สนามบิน ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการสร้างความประทับใจให้ทั้งแก่นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะกลายเป็นหน้าด่านในการต้อนรับนักลงทุนต่างๆ และที่ผ่านมา ก็เริ่มมีการนำแนวคิดอย่างการพัฒนาสนามบินอัจฉริยะ หรือสมาร์ทแอร์พอร์ต เพื่อยกระดับการบริการให้ดีขึ้น
โดยเฉพาะในยุคของ 5G ที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกการนำโซลูชันต่างๆ มาใช้งานภายในสนามบิน ทั้งเรื่องของความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการใช้บริการแก่ผู้ใช้ จนถึงการพัฒนาต่อยอดไปยังการบริหารจัดการส่วนต่างๆ ภายในสนามบิน
การที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในพื้นที่หลักที่ผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5G ต้องเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการ
จนทำให้อู่ตะเภากลายเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการ 5G ครอบคลุมทั้งภายใน และภาคนอกอาคาร เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแล้ว จึงถึงเวลาที่ AIS ที่แต่เดิมเป็นพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาให้บริการและบริหารอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในปี 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงการลงนามความร่วมมือครั้งล่าสุดในการนำ 5G Digital Infrastructure เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการภายในสนามบิน จนถึงการอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์แก่ผู้ที่เข้ามาใช้งานในท่าอากาศยาน
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เล่าให้ฟังถึงความร่วมมือในการพัฒนาสมาร์ทแอร์พอร์ตในครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากงานแสดงวิสัยทัศน์ 5G ฟื้นฟูประเทศไทยของ AIS โดยที่ผ่านมา AIS ได้เข้าไปลงทุนทั้งการประมูลคลื่นความถี่ จนทำให้ปัจจุบันถือครองคลื่นความถี่ 5G มากที่สุดในประเทศไทย
พร้อมกับประกาศลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งาน ให้เกิดการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันครั้งใหญ่ ซึ่งทุกภาคส่วนควรใช้โอกาสที่ไทยซึ่งกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่เปิดให้บริการ 5G นำมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19
'ถึงตอนนี้จะเห็นกันว่า 4G ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ผ่านการเกิดดิจิทัล ดิสรัปชัน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคของ 5G นั้นถือว่ารุนแรงกว่ามาก ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้อมในการศึกษาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้สามารถพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมออกมาได้'
การมีเครือข่าย 5G ที่ให้บริการครอบคลุมทั้งภายใน และภายนอกอาคาร จะกลายเป็นรูปแบบที่สำคัญของการเชื่อมต่อที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานแอปพลิเคชันระดับสูงให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง บนเทคโนโลยีการเชื่อมต่อความเร็วสูง ความหน่วงต่ำจึงทำให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือกับทางการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในการสร้างบทใหม่ของพันธมิตรทางธุรกิจที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน และนำมาทดลองใช้งานเพื่อให้อู่ตะเภานำไปใช้
'สิ่งสำคัญในการพัฒนาโซลูชัน 5G คือการนำแนวคิด Co-Creation หรือร่วมกันพัฒนามาใช้งาน ทำให้สามารถประเมินได้ว่า เทคโนโลยีใดมีความเหมาะสมในการพัฒนา ด้วยการนำประสบการณ์ในการใช้งานจริงมาร่วมด้วย'
