หลังประกาศเปิดจำหน่ายไอโฟน 12 ที่ใช้งาน 5G ในไทย ทุกค่ายต่างแข่งกันลดแลกแจกแถมกันจนน่าตกใจ จนดูเผิน ๆ แล้วซื้อเครื่องในไทยน่าจะถูกที่สุดในโลกแล้วก็ว่าได้ แต่ที่น่าสนใจคือไอโฟน 12 ครั้งนี้ มาพร้อมกับความสามารถในการใช้งาน 5G ที่คนไทยต่างเฝ้ารอคอย ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อว่าจะตัดสินใจจองผ่านค่ายไหน ก็คงต้องดูที่ความพร้อมของการใช้งาน 5G ซึ่งเรียกได้ว่าโอเปอเรเตอร์ไทยต่างมีความพร้อมแล้ว เพราะมีการประมูลคลื่น 5G กันไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา วันนี้ลูกค้าชาวไทยจึงควรจะใช้งาน 5G กันได้ทั่วประเทศแล้ว
สำหรับการประมูลคลื่น 5G ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น มีเพียง 2 ค่ายใหญ่ที่ลงทุนประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่ใช้งาน 5G ที่เป็นมาตรฐานโลก และรองรับสมาร์ทโฟน 5G ทุกรุ่นรวมถึงไอโฟน 12 ที่เพิ่งเปิดตัวมานี้ ดังนั้น ค่ายที่พลาดการประมูลในช่วงที่ผ่านมา คงต้องลุ้นรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในขณะนี้ เหมือนอย่างที่เคยมีนักวิชาการบางท่านเคยแสดงความคิดเห็น ภายหลังจากที่ค่ายสีฟ้าตัดสินใจประมูลคลื่น 26 GHz คลื่นเดียว ซึ่งมองว่ามีความเสี่ยงที่ลูกค้าจะหายได้ เพราะลูกค้าอาจตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีบริการ 5G เหมือนคู่แข่ง หรืออีกนานแค่ไหนจะมี 5G เพื่อให้บริการ เพราะคลื่นความถี่ที่ค่ายฟ้าประมูลได้ไปนั้น คือคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์รองรับ และเป็นคลื่นย่านความถี่แบบ MM Wave ที่ไม่ได้นำมาใช้ให้บริการลูกค้าทั่วไป แต่เหมาะกับการทำ 5G เฉพาะพื้นที่ เช่นตามโรงงานหรือเป็น Hot Spot ซึ่งปัจจุบันนี้ มีการทดสอบคลื่น 26 GHz ให้บริการ 5G เฉพาะภายในช้อป หากออกมาใช้บริการนอกช็อปก็จะไม่สามารถใช้บริการ 5G ได้ แตกต่างจากอีก 2 ค่ายที่มีคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันพร้อมให้บริการ 5G แล้วทั่วประเทศ
หากอ้างอิงถึงบทสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี ได้เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) หรือดีแทค เข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ยังไม่พร้อมให้บริการ 5G เนื่องจากอุปกรณ์ยังไม่รองรับว่า การที่ดีแทคตัดสินใจเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ อาจเป็นเพราะต้องการเข้าร่วมการประมูลไปก่อน เนื่องจากคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G ที่ดีแทคสนใจ คือ คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ แต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่สามารถนำออกมาประมูลครั้งนี้ได้ โดยประเมินจากทิศทางของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของดีแทคคนก่อน หรือแม้กระทั่งผู้บริหารระดับสูงที่พยายามผลักดันให้มีการนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลครั้งนี้ด้วย เนื่องจากในภูมิภาคยุโรปใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักในการให้บริการ 5G ประกอบกับดีแทคอาจประเมินว่า กสทช. อาจจะนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2564
“เพื่อไม่ให้เสียของสำหรับคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ที่เข้าประมูล อาจจะเอามารอไว้ก่อน เพื่อเป็นคลื่นความถี่ย่านสูงสำหรับให้บริการ 5G ในพื้นที่อาคาร ห้างสรรพสินค้า หรือพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์รองรับ โดยผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าดีแทคจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) คู่แข่งที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และสามารถติดตั้งโครงข่าย รวมถึงเปิดให้บริการ 5G ได้ภายในปีนี้ ประกอบกับที่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G แล้ว เมื่อนั้นลูกค้าอาจตั้งคำถามว่า ทำไมดีแทคไม่มีบริการ 5G เหมือนคู่แข่ง หรืออีกนานแค่ไหนจะมี 5G เพื่อให้บริการ” นายสืบศักดิ์ กล่าว
ก็เรียกได้ว่า งานนี้ต้องรอดูว่า แต่ละค่ายจะออกมาสร้างความดึงดูดใจลูกค้ากันอย่างไร ใครจะตรงใจลูกค้ายุคนี้ได้มากกว่ากัน ราคาที่ถูกที่สุดจะใช่ทางออกของการรักษาลูกค้าที่อยากใช้งาน 5G ได้หรือไม่ ดังนั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องฝากไว้ให้คิดกันให้รอบด้านก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนสมาร์ทโฟน 5G ให้ใช้งานได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะได้ไม่รู้สึกเสียใจภายหลังที่เห็นคนอื่นเค้าใช้งาน 5G กันได้ทั่วไทย แต่เราต้องใช้เฉพาะพื้นที่ที่จำกัด