“พุทธิพงษ์” แจงของบประมาณฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 ล็อตแรก จำนวน 14,000 ล้านบาท 7 โครงการ และเตรียมเสนอเพิ่มอีก 3 โครงการ มูลค่า 1,600 ล้านบาท
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 กระทรวงดีอีเอสได้เสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชุดแรกจำนวน 7 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการฝึกอบรมสร้างทักษะด้านดิจิทัล มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาแนวทางการรีสกิล-อัปสกิล ให้กับนักศึกษาจบใหม่ในทุกสาขา ซึ่งมีแนวโน้มตกงานสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยการฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล อาทิ การเขียนโปรแกรม การทำกราฟิก และการทำแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะเรื่องดิจิทัลจะต้องแทรกซึมอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะสนับสนุน จำนวน 50,000 ราย ได้รับเงินสนับสนุนเป็นเวลา 3 เดือนๆ ละ 10,000 บาท
2.โครงการจัดทำข้อมูลประชาชนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 1,964 ล้านบาท โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลความเดือดร้อนประชาชนทั่วทั้งประเทศ โดยจะมีการตั้งงบประมาณให้สำนักงานสถิติจังหวัดว่าจ้างคนในพื้นที่ 100-200 คน กระจายทุกอำเภอและหมู่บ้าน ซึ่งอาจใช้เวลา 1 เดือน ในการฝึกอบรมและจัดทำคำถามที่ดีให้สามารถนำกลับมาเป็นข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
3.โครงการขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 มูลค่า 2,049 ล้านบาท โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้มีการขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีในชุมชนเมือง ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเน็ตประชารัฐจะทำเฉพาะพื้นที่ชายขอบ แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนต้องหันมาพึ่งพาออนไลน์ในการค้าขายหรือเรียนออนไลน์มากขึ้น จึงต้องเร่งขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีให้รวดเร็ว และทั่วถึง
4.โครงการสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าจัดส่ง จัดซื้อสินค้าจำหน่ายในแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยส่งเสริมให้ผู้คนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อ-ขายสินค้า โดยเฉพาะเกษตรกรในการนำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านตลาดกลางสินค้าออนไลน์ของไปรษณีย์และช่วยเรื่องขนส่งสินค้าให้เกษตรกร
5.โครงการพัฒนาคลาวด์แพลตฟอร์มเพื่อรองรับนิวนอร์มอล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่า 893 ล้านบาท โดย สดช. ร่วมกับ กสท โทรคมนาคม ในการพัฒนาคลาวด์ เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานและประชาชนหันมาใช้คลาวด์ของคนไทย ไม่ต้องพึ่งพาคลาวด์ของต่างประเทศ
6.โครงการยูนิฟาย คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม การทำแพลตฟอร์มด้านอี-มิทติ้ง มูลค่า 70 ล้านบาท โดย กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ของคนไทย ใช้คลาวด์ของไทยในการรองรับ เพื่อเป็นทางเลือกให้หน่วยงานราชการก่อน แทนการใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ และ 7.โครงการรวมพลังเด็กไทยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเหลือโครงการค้างอีก 3 โครงการ ของ สดช. มูลค่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะเสนอ สศช. เร็วๆ นี้ ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการในวันที่ 22 มิ.ย. 2563 จากนั้น วันที่ 30 มิ.ย. 2563 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