัตราการแสดงผลที่ 120 Hz
ถัดมาคือเรื่องของกล้องถ่ายภาพที่เน้นการซูม ซึ่งในรุ่นนี้สามารถซูมภาพแบบ Space Zoom ได้ 30 เท่า จากการนำชุดกล้อง 12 ล้านพิกเซล ทั้งเลนส์ปกติ และเลนส์มุมกว้าง มาผสมผสานกับเลนส์เทเลโฟโต้ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมใส่ฟีเจอร์อย่าง Single Take ในการบันทึกภาพวิดีโอความละเอียด 4K และแปลงออกมาเป็นภาพนิ่งในจังหวะๆ สำคัญให้ใช้งานกันด้วย
แบตเตอรี่ เป็นอีกจุดที่ ซัมซุง ให้ความสำคัญ โดยในรุ่น S20 FE เลือกใช้แบตขนาด 4500 mAh ที่รองรับการชาร์จเร็วสูงสุดถึง 25W (แต่ในกล่องแถมอะแดปเตอร์ 15W มาให้) ถือว่าเป็นจุดที่ปรับปรุงขึ้นจาก S20 ที่ออกมาในช่วงต้นปีก็ว่าได้
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอตัวเลือกเพิ่มเติมเป็นสีสันของตัวเครื่องที่หลากหลาย 6 เฉดสี ประกอบด้วย สีน้ำเงิน สีม่วง สีมินต์ สีแดง สีส้ม และสีขาว พร้อมกับผิวสัมผัสที่ลดรอยเปื้อน และรอยนิ้วมือ เพียงแต่ว่าวัสดุของฝาหลังจะเป็นพลาสติก แทนกระจกที่ใช้งานในรุ่นแฟลกชิป
หลังจากนี้ ซัมซุง วางแผนที่จะออกสมาร์ทโฟน Fan Edition ออกมาต่อเนื่องในอนาคต นั่นแปลว่าจะได้เห็นสมาร์ทโฟนเรือธงราคาถูกของ ซัมซุง ออกมาให้ใช้งานกันทุกๆ ปี และถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนได้ด้วย
***รุ่นกลาง-ล่างยังน่าเป็นห่วง
เมื่อเห็นถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดสมาร์ทโฟนระดับบนไปแล้ว แต่จุดที่ทำให้ซัมซุง สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเครื่องในระดับราคาต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน ซัมซุง ได้ทำการรวม Galaxy J ซีรีส์ เข้ามาเป็น Galaxy A ซีรีส์ เพื่อให้เห็นถึงความชัดเจนในการทำตลาด
โดยมีรุ่นเริ่มต้นอย่าง Samsung Galaxy A01 Core ทำตลาดในระดับราคา 2,899 บาท แล้วไล่ระดับราคาขึ้นมาจนถึง A71 5G ที่ราคาเกือบ 20,000 บาท ซึ่งในสมาร์ทโฟนกลุ่มนี้ ซัมซุง ต้องเจอกับการแข่งขันจากทั้ง Xiaomi ที่มีสมาร์ทโฟนราคาคุ้มค่าอย่าง Redmi เข้ามาตีตลาด รวมถึง OPPO Vivo ที่มีช่องทางขายในต่างจังหวัดแข็งแรง
เพราะอย่าลืมว่า ในยุคการเปลี่ยนแปลงของ 5G นั้น ตลาดกลาง-ล่างนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเครื่องเพื่อใช้งานเทคโนโลยี 5G น้อยมากๆ เนื่องจากยังไม่เห็นถึงความจำเป็นในการใช้งาน การที่สมาร์ทโฟนเสีย เปลี่ยนเครื่องใหม่ ที่รองรับ 4G ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้ว
ดังนั้น จึงทำให้ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนนั้น เริ่มมีการผลัดมือกันในบางไตรมาส โดยเฉพาะการขึ้นแซงของ OPPO ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งซัมซุง อยู่ระหว่างรอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาด พร้อมกับรอการมาของเทคโนโลยี 5G ที่จะกลับมากระตุ้นตลาดสมาร์ทโฟนให้คึกคักอีกครั้ง
หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูกันว่าเมื่อเข้าสู่สมรภูมิของ 5G ที่แบรนด์จีน เร่งนำสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G บนคลื่นความถี่ที่พร้อมใช้งานในเมืองไทย เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่เดียวกับที่ใช้งานในจีน จึงทำให้มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน แล้วทาง ซัมซุง จะแก้เกมนี้ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำได้อย่างไร