xs
xsm
sm
md
lg

'ก่อกิจ' วอนรัฐตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการขนส่งพัสดุหวังยืนบนกติกาเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ก่อกิจ' เผย ธุรกิจขนส่งไปรษณีย์ตัดราคาดุ เหตุไม่มีกติกาควบคุม ปล่อยต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาด วอนรัฐตั้งหน่วยงานกำกับและมีกฎหมายดูแลธุรกิจเหมือนกสทช.ที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ทุกคนเน้นการแข่งที่คุณภาพและบริการมากกว่าราคา พร้อมกางแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง เน้นเติมเต็มงานเพื่อสังคมและประชาชน ควบคู่กับการลดต้นทุนองค์กร

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า จากการทำงานใน ปณท กว่า 4 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันและการให้บริการประชาชนในภาวะที่ทุกคนต้องอยู่บ้านนั้น ปณท ในฐานะหน่วยงานของรัฐสามารถสนับสนุนนโนบายของรัฐได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเกษตรกรขนส่งผลไม้ในภาวะที่ไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ , การจัดส่งหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ตลอดจนการส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดการเดินทางมาโรงพยาบาลและการลดราคาส่งพัสดุด้วยการคิดราคา 19 บาท สำหรับพัสดุน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม จากเดิมที่คิดราคา 30 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ช่วงโควิด-19 ทำให้ยอดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น 60% โดยเฉพาะในช่วงเดือนเม.ย. 2563 มียอดการส่งผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทุเรียน มะม่วง เพราะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ ดังนั้น ปณท จึงได้เสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ โครงการสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าจัดส่ง จัดซื้อสินค้าจำหน่ายในแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มูลค่า 4,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงการค่าส่งพัสดุ 19 บาท และช่วยเกษตรกรในการนำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านตลาดกลางสินค้าออนไลน์ของปณท รวมถึงช่วยเรื่องขนส่งสินค้าให้เกษตรกรด้วย


นายก่อกิจ กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีแรกผลการดำเนินงานของปณท ยังมีกำไรอยู่ แต่เชื่อว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มเห็นหลังจากนี้ ขณะที่ ปณท เป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องทำงานสนับสนุนนโยบายของรัฐและช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งยังคงต้องทำงานให้มีกำไรและจ่ายโบนัสให้พนักงานให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น ทำให้การทำงานของ ปณท ลำบาก ไม่สามารถลดราคาแข่งกับเอกชนแบบยอมขาดทุนหรือ ทุ่มตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ เหมือนเอกชนได้

ดังนั้นรัฐบาลควรมีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เหมือนกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีกฎหมาย กติกา ในการกำกับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในการแข่งขันบนสนามเดียวกัน ทำให้การแข่งขันต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพและการให้บริการ ไม่ใช่การทุ่มตลาด และตัดราคากันอย่างทุกวันนี้ ที่จริงแล้วกระทรวงดีอีเอสเองก็มีคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ไทยอยู่แล้ว แต่การทำงานยังอยู่เพียงแค่การอนุมัติสแตมป์หรือกิจกรรมอื่นๆที่เป็นงานกิจการไปรษณีย์ หากมีการยกระดับขึ้นเป็นองค์กรกำกับดูแลและมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเอง ก็น่าจะสามารถดำเนินการได้

'ตอนนี้ธุรกิจจากประเทศจีนเข้า ออก ในประเทศไทย หลายแบรนด์ บางแบรนด์ขาดทุนถึง 6,000 ล้านบาท ถามว่าทำไมเขาถึงทำ เพราะเขาเงินหนา เขาต้องการเปิดตลาดในทุกประเทศเพื่อสร้างแบรนด์ ว่าเคยเปิดตลาดในอาเซียน ประเทศไหนมาบ้างแล้ว และเขาก็ออกไปประเทศอื่นๆ เวลาเขารายงานผลการดำเนินการไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศจีน ทำให้บริษัทมีโปรไฟล์ดี เพราะตลาดในจีนอิ่มตัวแล้ว เมื่อโปรไฟล์ดีเขาก็ขายบริษัทให้คนอื่นต่อ การเล่นเกมแบบนี้ เราควรมีการคุมให้อยู่ในกติกาเดียวกัน ไม่ใช่ให้ใครมาทุ่มตลาดก็ได้'


สำหรับการดำเนินโครงการในช่วงครึ่งปีหลัง ปณท จะดำเนินตามภารกิจ 'ดิจิทัล อีโคโนมี และ โซไซตี้' คือการใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ บริการทางสังคม ซึ่งตนเองนั้นเข้าใจดีว่าธุรกิจต้องมีการแข่งขัน และมีแผนธุรกิจเพื่อให้รายได้และกำไรไม่ลดลงไปมากกว่านี้ มีการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลเป็นแต้มต่อในการทำงาน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการให้บริการภาคสังคมเพื่อประชาชนในบางบริการที่เอกชนก็ไม่สามารถทำได้ก็เป็นหน้าที่ของ ปณท ด้วย

ล่าสุดได้หารือร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ในการดำเนินโครงการ TDH (Total Document Handling) เพื่อเป็นตัวกลางในการนำข้อมูลออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าประชาชนบางพื้นที่ บางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัล เมล์ หรือ อีเมล์ ในการรับข้อมูลข่าวสารได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอแผนเพื่อให้ดีจีเอรับทราบอีกครั้งหนึ่ง และอาจมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากต้องมีการทำงานเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆเพื่อให้มีมติในการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ปณท จะเน้นการทำงานเพื่อลดต้นทุน เป็นหลัก อาทิเช่น การทำโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ทดแทนการใช้ไฟฟ้า ด้วยการจับมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่างสัญญาในการหาผู้ให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์ที่เสนอราคาค่าบริการต่อเดือนถูกที่สุดมาให้บริการและใช้ภายใน ปณท , การบริหารจัดการรถขนส่งสินค้า ไม่ให้ว่าง เมื่อมีการขนส่งไปยังปลายทาง ขากลับต้องมีสินค้าขนส่งกลับมาด้วย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น