ดีอีเอส กางสัญญาสัมปทาน 'ไทยคม' ตอบโต้ ข้อกล่าวอ้างของเอกชน ที่พยายามเลี่ยงไม่รับผิดชอบความเสียหายดาวเทียมไทยคม 5 ชำรุดจนใช้งานไม่ได้ก่อนครบอายุสัญญาสัมปทาน กระทบทั้งผู้ใช้บริการ และทำรัฐสูญรายได้ตามข้อสัญญา
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งประสบปัญหาขัดข้องจนต้องปลดระวางก่อนวันครบกำหนดสัญญาสัมปทาน ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอส ในฐานะคู่สัญญากับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับสัมปทาน ได้เจรจาให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งกับลูกค้าผู้ใช้บริการ และกับรัฐในฐานะผู้ให้สัมปทาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อยุติร่วมกัน และล่าสุด ผู้บริหาร ไทยคม ออกมากล่าวอ้างให้ข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ดังนั้น กระทรวงดีอีเอสจำเป็นต้องออกมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวอ้างของเอกชนในประเด็นหลักๆ ดังนี้
การที่ผู้บริหารของไทยคม ระบุว่า ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานครบถ้วนมาตลอดนั้น สัญญาสัมปทานนี้ทำขึ้นเมื่อปี 2534 มีข้อกำหนดชัดเจนให้บริษัทฯ มีหน้าที่จัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองซึ่งจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรให้ทันใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อน อีกทั้งเมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน บริษัทฯ ต้องส่งมอบทรัพย์สินภายใต้สัญญาฯ คืนให้กระทรวงดีอีเอส โดยดาวเทียมต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้ ณ ตำแหน่งวงโคจร รวมทั้งสถานีควบคุมดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี
ทั้งนี้ จากข้อสัญญาข้างต้น ชัดเจนว่าเงื่อนไขสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนดาวเทียมที่บริษัทฯ มีการจัดสร้างเพื่อให้บริการ และในวันสิ้นสุดอายุสัญญา ทรัพย์สินในโครงการทั้งหมดที่ต้องส่งมอบให้แก่กระทรวงดีอีเอส ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานดาวเทียมไทยคม ต้องยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี และสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของอายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งขึ้นสู่วงโคจรเพื่อให้บริการในปี 2549 นั้น กระทรวงดีอีเอสเคยได้รับแจ้งจากบริษัทฯ เมื่อปลายปี 2560 ว่า ดาวเทียมดวงนี้จะหมดอายุทางวิศวกรรมในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากเชื้อเพลิงในระบบขับเคลื่อนจะหมด พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอขอเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพิ่มเติมให้แก่ดาวเทียมไทยคม 5 และขอแก้อายุสัญญาสัมปทาน
“สำหรับข้อเสนอครั้งนั้น กระทรวงดีอีเอส เห็นชอบหลักการให้บริษัทฯ เฉพาะในเรื่องคำขอเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพิ่มเติมให้แก่ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งบริษัทก็ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม 2562” น.ส.อัจฉรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2562 บริษัทฯ ได้แจ้งว่าเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของระบบแจ้งสถานะของดาวเทียมไทยคม 5 และพยายามทำการแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ และได้แจ้งว่าจะต้องปลดระวางดาวเทียมออกจากวงโคจร ซึ่งกระทรวงดีอีเอสได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบทางเทคนิค และพบว่าไทยคม 5 เกิดการขัดข้องจริง โดยเกิดจากระบบแจ้งเตือนสถานะบนดาวเทียม (Telemetry) ไม่ส่งสัญญาณลงมา โดยเป็นการเสียแบบเฉียบพลัน ประกอบกับเมื่อปี 2561 บริษัทฯ พบปัญหาอุปกรณ์ Telemetry ตัวที่ 1 ใช้งานไม่ได้ และตัดสินใจใช้งานตัวสำรองแทน ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยไม่เคยแจ้งให้กระทรวงดีอีเอสรับทราบ
“จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของไทยคม ที่ให้ข้อมูลกับสื่อว่า ดาวเทียมไทยคม 5 ชำรุด เพราะหมดอายุวิศวกรรมและใช้งานเกินกว่าอายุที่กำหนด”
นอกจากนี้ การที่บริษัทปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นหน้าที่ของบริษัทฯ ที่จะดำเนินการตามข้อปฏิบัติสากล กระทรวงดีอีเอสรับทราบว่าต้องดำเนินการแต่ไม่ได้อนุมัติหรือเห็นชอบ และกระทรวงดีอีเอสได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ หลังการปลดระวางด้วย เช่นเดียวกับการปลดระวางดาวเทียมดวงก่อนหน้านี้
อีกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานไทยคม ก็คือ ข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งมีการจัดทำร่วมกันตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่กระทรวงดีอีเอสเป็นร้อยละของรายรับรวมทั้งสิ้นในแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่าย หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยเอาจำนวนผลประโยชน์ที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์
ดังนั้น ข้อมูลที่เอกชนกล่าวอ้างถึงตัวเลขที่มีการชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมจนถึงปัจจุบัน ว่า เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงถือเป็นข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสาธารณชนที่ไม่ทราบถึงรายละเอียดของสัญญาในประเด็นนี้