xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก “Gojek” พลังความสำเร็จของ GET

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ GET เริ่มเปิดให้บริการในไทยเริ่มจากการให้บริการแอปฯ เรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ปฏิบัติตามกฏหมาย ก่อนพัฒนามาเป็นบริการส่งอาหาร ต่อยอดสู่ธุรกิจเพย์เมนต์เข้ามาให้บริการแก่ผู้ใช้งานในประเทศไทย

เบื้องหลังความสำเร็จของ GET คือการนำเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นรายแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง Gojek (โกเจ็ก) ที่ทำธุรกิจบนความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยี จะนำมาซึ่งโซลูชันที่เข้าไปแก้ปัญหาที่ท้าทายในหลายประเทศ โดยปัจจุบันเติบโตขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัประดับเดคาคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญ

ขณะเดียวกัน Goejk ยังเป็นสตาร์ทอัปที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในโลกทั้ง Google, Facebook, PayPal, Visa, Tencent, JD.com รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้าไปร่วมลงทุนด้วย จะเห็นได้ว่านอกจากบริษัทเทคโนโลยีแล้ว ยังมีบริษัททางการเงินที่เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของ Gojek ด้วยเช่นเดียวกัน

ก่อนจะยิ่งใหญ่อย่างในปัจจุบัน รู้หรือไม่ ธุรกิจของ Gojek เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 จากการเป็น ศูนย์บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ โดยมีมอเตอร์ไซค์ให้บริการแค่ 20 คัน


เนื่องจากในกรุงจาการ์ต้า ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการจราจรแออัดติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยให้ผู้ใช้งานโทรเข้ามาที่คอลเซ็นเตอร์ เพื่อส่งมอเตอร์ไซค์ไปรับและส่งถึงที่หมาย และกลายเป็นที่มาของชื่อ Gojek ซึ่งมาจากคำว่า Go หรือไปในภาษาอังกฤษ รวมกับ Ojek ที่แปลว่ามอเตอร์ไซค์จากภาษาบาฮาซาในอินโดนีเซีย ก่อนจะต่อยอดสู่การนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการเปิดให้บริการแอปเรียกรถมอเตอร์ไซค์ในปี 2558

ก่อนขยายไปสู่บริการรับส่งพัสดุ และบริการซื้อสินค้า สำหรับผู้ใช้ในอินโดนีเซีย และเริ่มพัฒนามาจนกลายเป็น “ซูเปอร์แอป” ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการแบบวันสต็อปกว่า 20 ประเภท รวมถึงบริการส่งอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทยเวลานี้

ทำให้กลายเป็นแอปที่เชื่อมโยงผู้ใช้งาน เชื่อมต่อเข้ากับพาร์ทเนอร์คนขับที่ลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน และร้านค้าพาร์ทเนอร์อีกกว่า 5 แสนแห่ง ในกว่า 200 เมือง โดยมียอดดาวน์โหลดใช้งานไปแล้วมากกว่า 170 ล้านครั้ง ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดอินโดนีเซีย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากทำให้เป้าหมายของ Gojek ในช่วงเวลานี้คือการเพิ่มฐานลูกค้าในต่างประเทศให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับตลาดในอินโดนีเซียในสัดส่วนราว 50% ภายใต้กลยุทธ์อย่าง Hyper-Local Approach ในการปรับแนวทางการให้บริการให้สอดคล้องกับแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนไทย

ผู้บริหาร GET ที่เตรียมรีแบรนด์เป็น Gojek
เมื่อเห็นถึงเบื้องหลังแบรนด์ของ Gojek ที่มีความน่าสนใจ และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เป็นที่น่าจับตามองมากว่าหลังจาก GET รีแบรนด์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น Gojek ในประเทศไทยแล้ว จะมีแนวทางการทำตลาดที่เข้มข้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น