เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อรองรับระบบสื่อสารต่างๆ และเทคโนโลยี 5G ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เสริมความเข้มแข็งการลงทุน ยกระดับภาคธุรกิจและความเป็นอยู่ประชาชนอย่างยั่งยืน
โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยนายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานที่ทีโอที แจ้งวัฒนะ
นายมรกต กล่าวว่า เอ็มโอยูที่ลงนามมี 2 เรื่องคือ การให้บริการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในอีอีซี และการพัฒนาสมาร์ทซิตีในพื้นที่บ้านฉาง ด้วยเทคโนโลยี 5G
'ทีโอทีมีเอ็มโอยูกับ 11 โอเปอเรเตอร์ในเรื่องความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านท่อร้อยสาย เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และด้านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง หรือไฟเบอร์ ออปติก การใช้บริการของทีโอทีจะช่วยให้โอเปอเรเตอร์ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ส่วนเรื่องสมาร์ทซิตี บ้านฉางที่ใช้เทคโนโลยี 5G คงใช้เวลาประมาณ 3 เดือน'
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล เพื่อรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดย สกพอ.ร่วมกับทีโอที เตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5G เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นๆ ในลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ
โดยการดำเนินงานในระยะแรก จะมุ่งด้านพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้านพัฒนาชุมชนโครงการเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทั้งนี้ ทีโอที มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน และในระยะต่อไปจะเดินหน้าการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยี 5G จะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซี
'หลังควบรวมทีโอทีกับ กสท โทรคมนาคม ทีโอทีมีคลื่น 26 GHz กสท โทรคมนาคมมีคลื่น 700 MHz สามารถให้บริการ 5G ที่มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพมาก' พุทธิพงษ์ กล่าว
เทคโนโลยี 5G เป็นนวัตกรรมสำคัญจะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งสามารถปรับใช้ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำ ด้านการเกษตรเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูง เก็บรักษาได้ยาวนาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งบริการ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ชุมชนครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างโอกาส ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาบริการ 5G ในพื้นที่อีอีซีอย่างเต็มที่ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดบริการและใช้งานได้จริงในเศรษฐกิจระดับมหภาค สอดคล้องกับบทบาทของกระทรวงดีอีเอส ในการสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าสู่ประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาค
'เอ็มโอยูกับทีโอทีครั้งนี้ ถ้าทำได้สำเร็จในพื้นที่อีอีซี ก็สามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นได้ทั่วประเทศ' นายคณิศ กล่าว