xs
xsm
sm
md
lg

"พุทธิพงษ์" ดันทีโอทีผุดดาต้า เซ็นเตอร์ในอีอีซี รับลูกค้า 5G

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พุทธิพงษ์" ชี้ 5G ดันข้อมูลดิจิทัลโต ปลื้ม หัวเว่ยเตรียมเงินลงทุน 700 ล้านบาท สร้างดาต้า เซ็นเตอร์เพิ่มอีกแห่ง ปิ๊งไอเดีย ดันทีโอทีผุด ดาต้า เซ็นเตอร์รับลูกค้าอีอีซี หลังเอ็มโอยูอีอีซี ร่วมวางระบบ 5G เสริมแกร่งสู่ เอ็นทีในอนาคต

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงาน “POWERING DIGITAL THAILAND 2021 HUAWEI CLOUD & CONNECT” ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับบริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ลด์ ว่า มีความยินดีที่หัวเว่ย ยังคงลงทุนในประเทศซึ่งภายในปีหน้า หัวเว่ยเตรียมเงินลงทุนอีก 700 ล้านบาท ในการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ เพิ่มอีก 1 แห่ง นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยี 5G จะทำให้บริการต่างๆ ตามมาจำนวนมาก ข้อมูลมหาศาลจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ตามมา ทั้งเอไอ และไอโอที

ขณะที่ในด้านของกระทรวงดีอีเอสนั้น ได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ศึกษาแผนธุรกิจในการสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ ในพื้นที่อีอีซี รองรับความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ด้วย หลังจากที่เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 ทีโอที ได้ลงนามความร่วมมือในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในพื้นที่อีอีซี ซึ่งทีโอทีต้องคิดแผนและวางงบประมาณของตนเองว่าจะทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้บริการภายในปีหน้า

ขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ในการทำดาต้า เซ็นเตอร์ ภาครัฐ ซึ่งมีงานที่ต้องทำมากอยู่แล้ว และเมื่อทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รวมกันเป็น บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ก็จะทำให้ดาต้า เซ็นเตอร์ของเอ็นที พร้อมให้บริการ 3 แห่ง คือ ของทีโอที 1 แห่ง และ ของ กสท โทรคมนาคม 2 แห่ง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลต้องเร่งวางโครงสร้าง 5G ให้เร็วที่สุุด แม้ว่าประเทศไทยคือประเทศที่ประมูล 5G ก่อนประเทศอื่น แต่หากไม่รีบทำให้เกิดเป็นรูปธรรม อาจถูกสิงค์โปร์แซงหน้าได้ เพราะแม้ว่าเขาจะเพิ่งประมูล 5G ได้ช้ากว่าประเทศไทย แต่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก จึงสามารถวางโครงสร้าง 5G และคาดว่าจะใช้งานได้ทั่วประเทศภายใน 2 ปี

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกระทรวงดีอีเอส ต้องให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ประมูลคลื่น 5G หากไม่ประมูล 5G จะทำให้ผู้ให้บริการ 5G ตกอยู่ในมือเอกชนทั้งหมด และเมื่อต้องการใช้งานเพื่อประโยชน์ของสังคม จึงต้องให้ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ดำเนินการ และต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 5G รวมถึงบริการให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด


ด้าน นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ย ในฐานะองค์กรด้านเทคโนโลยีที่อยู่กับประเทศไทยมานานกว่า 21 ปี ได้มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยที่ค่อนข้างได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยี คลาวด์ เอไอ และ 5G มาประยุกต์ใช้เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล เราจึงต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล (Digital Hub) ของอาเซียน

ทั้งนี้ เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง ทางหัวเว่ยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้เกิดความเป็นเลิศใน 4 ด้านหลัก และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจดิจดิทัลมีสัดส่วนใน GDP ของประเทศไทยมากถึง 30% ภายใน พ.ศ.2573 อันได้แก่

- Connectivity Excellence Hub การผลักดันเทคโนโลยีโครงข่าย 5G และเครือข่ายอัลตราบรอดแบนด์เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านโครงข่ายการเชื่อมต่อ

- Data Center Excellence Hub สรรค์สร้างความเป็นเลิศด้านคลาวด์ และแพลตฟอร์มดิดิทัลผ่านการสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยเพื่อให้บริการด้านคลาวด์ แก่องค์กรในประเทศไทยโดยเฉพาะ

- Digital Ecosystem Excellence Hub ผ่านโครงการ 5G และศูนย์นวัตกรรมในอีอีซี

- ICT Talent Excellence Hub ผ่านโครงการสนับสนุนทรัพยากรบุคคลด้าน ICT ในประเทศไทย เช่น โครงการ Huawei Academy หรือโครงการการจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย เพื่อเพิ่มบุคลากรด้าน ICT รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของแรงงานด้าน ICT ในประเทศไทย

สำหรับงานดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ลด์ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 4,500 คน จากองค์กรชั้นนำต่างๆ ของทุกอุตสาหกรรม รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ และแขกผู้มีเกียรติจากสถานทูตต่างๆ ภายในงานจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนไอเดียที่น่าสนใจกับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม สำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ไปพร้อมกับผู้นำในวงการธุรกิจ เรียนรู้มุมมองและเทรนด์ล่าสุดของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยี ICT รวมทั้งสัมผัสสุดยอดประสบการณ์ในการใช้งานแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น