ฐากร แนะดัน WFH แทนท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งยังไม่เห็นวี่แววไปก่อน เสนอรัฐชูนักศึกษา-คนรุ่นใหม่สนับสนุนเงินจัดทำแพลตฟอร์มโอทีที 5G ของไทยเพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจ
สัปดาห์ก่อนมีโอกาสร่วมโต๊ะอาหาร 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' อดีตเลขาธิการ กสทช. ซึ่งวันนี้ถ้าจะเรียกว่าเป็นผู้ทำคลอด 5G แจ้งเกิดในประเทศไทยก่อนวิกฤตโควิด-19 ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปดก็คงไม่ผิดนัก ในขณะที่ประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ได้ดียืนหนึ่งในอันดับประเทศที่พลิกฟื้นจากโควิด-19 แต่สิ่งที่ “ฐากร” ดูเป็นกังวลมากยามนี้หนีไม่พ้นเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงการแพร่กระจายของโควิด-19 ทั่วโลก ความหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปิดสนิทเลิกนึกถึงไปได้แล้ว แต่ถ้ามองความได้เปรียบของเรื่อง 5G โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ก็ยังพอเห็นแสงสว่างรำไร ถึงแม้ไม่เจิดจ้าจนแสบตาแต่ก็ทำให้มีความหวังได้บ้าง
การพลิกฟื้นเศรษฐกิจหาเงินเข้าประเทศ โครงการหนึ่งที่ทำได้ทันที ชนิดที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนัก เสียแค่เวลามาประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มีกรรมการครอบคลุมทุกกระทรวงของประเทศ ก็คือ โครงการที่เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้าน (Work from Thailand to the Whole World) เพราะในขณะนี้ทั่วโลกต่างปรับเปลี่ยนแนวการทำงานเป็นระบบ Work from Home ซึ่งปรากฏว่าระบบนี้สามารถผลิตงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เทียบเท่ากับการทำงานในสำนักงาน เพราะนอกจากช่วยป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของสำนักงานและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานอีกด้วย
เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนคือการให้ความสะดวกในการออกเวิร์กเพอร์มิตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีเพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาสามารถเข้ามาอยู่ในระบบจัดเก็บรายได้ของไทยได้ ดังนั้น รัฐบาลควรจะสร้างแรงจูงใจสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่อยากเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีหนังสือรับรองจากบริษัทแม่ของตัวเองว่าถูกส่งมาทำงานในลักษณะ Work from Home ที่ประเทศไทย ซึ่งเมื่อเดินทางเข้าประเทศก็ต้องผ่านการกักตัว 14 วันตามเงื่อนไข เมื่อแน่ใจว่าปลอดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถไปใช้ชีวิตทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย อย่างน้อย 8 เดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย
'ประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี เห็นได้จากการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีโครงข่าย 5G ประเทศแรกในอาเซียนและเปิดให้บริการแล้ว มีค่าครองชีพต่ำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี'
ส่วนอีกโครงการที่ทำได้ทันที ถึงแม้จะไม่เห็นเม็ดเงินในช่วงแรก แต่เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา ที่แทนจะใช้เวลาในเวทีแฟลชม็อบต่างๆ หันกลับมาสนใจในสิ่งที่ตนเองถนัดและสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต อย่างเรื่อง OTT 5G (Over The Top หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) เพราะที่ผ่านมา บริการ OTT ชื่อดังหรือเป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นยูทูป เฟซบุ๊ก ลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์ และแกร็บ พวกนี้เป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศทั้งสิ้น
หากคนในประเทศไทยไปใช้บริการแพลตฟอร์มพวกนี้หมด เงินตราในประเทศก็จะไหลออกนอกประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะแพลตฟอร์มที่ไทยมีอยู่เช่น วงใน ยังใช้เฉพาะในระดับประเทศ ไม่ได้ขยายสู่ระดับโลก
วิธีการคือให้เงินสนับสนุนสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษารวมกลุ่มกันทำโครงการ
สร้างแพลตฟอร์มสำหรับ OTT 5G ขึ้นมา เพราะนักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีการใช้งาน OTT สูงมากกลุ่มหนึ่งในประเทศ โดยเงินที่สนับสนุนซึ่งมีอยู่แล้ว จะมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 500 ล้านบาท และเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) 500 ล้านบาท
“ฐากร” ย้ำว่า เอาแค่ 2 เรื่องนี้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไดัทันทีภายใต้อำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ซึ่งโครงการ Work from Home ก็จะได้เงินเข้าประเทศในเวลาอันรวดเร็ว ส่วน OTT 5G ก็จะทำให้นักศึกษาหันไปใช้เวลาที่สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Smart Hospital, Smart Industry และโครงการท่อร้อยสาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรองบประมาณก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบก็ได้
“ฐากร” จบการสนทนาวันนั้นด้วยการย้ำว่า Work from Home ควรรีบทำเพราะไม่ต้องลงทุนอะไร และประเทศจะได้รับผลประโยชน์ทันที