ดีลอยท์ เห็นความสำคัญตลาดดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันในไทย เดินหน้าทำแบบสำรวจความพร้อมองค์กรธุรกิจไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลพบองค์กรส่วนใหญ่เผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ พบอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ธนาคาร เป็นผู้นำในการทรานฟอร์ม
นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจตลาดของการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันในประเทศไทย จะมีก็เพียงการทำสำรวจในระดับโลก หรือภูมิภาคเท่านั้น ทำให้ดีลอยท์ซึ่งเห็นถึงความสำคัญของการทรานฟอร์มนี้จึงได้เริ่มการทำแบบสำรวจนี้ขึ้น
ดีลอยท์ ได้ใช้ช่วงเวลาปลายปีที่ผ่านมาในการสำรวจผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศ จำนวน 91 ราย เพื่อให้เข้าถึงข้อมูล แนวคิด และแผนการลงทุนทางด้านดิจิทัลขององค์กร เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
แม้ว่าผลสำรวจนี้จะเกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่กลายเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจเกิดการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน แต่ดีลอยท์เชื่อว่า ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่จะสามารถนำปัจจัยดังกล่าวมาเป็นตัวช่วยเร่งได้ ทำให้ผลสำรวจในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมการทำทรานฟอร์เมชันในไทยได้
'หลังจากนี้ ดีลอยท์มีแผนที่จะสำรวจอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมากระตุ้นให้แผนการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันของแต่ละองค์กรมีการเปลี่ยนแปลง หรือดำเนินการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าได้ข้อมูลชุดใหม่มาผสมผสานเข้าไปจะช่วยให้องค์กรได้รับรู้ว่าความพร้อมขององค์กรเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดเป็นอย่างไร'
ทั้งนี้ จาก 91 บริษัทที่ร่วมทำแบบสำรวจ มีสัดส่วนครอบคลุมในธุรกิจพลังงาน และอุตสาหกรรมการผลิตราว 30% ตามด้วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคอนซูเมอร์ 27% การเงิน การธนาคาร หลักทรัพย์ 25% ตามด้วยธุรกิจเทคโนโลยี 13% และสุขภาพ 4%
โดยจากแบบสำรวจ พบว่า องค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน ส่วนใหญ่คาดหวังเพื่อนำมาพัฒนาบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตามด้วยการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และบริการ
ขณะเดียวกัน 52% ของธุรกิจ ระบุว่า ได้รับผลกระทบที่เกิดจากดิจิทัล ดิสรัปชัน โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และธนาคารที่ได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ซึ่งพบว่าผลกระทบดังกล่าวล่าช้าจากในต่างประเทศประมาณ 4 ปี
'เชื่อว่าจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ความล่าช้าที่องค์กรได้รับผลกระทบจากดิจิทัลนั้นเร่งเข้ามาเร็วขึ้น โดยเฉพาะในบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทำให้องค์กรต้องมีการปรับตัวนำดิจิทัลมาใช้ และเร่งให้เกิดการลงทุนดิจิทัลด้วย'
ผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่า ตัวแปรสำคัญในการทำให้องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันได้นั้นมาจากการลงทุนด้านคลาวด์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจนำข้อมูลกลับมาโฟกัสเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคได้
ขณะที่ปัจจุบันองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหน้าเว็บไซต์ และโมบายแอปพลิเคชันเป็นหลัก ส่วนการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้งานยังถูกจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเริ่มเห็นการลงทุนในหุ่นยนต์ IoT มากขึ้น ตามด้วย AI AR/VR และบล็อกเชน
ผู้บริหารดีลอยท์ มองว่า การพัฒนาทักษะดิจิทัลกลายเป็นสิ่งแรกที่องค์กรต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน เนื่องจากปัจจุบันการที่บุคลากรขาดทักษะดิจิทัล กลายเป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งยังไม่สามารถเดินหน้าทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชันได้
'SMEs เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบ และมีข้อจำกัดในการทรานฟอร์ม ผลสำรวจนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐในการสนับสนุนธุรกิจให้อยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาของบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล'