เพื่อต้อนรับการฟื้นตัวให้พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และเพิ่มเสถียรภาพในการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารของธุรกิจให้ไม่สะดุด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ตอกย้ำความเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทุกธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี SD-WAN เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ให้เติบโตอย่างมั่นคง
นิศาชล แก้วเรือง ผู้จัดการส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์สื่อสารข้อมูล กล่าวในหัวข้อ How SD-WAN will make your business success ที่งาน Vertical Business 2020 ที่จัดขึ้นให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ เช่น กลุ่มบริการด้านสุขภาพ กลุ่มบริการทางการเงิน และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ว่าปัจจุบันธุรกิจที่มีหลายสาขาต้องการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงความต้องการในการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น CAT จึงได้พัฒนาและต่อยอดบริการสำหรับธุรกิจที่มีหลายสาขา ด้วย SD-WAN (Software Defined Wide Area Network) เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระบบสื่อสารของธุรกิจสาขาที่กำลังมาแรงในขณะนี้
“หากย้อนกลับไปในปลายยุค 90 องค์กรธุรกิจเชื่อมต่อเครือข่ายไปยังต่างสาขาด้วยเทคโนโลยี Leased Line และ Frame Relay ซึ่งเป็นเครือข่ายส่วนตัวแบบ Private Network จนกระทั่งถึงช่วงปี 2000 มีการนำระบบ MPLS/IPVPN ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายส่วนตัวมาใช้ในการเชื่อมต่อทำให้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อถึงยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน แนวโน้มของการใช้งานเปลี่ยนไป แต่ละธุรกิจมีการใช้งาน Public Network เพื่อเข้าถึงโลก Internet ซึ่งใช้ Bandwidth ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องการเสถียรภาพในการใช้งาน ส่งผลให้ระบบ WAN มีความซ้ำซ้อนในการจัดการกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการทำงาน การติดตามเหตุขัดข้องของเครือข่าย การตรวจสอบคุณภาพเครือข่าย การจัดการทำ Link Load Balancing การกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยของเครือข่าย การใช้งานร่วมกันระหว่าง Private Network และ Public Network การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเครือข่าย ยิ่งส่งผลให้การเชื่อมโยงข้อมูลของธุรกิจที่มีหลายสาขามีความซับซ้อนมากขึ้น จนกระทั่งมีเทคโนโลยี SD-WAN ที่มาช่วยจัดการความซับซ้อนยุ่งยากให้การเชื่อมต่อเครือข่ายมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น”
การทำงานของ SD-WAN นั้น มีข้อดีที่สามารถตอบโจทย์ให้ธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดค่าการเชื่อมต่อเครือข่าย WAN เบื้องต้นจากศูนย์กลางได้โดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่าการทำ Zero Touch Provisioning ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่ายดายและรวดเร็ว โดยอุปกรณ์ SD-WAN จะดึงการตั้งค่าจาก Cloud ที่ถูกกำหนดค่าไว้ล่วงหน้ามาใช้งานโดยอัตโนมัติ ช่วยให้สำนักงานสาขาพร้อมเชื่อมต่อกับสำนักงานใหญ่ได้อย่างคล่องตัว และช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสาขาที่มีทรัพยากรบุคคลจำกัด
นอกจากนั้น ยังสามารถบริหารจัดการระบบเครือข่ายทั้งหมดได้จากศูนย์กลาง Centralized Management ทั้งติดตามการใช้งานระบบเครือข่ายในแต่ละสาขา กำหนดนโยบายการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ต้องการได้ ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย เช่น ธุรกิจยานยนต์หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการส่งภาพการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ให้เป็นความลับก็สามารถกำหนดให้ส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย MPLS เท่านั้น หรือบางองค์กรไม่อนุญาตให้พนักงานใช้บางแอปพลิเคชัน ก็สามารถกำหนดค่าดังกล่าวโดยส่วนกลางได้
SD-WAN ยังเป็นระบบเครือข่ายแบบ Multi WAN ที่สามารถเชื่อมต่อระบบ WAN ได้หลากหลาย ทั้ง MPLS, Internet Broadband และ 3G/4G LTE โดยใช้งานร่วมกันได้แบบ Active/Active ทำให้การใช้งาน Real Time Application เช่น Video Conference หรือ VoIP (Voice over IP) มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสามารถตอบโจทย์ธุรกิจโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มการให้บริการพบแพทย์ผ่านโทรศัพท์ Video Conference หรือการพบแพทย์ของผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ช่วยลดการเดินทาง และป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
นอกจากนี้ SD-WAN ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเครือข่ายในแต่ละสำนักงานสาขา ทำให้องค์กรสามารถวางแผนการใช้งานของระบบ WAN ในแต่ละสาขาได้อย่างเหมาะสมและมีเสถียรภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตอบโจทย์ด้านความมั่นคงปลอดภัยได้อีกด้วย