ก่อนหน้านี้ AIS ได้เข้ามาศึกษาการพัฒนาโซลูชันให้บริการภายในสมาร์ทแอร์พอร์ตของอู่ตะเภาแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดในแง่ของการใช้งานโครงข่ายพื้นฐานที่ใช้งานบรอดแบนด์เป็นหลัก แต่การมาของ 5G จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดหลายส่วน ทำให้สามารถนำเสนอโซลูชันที่ทันสมัย และใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่ AIS พัฒนาและเริ่มนำมาใช้งานแล้วภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หลักๆ แล้วจะครอบคลุม 4 ส่วน คือ 1.การพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า และวัตถุต่างๆ เพื่อความปลอดภัย ทำให้สามารถใช้ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย หรือการสกรีนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตในการเข้าใช้งานพื้นที่ต่างๆ เมื่อมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วย จะทำให้การส่งสัญญาณเพื่อนำไปวิเคราะห์ผลทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจจับบุคคลต้องสงสัย ทำให้สนามบินมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
2.การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน ในการให้ข้อมูลไฟลต์บิน ระบบเช็กอินล่วงหน้า การแจ้งเตือนให้ขึ้นเครื่อง รวมถึงการนำทางภายในสนามบิน ซึ่งสามารถนำ 5G มาช่วยในการให้ข้อมูลการเดินทางที่ละเอียด และแม่นยำมากยิ่งขึ้น จนถึงการแสดงแผนที่ในลักษณะของ AR ทำให้เห็นภาพ และเข้าใจพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน
3.การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภายในอาคารผู้โดยสาร ที่จะมีทั้ง 5G และ WiFi 6 ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่รองรับปริมาณดีไวซ์ที่เชื่อมต่อในระบบได้ปริมาณมหาศาล บนความเร็วในการเชื่อมต่อระดับสูง ทำให้เปิดโอกาสในการใช้งานแอปพลิเคชันอื่นๆ ต่อไป
4.การนำโซลูชัน 5G และ AI เข้ามาให้บริการ โดยทาง AIS มีการนำหุ่นยนต์ตรวจวัดไข้ อย่าง Robot for Care ที่ควบคุมผ่านเครือข่าย 5G เข้ามาทดลองให้บริการ ในการคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วย และยังสามารถใช้เป็นจุดสอบถามข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบวิดีโอคอลล์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในสนามบินยังมีการนำกล้องวงจรปิดที่สามารถตรวจจับความร้อนมาใช้งาน ทำให้สามารถนำข้อมูลการใช้งานพื้นที่ต่างๆ ในสนามบินมาวิเคราะห์ เพื่อให้ทางอู่ตะเภาปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ที่มาใช้บริการต่อไป
***ร่วมมือเพื่อต่อยอดในอนาคต
ขณะเดียวกัน ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสในการต่อยอดพัฒนาร่วมกัน ทั้งการศึกษารูปแบบในการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการสนามบินในภาพรวม อย่างการพัฒนาระบบเช็กอินแบบไร้สัมผัส ด้วยการนำระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้ามาใช้งาน การพัฒนา Kiosk ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย 5G ให้ทำงานร่วมกับโมบายแอปพลิเคชัน ไปจนถึงการบริหารจัดการพลังงานทั้งน้ำ ไฟฟ้า ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำโซลูชัน IoT มาผสมผสานในการใช้งาน อย่างเทคโนโลยี Smart Pole ที่ใช้เก็บข้อมูลสภาพอากาศ และ Water Monitoring ไว้ตรวจสอบสภาพน้ำรอบๆ สนามบิน ทำให้สามารถวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวได้
นอกจากนี้ ยังมีโซลูชันอย่าง Intelligent Bin หรือถังขยะอัจฉริยะที่จะแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่มาเก็บเมื่อขยะเต็มถัง ช่วยลดปริมาณงานที่ไม่จำเป็นลง ต่อเนื่องไปยัง Smart Street Light ที่ใช้ระบบควบคุมไฟอัตโนมัติ มาใช้เพื่อควบคุมการเปิดปิดไฟในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต่อไปอีก 2 ปี ในครั้งนี้ เนื่องมาจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา ถือเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของไทย มีพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 3 ล้านคนในปัจจุบัน โดยจากสถิติในปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารเข้ามาใช้งานราว 2-2.3 ล้านคน ในขณะที่แผนการขยายสนามบินอู่ตะเภาระยะยาว 15 ปี ที่เพิ่งมีการประมูลโครงการจบไปนั้น จะทำให้อู่ตะเภารองรับปริมาณนักท่องเที่ยวสูงถึง 60 ล้านคน ดังนั้น จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญที่ต้องลงทุนในช่วงเวลานี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในครั้งนี้เป็นลักษณะของความร่วมมือ เงินลงทุนจึงมาจากทาง AIS ที่เข้ามาพัฒนาให้สนามบินอู่ตะเภากลายเป็นสมาร์ทแอร์พอร์ต ซึ่งโซลูชันต่างๆ ที่ทดสอบใช้งานก็สามารถนำไปต่อยอดใช้งานร่วมกับสนามบิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน