หลังเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth และเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อาจจะสั่งปิดเพจทั้ง 2 เพจ ทำให้ต้องเปลี่ยนแหล่งชุมนุมมาเป็นแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) แทนแบบเร่งด่วน คำถามคือ Telegram มีความปลอดภัยมากกว่าจริงหรือ เพราะที่ผ่านมา Telegram ตกเป็นข่าวว่าถูกลบโพสต์และเชนแนลมากมายตลอดเวลา
ที่ผ่านมา Telegram เป็นข่าวดังหลายครั้งในฐานะแอปพลิเคชันที่ถูกตรวจพบว่ากลุ่มก่อการร้าย Islamic State หรือไอเอสใช้เป็นเครื่องมือหลักในการส่งต่อแผนและแนวทางการก่อวินาศกรรม เหตุผลสำคัญคือเทคโนโลยีเข้ารหัสเหนือชั้นในแอปพลิเคชันที่ทำให้ความลับของการสนทนาไม่รั่วไหล แต่ Telegram ก็หนีไม่พ้นปีกของกฎหมาย และต้องประกาศปิดช่อง 78 เชนแนลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย ISIS มากกว่า 12 ภาษาตลอดช่วงสัปดาห์ปลายปี 2015
ล่าสุด มีข่าวว่าแอปเปิล (Apple) ปฏิเสธข่าวว่าบริษัทขอให้ Telegram บล็อกช่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านตำรวจปราบจลาจลในเบลารุส โดยบอกว่าบริษัทต้องการให้ Telegram ลบเฉพาะบางโพสต์ เนื่องจากเข้าข่ายการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง แน่นอนว่าผู้ก่อตั้ง Telegram อย่าง Pavel Durov กล่าวว่า เขาไม่ต้องการแตะต้องเชนแนลใด แต่ก็จำใจลบเพราะแอปเปิลไม่ให้ทางเลือกอื่นเลย โดยชี้ช่องว่า เชนแนลจะถูกบล็อกบน iOS เท่านั้น และยังคงใช้งานได้บนแพลตฟอร์มอื่นๆ
รู้จัก Telegram
Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2013 ชื่อเสียงเรื่องการเป็นหนึ่งในหลายแอปพลิเคชันที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารโดยที่ไม่มีใครรู้ ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมสูงจนมียอดรับส่งข้อความมากกว่า 1.2 หมื่นล้านข้อความต่อวันหลังจากเปิดให้บริการเพียง 2 ปี สถิตินี้ทำให้ผู้ก่อตั้งนาม Pavel Durov ภูมิใจมาก โดยระบุว่า ยอดการรับส่งข้อความบนแอปพลิเคชันนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านครั้งในเวลา 3 เดือน
เหตุที่ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมถล่มทลายคือ ความสามารถในการอัปโหลดไฟล์ แชร์วิดีโอ ข้อความ หรือเสียงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ความสามารถนี้ทำให้ Telegram กลายเป็นแหล่งรับสมัครสมาชิกจนส่งให้กองกำลังลับมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การก่อการร้ายในหลายพื้นที่ โดย Telegram นี้เองที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ประกาศความสำเร็จของกลุ่มในปฏิบัติการช็อกโลกโจมตีปารีสจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายเมื่อปี 2015
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ใช้ Telegram ขยายตัวก้าวกระโดดถูกมองว่าอยู่ที่การอุดช่องโหว่ที่มีในบริการแชตยอดฮิตอื่น รวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติที่เน้นการรับส่งข้อความสุดปลอดภัย เช่น ระบบแชตที่ต้องรอให้อีกฝ่ายออนไลน์ก่อนจึงจะเริ่มต้นพิมพ์สนทนากันได้ ผู้ใช้สามารถตั้งเวลาทำลายข้อความที่พิมพ์ไป ข้อความจะถูกเข้ารหัสตลอดการใช้งานตั้งแต่เครื่องผู้ส่งไปยังเครื่องผู้รับ ปลอดภัยต่อการดักข้อมูลกลางทาง Telegram ยังมีคุณสมบัติชื่อ Channels ฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้กระจายข้อความไปสู่ผู้ใช้จำนวนมากในครั้งเดียว ระบบ Channels นี้เองที่ทำให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถสื่อสารและชวนเชื่อกันได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย โดยเจ้าของ Channels สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกใน Channels ของตัวเองได้ไม่จำกัด ขณะเดียวกัน ก็สามารถเชิญชวนผู้อื่นให้เข้ามาใน Channels ด้วย URL ที่สร้างขึ้นเอง ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์ iOS และ Android
ตลอดหลายปีที่ให้บริการ Telegram ยังไม่เคยประกาศรับเงินทุนจากกลุ่มใด บริษัทยืนหยัดอยู่บนเงินที่ Durov ได้รับจากการขายหุ้นเครือข่ายสังคมรัสเซีย Vkontakte จุดนี้เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดเม็ดเงินที่ได้รับ แต่คาดกันว่ามูลค่าเงินนั้นสูงหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนหน้านี้ Durov ระบุว่าบริษัทยังมีเงินเพียงพอที่จะดำเนินการด้วยตัวเองต่อไปได้ระยะหนึ่ง ทำให้ Telegram จะยังเป็นบริการอิสระที่ไม่ขึ้นกับใคร
ผิดกฎก็ต้องลบ
สำหรับกรณีของเบรารุส Telegram ถูกมองเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายค้านใช้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้อยู่เบื้องหลังเชนแนลที่เกี่ยวกับเบรารุสเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ตำรวจปราบจลาจลใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันคนให้แก่สมาชิกมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แอปเปิลออกแถลงการณ์ว่าได้รับคำขอจากผู้ใช้ว่ารายละเอียดส่วนตัวเช่นชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลอื่นถูกโพสต์ในเชนแนล Telegram หลายช่อง ดังนั้น แอปเปิลจึงไม่ได้ขอให้ Telegram บล็อกเชนแนล แต่ต้องการให้ลบโพสต์ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ตามกฎของ App Store เบื้องต้น Telegram ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว โดยที่แอปเปิลย้ำว่าบริษัทกำหนดให้แอปทั้งหมดปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์มในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาของผู้ใช้
บทสรุปของเรื่องทั้งหมดคือ หากข้อมูลใดที่โพสต์บน Telegram เกิดผิดกฎของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ผู้ให้บริการจึงจะต้องดำเนินการลบโพสต์ออกแบบไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่เช่นนั้นแอปพลิเคชันจะถูกบล็อกบนแพลตฟอร์ม แต่การที่จะบีบให้โอเปอเรเตอร์หรือหน่วยงานอื่นสั่งบล็อก Telegram ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชนิดไม่ต้องขอหมายศาลยังเกิดขึ้นได้ยากมาก ส่วนหนึ่งเพราะบรรทัดฐานความเสรีเรื่องการสื่อสารบนโซเชียลที่ยังค้ำคอทุกหน่วยงาน
ดังนั้น เราคงต้องรอเวลาให้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า Telegram จะปลอดภัยและปิดยากกว่าเพจ Facebook หรือเปล่า