หลังจากที่ฮิตมากในวัยรุ่นต่างประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา กสิกรไทยกลายเป็นธนาคารหลักรายแรกที่เปิดบริการหารบิลหรือที่ต่างชาติเรียกว่า “Split the bill” บนแพลตฟอร์ม LINE คาดโซเชียลแชตบ็อต “ขุนทอง” จะเป็นเหรัญญิกพันธุ์ใหม่ที่ช่วยจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ในผู้ใช้ 6 แสนคนปีนี้ วางเป้าขุนทองเพิ่มจำนวนธุรกรรม K Plus ไม่ต่ำกว่า 30% จับตาโอกาสแจ้งเกิดบน Facebook Messenger เหมือนตลาดสหรัฐฯ เบื้องต้นยังอุบเงียบเรื่องโมเดลธุรกิจทั้งการพันธมิตรกับร้านค้าโรงแรมและการต่อยอดรายได้ในยุคหลังโควิด-19
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิสซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) แสดงความมั่นใจในการเปิดตัวโซเชียลแชตบ็อต “ขุนทอง” ว่าหลังจากทดลองใช้งานภายในพนักงานกสิกรไทย 1,200 คนช่วง 5 เดือน ขุนทองสามารถช่วยตามบิลที่เพื่อนยังไม่ได้จ่ายอย่างสุภาพได้ครบ 90% ภายใน 1 วัน สามารถติดตามเงินได้รวม 135 ล้านบาท
“จากเฟสแรกของขุนทอง 1.0 คือหารบิล ต่อมาก็นำไปทดลองในแซนด์บ็อกซ์ ฐานผู้ใช้โตเร็วมาก แก้ปัญหาหารบิลและเก็บเงินที่ยุ่งยากได้จริงและปลอดภัย จนเป็นขุนทอง 2.0 จนมีผู้ใช้งานขุนทองใน LINE Group ทั้งหมด 30,000 คน และจำนวน LINE Friends อีก 9,000 คน ด้วยงบการตลาด 0 บาท”
ธนาคารจะต้องอยู่ในทุกที่
กระทิงย้ำถึงแนวคิดในการพัฒนาโซเชียลแชตบ็อตว่าเพราะในอนาคต ธนาคารจะต้องอยู่ในทุกที่ และธนาคารมีหน้าที่ต้องเสริมให้การปฏิสัมพันธ์ของคนทำได้ราบรื่น โดยเฉพาะในยุคนิวนอร์มัลที่ร้านค้าเปิดบริการจำนวนโต๊ะน้อยลง ลูกค้าต้องเข้าเร็วออกเร็ว การช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในเวลาที่น้อยลงอาจต้องใช้เทคโนโลยีช่วยให้ธุรกรรมนั้นมีอุปสรรคน้อยลง
“เราไม่ต้องนั่งหารบิลหรือทวงเงิน มีหน้าที่ไปกินก็พอ”
วรกฤษ เหล่าวิทวัส ผู้จัดการโครงการขุนทอง ระบุว่าโซเชียลแชทบอทนี้เปิดให้บริการฟรี เพียงแอด LINE ให้ระบบขุนทองคิดเงิน ผู้ใช้สามารถผูกบัญชีจ่ายเงิน และต้องจ่ายให้ครบถึงจบการทวง ระบบสามารถแก้ปัญหาการ “กินน้อยแต่หารเท่า” ด้วยการถ่ายภาพบิลแล้วเลือกว่าใครรับประทานอะไร แล้วคำนวณละเอียดในเวลารวดเร็ว
“ไม่ใช่แค่ทวงเงิน แต่ขุนทองยังเป็นศูย์รวมการบริจาค โอนเงินตรงหาแพทย์พยาบาลได้ แชร์ได้ เชื่อว่าจะสร้างความรวดเร็วและโปร่งใสในการแชร์ค่าใช้จ่ายได้” วรกฤษระบุ “ความปลอดภัยของขุนทองเป็นระดับเดียวกับบริการของธนาคาร ทุกทรานเซคชันไม่พบปัญหา มีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลแน่นหนา เพราะจะออกมาทำงานเมื่อมีคำสั่งเรียกใช้ โดยไม่ได้อ่านหรือเก็บข้อมูลนอกเหนือจากนี้”
ฟีเจอร์ของขุนทอง 2.0 จะเพิ่มเรื่องการจัดการหลายบิล วางเป้าหมายเจาะกลุ่มเพื่อนที่ออกทริปท่องเที่ยวทั้งยาวและสั้น ผู้ใช้สามารถเอาทุกบิลมารวมแล้วหารกันได้ สามารถเก็บเงินกลุ่ม เงินห้อง แชร์ค่าเน็ตฟลิกซ์ ทั้งหมดจะทยอยเปิดฟีเจอร์ใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 63 และภายในปีนี้จะได้ใช้ครบทั้งฟีเจอร์เก็บหลายบิล เงินกลุ่ม และเก็บเงินรายเดือน
“เราตั้งเป้า 5-6 แสนคนที่แอดไลน์ขุนทอง ที่มั่นใจเพราะตอบโจทย์คนที่เริ่มออกไปเที่ยวแล้วในช่วงหลังคลายล็อกดาวน์โควิด ยังมีฟีเจอร์อื่นที่จะทำให้ได้ 6 แสนคน”
ดันธุรกรรม K Plus โต
ผู้บริหารกสิกรไทยคาดหวังว่าขุนทองจะช่วยเพิ่มจำนวนธุรกรรมทางการเงินผ่านเคพลัส (K Plus) ปัจจุบันจำนวน 277 ล้านธุรกรรมต่อเดือน โดยเฉลี่ย 30 ครั้ง เป็นคนละ 40 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเติบโต 30%
แม้จะออกตัวว่าขุนทองเป็นบริการที่ไม่ได้มีแผนทำรายได้ และเน้นการเพิ่มให้ลูกค้ามาใช้แอปธนาคาร K Plus มากขึ้น แต่วรกฤษระบุว่าเป้าหมายของกสิกรไทยคือการเข้าไปที่ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ ทำให้บริษัทคาดหวังว่าจะร่วมกับพาร์ทเนอร์ แต่ยังเป็นความลับในขณะนี้
การจับมือกับพันธมิตรที่ยังเป็นความลับของขุนทองนี้น่าสนใจ เพราะในต่างประเทศ ฟีเจอร์หารบิลนั้นเป็นส่วนเพิ่มในแอปพลิเคชันจองร้านอาหารหรือโรงแรม และแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การชำระเงินแบบกลุ่มหรือกรุ้ปเพย์เมนต์ทำได้ง่าย จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณสมบัตินี้เริ่มแยกออกมาเป็นแชตบ็อตอัตโนมัติในบริการสนทนากลุ่ม ซึ่งในสหรัฐฯ มีการพัฒนาฟีเจอร์หารบิลนี้บน Facebook Messenger แล้วตั้งแต่ปี 2560
เหตุผลที่กสิกรไทยเลือกปักหลักขุนทองบน LINE ก่อน Facebook Messenger อาจเป็นเพราะธนาคารกสิกรไทยและ LINE ประเทศไทยเคยจับมือกันก่อตั้ง “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” ในช่วงปี 2561 เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กสิกรมีช่องทางต่อยอดบนผู้ใช้ LINE ที่มีกว่า 45 ล้านคนในไทยได้ก่อนใคร ส่งให้การปูทางในตลาดกรุ้ปเพย์เมนต์ไทยสดใส เชื่อว่าฐานผู้ใช้ 6 แสนรายไม่ยากเกินไปสำหรับ ”ขุนทอง”.