ทีโอที กางศักยภาพชูความแข็งแกร่งผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศพร้อมเป็นเน็ตเวิร์กแชริ่งทั้งโครงข่าย 5G และโครงการท่อร้อยสาย เตรียมยกระดับทีโอที โอเอส ด้วยการเสริมทัพทีมบอร์ดตั้ง 'จันทนา เตชะศิรินุกูล' รอง กจญ.คุม คาดนั่งแท่นประธานบอร์ดวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ
'ตอนนี้ผมบอกได้เลยว่า ไม่ต้องมีคำถามหรือลังเลแล้วว่าทีโอที กับ กสท โทรคมนาคมจะควบรวมได้ไหม ผมบอกเลยว่าสำเร็จแน่นอน ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน' มรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวทีในงานซีอีโอพบพนักงานหัวข้อ 'TOT 2020 UP' เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายแผนการควบรวมกิจการของทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ออกไปอีก 6 เดือนจากกำหนดการเดิมในเดือน ก.ค.2563 ให้สามารถจดทะเบียนบริษัทให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ม.ค.2564
***ปั้น 'ทีโอที โอเอส' มือทองรับงานใหญ่
สิ่งที่พนักงานกังวลประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือสถานภาพของ บริษัท ทีโอที เอาต์ซอร์สซิ่ง เซอร์วิส จำกัด หรือทีโอที โอเอส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทีโอทีแต่ดำเนินธุรกิจแบบเอกชนเต็มตัวกับจำนวนพนักงาน 5,800 คนของทีโอที โอเอสจะเป็นอย่างไร
ต่อเรื่องนี้ 'มรกต' ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า ทีโอที โอเอส จะกลายเป็นกำลังสำคัญของทีโอทีในการรับงานต่างๆ ของทีโอที ซึ่งทีโอทีต้องมีการปรับบทบาทและหน้าที่ในการทำงานของทีโอที โอเอส ให้มีศักยภาพพร้อมทำงานในฐานะบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งที่จะมีความแข็งแกร่งทั้งรายได้ และบุคลากร ที่สำคัญคือบุคลากรต้องมีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ มีเป้าหมายในการเติบโตในการทำงานของตนเองอย่างชัดเจน
'ทีโอที โอเอส มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทในปี 2556 นับเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวโดยบริษัทนี้มีพนักงานถือหุ้นข้างมาก ส่วนทีโอทีถือหุ้น 25% (แต่เป็น golden share) ซึ่งแม้ว่าผู้ถือหุ้นข้างมากคือพนักงาน แต่พนักงานมีสิทธิได้เงินปันผลไม่เกิน 5% ขณะที่บริษัทแม่ได้ผลประโยชน์เต็มๆ พร้อมทั้งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการทำงานจึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่ทีโอที จะไม่ให้ความสำคัญกับบริษัทนี้'
'มรกต' ให้คำมั่นว่าภายในกลางปีหน้า ทีโอที โอเอส จะมีศักยภาพเป็นบริษัทเอกชนที่พร้อมรับงานทั้งของทีโอที เอ็นที และบริษัทอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและทำให้เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการและเลือกประธานบอร์ดทีโอที โอเอส ชุดใหม่ ด้วยการส่ง 'จันทนา เตชะศิรินุกูล' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจคลาวด์และดิจิทัลให้นั่งเป็นกรรมการบริษัทควบอีกตำแหน่งด้วย และคาดว่าเธอจะเป็นตัวเก็งสำคัญที่ได้รับโหวตให้เป็นประธานคณะกรรมการ
โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายการทำงานรวมถึงแผนการทำงานต่างๆ ให้ชัดเจนที่สำคัญคือ การเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการรับงานของทีโอที รวมถึงการกำหนดความก้าวหน้าในสายงานอาชีพด้วยเพื่อให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในการทำงานแม้จะไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานทีโอทีก็ตาม
***เดินหน้า 'เน็ตเวิร์ก แชริ่ง'
ทั้งนี้ เนื่องจาก ทีโอที มีเป้าหมายสำคัญในการทำโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการท่อร้อยสายระดับประเทศ ซึ่งครม.มีมติให้ทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กำหนดนโยบาย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมกว่า 10 ราย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้บริการของทีโอทีเพราะไม่ต้องการลงทุนซ้ำซ้อน
โดยในปีนี้ทีโอทีมีเป้าหมายทำท่อร้อยสายใต้ดิน 127 เส้นทางในพื้นที่ กทม.และในปีหน้าอีก 76 เส้นทางในพื้นที่ กทม. ทำให้ทีโอทีมีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานครอบคลุมทั้ง กทม.ระยะทาง 2,500 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีอีก 7 เส้นทางที่เป็นความร่วมมือกับกองทัพเรือ การทำโครงการท่อร้อยสายกับ 4 เมืองใหญ่ คือ นครราชสีมา พัทยา เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ในโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าและอีก 5 เมืองสำคัญคือ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ลำพูน และลำปาง ในโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์
นอกจากนี้ ในเรื่องของการให้บริการด้านลาสไมล์ หรือส่วนสุดท้ายที่กระจายถึงผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) รายใหญ่ในประเทศซึ่งล้วนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างก็เห็นความสำคัญในการลดต้นทุนด้วยการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยไว้ใจให้ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างลงทุนจนเกินความจำเป็นของตลาด ต่างก็หันมาใช้บริการของทีโอที ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ซึ่งมีผลต่อการสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นได้
ในลักษณะเดียวกันนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที (โอเปอเรเตอร์) ที่ประมูลคลื่น 5G ได้ ก็ยังสนใจเรื่องการใช้สถานีฐานของทีโอทีในการติดตั้งเซลไซต์ 5G ร่วมกันด้วย เพื่อลดต้นทุนและลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพราะการลงทุน 5G ไม่จำเป็นต้องวางระบบทั้งประเทศ แต่สามารถลงทุนเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน
'ทีโอทีเองก็มีคลื่น 26 GHz หากรวมกับ กสท โทรคมนาคม ที่มีคลื่น 700 MHz จะยิ่งทำให้ศักยภาพในการให้บริการของเอ็นทีเพิ่มขึ้น เพราะเราจะเน้นการให้บริการภาครัฐ ไม่เน้นแข่งกับเอกชน ไม่ใช่ว่าเราสู้ไม่ได้แต่ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจก็มีกระบวนการทำงานที่ช้ากว่าเอกชน และการตัดสินใจที่ล่าช้าจะเสียเปรียบเอกชน' มรกต ฉายภาพงานโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่ล้วนต้องใช้บุคลากรจากทีโอที โอเอสทั้งสิ้น
***หวังผลประกอบการพลิกกลับมีกำไร
สำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างองค์กร 'มรกต' กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับโครงสร้างลดลงเหลือ 10 หน่วยธุรกิจจากเดิม 14 หน่วยธุรกิจ ทำให้มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 10 คน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ 25 คน และฝ่ายธุรกิจ 74 คน โดยจะประกาศใช้โครงสร้างใหม่นี้ภายในวันที่ 1 ต.ค.2563
ส่วนผลประกอบการทีโอที เขายอมรับว่า ครึ่งปีแรกขาดทุนจากสถานการณ์โควิด-19 และรายได้บรอดแบนด์ลดลง แต่หากทีโอทีเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ ทีโอทีก็จะกลับมามีกำไรได้ไม่ยาก โดยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 26,260 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 10,159 ล้านบาทและรายได้จากพันธมิตร 16,101 ล้านบาท EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย) 3,170 ล้านบาท ทำให้ขาดทุน 1,943 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากการปรับมาตรฐานทางการบัญชีใหม่ด้วย
แต่คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะกลับมามีกำไร โดยตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 53,568 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 21,211 ล้านบาท และรายได้จากพันธมิตร 32,347 ล้านบาท EBITDA 8,597 ล้านบาท และมีกำไร 1,025 ล้านบาท
'ทีโอที ยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก เพราะเป้าหมายของทีโอทีคือผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ'