ไม่ใช่แค่ 2-3 บริษัท แต่หัวเว่ยประกาศจับมือร่วมพันธมิตรกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กว่า 18 บริษัท เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจยานยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G หวังเร่งผลักดันการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในเชิงพาณิชย์สำหรับภาคอุตสาหกรรม
นายอีริค สวี ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่าด้วยการผสานเป็นหนึ่งเดียวกันในเชิงลึกระหว่างยานยนต์และไอซีที ยานพาหนะที่ชาญฉลาดนี้จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะเครื่องจักรกลที่จะปฏิวัติและขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคม ซึ่งจะส่งอิทธิพลไปไกลมากกว่า 2 อุตสาหกรรม นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไอซีที
“หัวเว่ยไม่ได้ผลิตรถยนต์ แต่มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ให้บริการด้านส่วนประกอบเทคโนโลยีใหม่ สำหรับรถยนต์ดิจิทัลโดยอิงจากเทคโนโลยีไอซีที”
หัวเว่ยนั้นเป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มแรกจากทั้ง 18 บริษัทในกลุ่มพันธมิตรนั้นประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ First Automobile Group, บริษัท Chang’an Automobile, บริษัท Dongfeng Motor Corporation, บริษัท SAIC Motor Corporation, กลุ่มธุรกิจ Guangzhou Automobile Group, บริษัท BYD Auto, บริษัท Great Wall Motors, บริษัท Chery Holdings และบริษัท JAC Motors
ด้วยข้อได้เปรียบด้านการส่งข้อมูลที่รวดเร็ว ความเสถียร และความหน่วงต่ำ เทคโนโลยี 5G จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาศักยภาพของยานพาหนะไร้คนขับ รวมไปถึงการเพิ่มความบันเทิงอีกด้วย
จากข้อมูลของ GlobalData ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้นำด้านการใช้งานเทคโนโลยี 5G ภายในปี พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 5G กว่า 1,140 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 65% ของการใช้ 5G ทั่วโลก โดยการใช้งานเทคโนโลยี 5G จะมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อหลายภาคส่วน ทั้งในด้าน IoT (Internet of Things) และยานยนต์
นับตั้งแต่การเปิดตัว “MH5000” ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์แรกของการสื่อสาร 5G เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 หัวเว่ยได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต่างๆ เช่น แพลตฟอร์ม T-Box สำหรับอีโคซิสเต็มของกลุ่มพาร์ทเนอร์ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนยานพาหนะแบบ 5G และนวัตกรรมแอปพลิเคชันอัจฉริยะด้านเครือข่ายอย่าง 5G+C-V2X
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์โมดูล DC ตัวใหม่ซึ่งสามารถชาร์จพลังงานได้อย่างรวดเร็วที่มีชื่อว่า “Huawei HiCharger” ซึ่งเป็นโซลูชันสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของการชาร์จแบบ NEV นอกจากนี้ ทางบริษัทกำลังสร้างแพลตฟอร์มการขับขี่อัจฉริยะแบบเปิด เพื่อศึกษาอินเตอร์เฟส (interface) ของแอปพลิเคชัน ระบบการควบคุมรถยนต์ ที่นั่งคนขับอัจฉริยะ รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตของยานพาหนะ (internet of vehicles)
ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทด้านยานยนต์ทั้งระดับนานาชาติและในประเทศจำนวนมากได้เปิดตัวนวัตกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการขับขี่แบบไร้คนขับ เครือข่ายอัจฉริยะ รวมถึงการให้บริการด้านข้อมูลโดยมีพื้นฐานจากผลิตภัณฑ์และโซลูชัน 5G ของหัวเว่ย ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในคุณค่าของเทคโนโลยี 5G ด้านยานยนต์ให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง