เอปสันโหนเทรนด์ศิลปะดิจิทัล ร่วมสนับสนุนงาน House of Illumination ยกขบวนเลเซอร์โปรเจกเตอร์ประสิทธิภาพสูงโชว์เทคนิคฉายภาพต่อกัน หรือ Projection Mapping กับผลงานศิลปะดิจิทัลสุดอลังการ มั่นใจโครงการนี้สร้างการรับรู้คู่กับการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ B2B ของบริษัท ย้ำตลาดเลเซอร์โปรเจกเตอร์ปีนี้โตจริงจัง สวนทางตลาดรวมที่หดตัว 25%
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจเอปสันปีนี้ว่าบริษัทจะผลักดันธุรกิจ B2B ของบริษัทให้มีสัดส่วนใหญ่ขึ้นจาก 25% เป็น 30% เป้าหมายนี้ทำให้เอปสันไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดโปรเจกเตอร์ไทยหดตัว 25% เนื่องจากการหดตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่ม B2C โดยตลาดรวม B2B โปรเจกเตอร์ไทยยังมีอัตราเติบโต 8%
“หากมองภาพรวมตลาดโปรเจกเตอร์ในปีที่ผ่านมา จะพบว่าตลาดมีการหดตัวค่อนข้างมาก แต่เกิดขึ้นในกลุ่มสินค้ารุ่นเล็ก ความสว่างไม่เกิน 4,000 ลูเมน ที่ใช้ตามบ้านหรือในร้านค้าขนาดเล็ก สวนทางกับตลาด B2B ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเอปสันที่ประกอบด้วยเอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันศึกษา หน่วยงานราชการ ออแกไนเซอร์ และธุรกิจบันเทิง ที่ต้องการใช้โปรเจกเตอร์ความสว่างปานกลางถึงสูงพิเศษ ความละเอียดระดับ Full HD มีรูปแบบการเชื่อมต่อที่หลากหลาย และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะด้าน” ยรรยง กล่าว
ส่วนปี 2563 แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 แต่ยรรยงเชื่อว่าตลาดโปรเจกเตอร์กลับไม่ได้หดตัวรุนแรงเหมือนที่มีการคาดการณ์ โดยเอปสันได้เริ่มออกสินค้าใหม่สู่ตลาดตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ทั้งยังมีแผนที่จะเปิดตัวเลเซอร์โปรเจกเตอร์รุ่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในช่วงสิ้นปีอีกด้วย
นับจากนี้ เอปสันมองว่าโมเมนตัมของตลาดโปรเจกเตอร์จะอยู่ที่กลุ่มเลเซอร์โปรเจกเตอร์ ปัจจุบันเทคโนโลยีโปรเจกเตอร์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แลมพ์โปรเจกเตอร์ และเลเซอร์โปรเจกเตอร์ แต่รายงานจากสำนักวิจัย Future Resource ระบุว่า ตลาดเลเซอร์โปรเจกเตอร์ไทยจะมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของตลาดโปรเจกเตอร์รวมในไม่ช้า
แนวโน้มนี้สอดคล้องกับตลาดโปรเจกเตอร์ทั่วโลกที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากการใช้หลอดภาพมาเป็นเครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า ให้ภาพฉายที่คมชัดและคุณภาพดีขึ้น ขณะที่ราคาก็เริ่มจับต้องได้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการซื้อเลเซอร์โปรเจกเตอร์ไปใช้ หรือนำไปทดแทนเครื่องรุ่นเดิมในธุรกิจของตนเอง โดยขณะนี้เอปสันมีสินค้าเลเซอร์โปรเจกเตอร์จำหน่ายในตลาดมากกว่า 20 รุ่นตั้งแต่ระดับความสว่าง 2,000 ไปจนถึง 30,000 ลูเมน ทำให้บริษัทวางเป้าหมายเจาะตลาด B2B เป็นหลัก โดยธุรกิจโปรเจกเตอร์ของบริษัทเติบโตได้ดีในปี 2019 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสินค้ากลุ่มโปกเจกเตอร์ไทยเป็น 44% จากที่มี 43%ในปี 2018 โดยสามารถแย่งชิงสัดส่วนตลาดทำให้เบอร์ 2 มีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 23% เหลือ 20% ครองแชมป์โปรเจกเตอร์ไทยได้อีกปี
เพื่อปูทางสู่อนาคตที่เอปสันจะเปิดตัวโปรเจกเตอร์รุ่นสว่างพิเศษสำหรับองค์กรธุรกิจ เอปสันจึงพยายามสร้างการรับรู้และสาธิตรูปแบบการใช้งานโปรเจกเตอร์ในองค์กรที่ต่างออกไป ที่ผ่านมา เอปสันมีการร่วมมือกับหน่วยงานราชการ สถาบันศึกษา ออแกไนเซอร์ ศิลปิน และเหล่าคอนเทนต์ดีเวลลอปเปอร์มากมาย ในการจัดงานอีเวนต์ระดับประเทศที่มีการนำเสนอคอนเทนต์ดิจิทัลผ่านเทคนิค Projection Mapping เช่น งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย นิทรรศการโพธิเธียร์เตอร์ ณ เทศกาลบางกอกแหวกแนว งานเชียงใหม่ Design Week เป็นต้น
ล่าสุด เอปสันกำลังเดินตามเทรนด์ศิลปะดิจิทัลผ่านงาน House of Illumination ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของเอปสันประเทศไทยและอินเด็กซ์ครีเอทีฟวิลเลจ ดีกรีของโครงการคือ ความเป็นพื้นที่แสดงดิจิทัลอาร์ทขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยศูนย์แสดงแสงสีนี้จะเปลี่ยนเนื้อหาทุก 3 เดือนตามเทศกาล
“3 เหตุผลที่เอปสันมองว่าเทรนด์ศิลปะดิจิทัลจะมาแรง คือ 1.สินค้ากลุ่มโปรเจกเตอร์จะไม่ได้อยู่แค่ในห้องประชุมอีกต่อไป แต่จะสามารถออกมาสู่พื้นที่นอกอาคารและฉายภาพบนหลายพื้นผิวได้ไม่จำกัด 2.ดิจิทัลอาร์ทกำลังเป็นเทรนด์เพราะศิลปินสามารถสร้างสรรค์ได้แบบไม่จำกัด ไม่ต้องยึดติดอยู่กับการสร้างผลงานบนกระดาษ แต่สามารถแสดงจินตนาการได้ทุกที่ และ 3.เทคโนโลยีที่พร้อม การเชื่อมต่อโปรเจกเตอร์หลายตัวเข้าด้วยกันที่สามารถทำได้แบบ 360 องศา การไม่มีข้อจำกัดนี้ทำให้ดิจิทัลอาร์ทได้รับความสนใจมากขึ้น”
ยรรยง เผยว่า โครงการนี้เริ่มต้นประสานงานตั้งแต่ยุคก่อนโควิด-19 แต่เมื่อโควิด-19 เกิดขึ้นแล้วจึงเน้นโฟกัสที่กลุ่มคนไทยแทนที่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เชื่อว่าผู้ชมจะสามารถรับอรรถรสในการชมศิลปะดิจิทัลได้ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก ภายในมีการใช้โปรเจกเตอร์เอปสัน จำนวน 18 เครื่องขนาดใหญ่ถึงกลาง โดยจุดประสงค์ของการร่วมมือนี้ในมุมของเอปสันคือการสร้างการรับรู้และการรุกตลาดเพื่อเป็นโชว์เคสให้ศิลปิน ผ่านการแสดงศักยภาพของตลาดโปรเจกเตอร์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องประชุม ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการสร้างงานศิลปะ และยังสร้างแหล่งท่องเที่ยวในไทย คาดว่าจะสามารถดึงคนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้ไม่น้อย
ปัจจุบัน เอปสันมีรายได้จากธุรกิจโปรเจกเตอร์ราว 18-19% นอกจากประเทศไทยเอปสันมีความร่วมมือลักษณะนี้เพื่อเสริมตลาดศิลปะดิจิทัลที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการใช้โปรเจกเตอร์มากกว่า 470 เครื่องเพื่อทำงานร่วมกันบนเทคโนโลยี Projection Mapping เบื้องต้น เอปสันยังไม่มีแผนในการขยายความร่วมมือสู่พื้นที่อื่นในไทย และบริษัทจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือนี้ต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่กำหนดไว้สำหรับโครงการที่เป็นผลงานคอนเทนต์ดิจิทัลของบริษัทคนไทย 100%
งาน House Of Illumination จะจัดขึ้นตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไปที่ชั้น 8 เซ็นทรัลแกลอรี่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราคาบัตรเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 350 บาท บัตรนักเรียนและนักศึกษาราคา 300 บาท และบัตรเด็ก (สูงไม่เกิน 130 ซม.) ราคา 250 บาท ซื้อบัตรได้ที่หน้างาน หรือทางออนไลน์ได้ที่ www.houseofillumination.com