นวัตกรทรู “โกอินเตอร์” ดังไกลต่อเนื่อง แม้วิกฤตโควิด-19 คว้า 3 รางวัล จากเวทีระดับนานาชาติ “ARCHIMEDES-2020” รัสเซีย บทพิสูจน์องค์กรนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับชีวิตคนไทยสู่ยุคนิว นอร์มัล อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
กลุ่มทรู โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ (ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน พร้อมด้วยทีมงานนวัตกรจากทรู อินโนเวชั่น และทรู โรโบติกส์ ร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จ ในโอกาสที่กลุ่มทรู สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับระดับสากลอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คว้า 3 รางวัล ทั้งเหรียญทอง จากผลงาน HOMEY ROBOT หุ่นยนต์เสมือนเพื่อนสำหรับใช้งานภายในที่อยู่อาศัย เหรียญเงิน จากผลงาน SERVICE ROBOT หุ่นยนต์ช่วยบริการ และเหรียญทองแดง จากผลงานแพลตฟอร์ม “ช่วยเลี้ยง” เพื่อการปศุสัตว์ ในเวทีการประกวด “XXIII Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” (ARCHIMEDES-2020) งานแสดงผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก จัดขึ้น ณ สหพันธรัฐรัสเซีย โดยรัฐบาลฯ หอการค้าและอุตสาหกรรมสหพันธรัฐรัสเซีย ร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ อาทิ องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ ตลอดจนสมาคมส่งเสริมนักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกร จากประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม โดยปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันทางออนไลน์มากกว่า 600 ผลงานจาก 24 ประเทศทั่วโลก และ 35 เขตพื้นที่ภายใต้การปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มทรู ได้รับรางวัลนวัตกรรมจากเวทีระดับนานาชาติอีกครั้ง ในงาน “XXIII Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” หรือ ARCHIMEDES-2020 จากสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งปีนี้ด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มทรู ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดแข่งขันทางออนไลน์ โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยสู่ยุคนิว นอร์มัล อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้ทุกคนต้องจำเป็นต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ สะท้อนถึงความตั้งใจของกลุ่มทรู ในฐานะองค์กรไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญด้านนวัตกรรม ส่งเสริมให้นวัตกรไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และที่สำคัญสร้างผลงานเพื่อมอบคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศ จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รางวัลนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและกำลังใจให้กลุ่มทรู เดินหน้าคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป”
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้
1. รางวัลเหรียญทอง จากผลงาน HOMEY ROBOT หุ่นยนต์สำหรับใช้งานภายในที่อยู่อาศัย พัฒนาโดยทีมงานนวัตกร ทรู โรโบติกส์ ที่ต้องการสร้างหุ่นยนต์ให้เป็นเสมือนเพื่อนที่บ้าน คอยช่วยอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำวันที่ปัจจุบัน ประชาชนต้องเว้นระยะห่างสังคมจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีจุดเด่น คือ สามารถรองรับการใช้งานตามความต้องการของผู้บริโภค โดยจะปรับเปลี่ยนลักษณะพฤติกรรมตามอุปกรณ์เสริมที่ผู้ใช้งานสวมใส่ให้กับหุ่นยนต์ ทั้งหน้าตา เสียง การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ รวมถึงแสดงความรู้สึกโต้ตอบกับผู้ใช้งาน รองรับการสั่งงานด้วยเสียง จดจำและตรวจสอบใบหน้าบุคคล ควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านและอุปกรณ์ IoT ตลอดจนรองรับแอปพลิเคชันการใช้งานพื้นฐาน ทั้งวิดีโอสตรีมมิ่ง วิดีโอคอลล์ ระบบแจ้งเตือน ระบบแจ้งข่าวสาร อีกทั้งยังสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย
2. รางวัลเหรียญเงิน จากผลงาน SERVICE ROBOT พัฒนาโดยทีมงานนวัตกร ทรู โรโบติกส์ เช่นเดียวกัน ที่ต้องการสร้างหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจด้านการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด “Service Robot Plug & Play” โดยมีจุดเด่น คือ สามารถปรับเปลี่ยนความสามารถของหุ่นยนต์ได้ตามอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งบนตัวหุ่นยนต์ เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร - สามารถเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงรับรายการอาหาร ธุรกิจโฆษณา - แนะนำสินค้าหรือโปรโมชั่นต่างๆ บนหน้าจอ พร้อมนำทางไปยังร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าได้ และธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต - สร้างเป็นตะกร้าสำหรับใส่สินค้า และเดินตามลูกค้าได้อัตโนมัติ นับได้ว่า SERVICE ROBOT นี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในยุคโควิด-19 เพื่อให้คนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกันโดยตรง และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
3. รางวัลเหรียญทองแดง จากผลงาน “ช่วยเลี้ยง” แพลตฟอร์มควบคุมการทำปศุสัตว์ ที่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 เทคโนโลยีการสื่อสาร เข้ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ซึ่ง “ช่วยเลี้ยง” เป็นระบบจัดการและติดตามผลการทำฟาร์มปศุสัตว์ ในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการฟาร์มสุกรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการค้นคว้าหาข้อมูล วิธีการเลี้ยง การให้อาหาร การรักษาโรค ตลอดจนการทำการตลาดและการขาย โดยมีระบบที่ให้สามารถคำนวณแนวโน้มต้นทุน ค่าใช้จ่าย และผลกำไรได้ล่วงหน้า ส่งเสริมให้เกษตรเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmer) ที่เปลี่ยนแปลงการทำงานในรูปแบบเดิม ให้มีตัวช่วยในการขยายฟาร์มได้อย่างรวดเร็ว และมีเวลาเพื่อไปบริหารจัดการงานในส่วนอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น