หัวเว่ย (Huawei) เปิดตัวสถาบันหัวเว่ยอาเซียนอะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในประเทศมาเลเซีย วางเป้าเป็นศูนย์กลางหลักสูตรการฝึกอบรม ช่วยส่งเสริมความสามารถด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค เบื้องต้นตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรให้ได้ 50,000 คน ภายในเวลา 5 ปี จัดเต็ม 3,000 หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พร้อมผู้อบรมที่มีความเชี่ยวชาญ 100 คนเพื่อช่วยพัฒนาความสามารถของบุคลากรด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่
นายวายบี ดาโต๊ะ ไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีประจำกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดียของประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า Huawei ASEAN Academy ในประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญสำหรับการพัฒนาด้าน ICT เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล และที่สำคัญคือการอบรมและพัฒนาคนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับความรู้ด้าน ICT อย่างเหมาะสมและสามารถนำไปปรับใช้กับโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
“กระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดีย (Ministry of Communications and Multimedia – KKMM) และหัวเว่ยได้สานสัมพันธ์และร่วมงานด้าน ICT กันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่บริษัท หัวเว่ย มาเลเซีย ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2544 และเรายังคงมุ่งหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะประสบความสำเร็จกับความร่วมมือต่างๆ อีกมากมายในภายภาคหน้า เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง”
โปรแกรมการฝึกอบรมด้าน ICT ของศูนย์ฝึกอบรมรวมถึงคอร์สต่างๆ ได้รับการออกแบบเพื่อหน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษามหาวิทยาลัย และจะส่งมอบวิธีการที่ครอบคลุมสำหรับการพัฒนาอิโคซิสเต็มด้าน ICT ของประเทศ โครงการนี้จะนำวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลายมาปรับใช้ อาทิ การฝึกอบรมโดยอิงพื้นฐานจากสถานการณ์จริงและจากการถ่ายทอดสดในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการไปทัศนศึกษาต่างประเทศ ศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวยังได้มอบโซลูชันที่มีหลากหลายมิติ สำหรับทักษะที่แตกต่างแและความต้องการหลากหลายระดับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโซลูชันเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการทักษะที่ยังขาดแคลนในกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายไมเคิล หยวน ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย มาเลเซีย กล่าวว่าในขณะที่โลกกำลังปรับตัวเข้าสู่การเว้นระยะห่างทางสังคมในฐานวิถีชีวิตใหม่ (new normal) โครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายดิจิทัลที่แข็งแกร่งมีความสำคัญมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยหัวใจสำคัญที่จะส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายดิจิทัลที่เข้มแข็งนั้นยังคงอยู่ที่บุคลากรผู้สร้างและดูแลการบริการต่างๆ เหล่านี้เพื่อชาวมาเลเซีย
“การอบรมทักษะและโปรแกรมต่างๆ จากศูนย์ฝึกอบรม ASEAN academy จะเสริมศักยภาพของบุคลากรในท้องถิ่นให้มีความพร้อมต่ออนาคตและสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของประเทศได้”
หัวเว่ยเชื่อว่าหากอ้างอิงจากความต้องการของอุตสาหกรรม ศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวจะตอบโจทย์แก้ความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากรของประเทศในสามด้านหลัก คือ การแนะแนวทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเสริมศักยภาพบุคลากรด้านอีโคซิสเต็ม และการพัฒนาทักษะอื่นๆ ศูนย์ฝึกอบรมนี้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นส่วนสำคัญในการเสริมทักษะและพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับรากฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ทั้งหมดนี้หัวเว่ยย้ำว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดอีโคซิสเต็มของบุคลากรด้าน ICT ที่เปิดกว้าง และการแบ่งปันข้อมูล จะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ศูนย์ฝึกอบรม Huawei ASEAN Academy แสดงให้เห็นถึงอีกก้าวหนึ่งของหัวเว่ย ในการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT และขับเคลื่อนประเทศมาเลเซียให้เข้าสู้ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน