ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย หนุนภาคธุรกิจไทยปรับทิศทางรับมือความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคหลังโควิด-19 พร้อมชูสององค์กรจากวงการโทรคมนาคมและภาคการศึกษาที่นำเทคโนโลยีมาผสานกับแนวทางการปฏิบัติงานอย่างลงตัว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยังเดินหน้า แม้ในสภาพการณ์ปัจจุบัน
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ที่ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกต่างต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ นับเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพในการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง โดยทุกองค์กรต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า ‘เรามีเครื่องมือที่พร้อมให้พนักงานเดินหน้าทำงานต่อไปได้หรือยัง?’
“สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนให้พนักงานรับมือกับเหตุฉุกเฉินและปรับรูปแบบการทำงานได้อย่างคล่องตัวอยู่แล้ว แต่ความท้าทายประการสำคัญที่เรายังต้องเผชิญ คือการเดินหน้าแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปของลูกค้าแต่ละรายนั่นเอง ซึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคในส่วนนี้ได้ เนื่องจากความเข้าใจในความต้องการของคนทำงานในฐานะเพื่อนมนุษย์ก็เป้นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค”
พร้อมยกตัวอย่าง 2 องค์กร ที่มีการนำเทคโนโลยีของ ไมโครซอฟท์ ไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ที่ยืนหยัดเคียงข้างชีวิตยุคดิจิทัล เน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมพร้อม เพื่อสร้างความยืดหยุ่นทั่วทั้งธุรกิจ พร้อมส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
เอไอเอสได้ตัดสินใจประกาศนโยบายให้พนักงานกว่า 12,000 คน ทำงานจากที่บ้านในวันที่ 21 มีนาคม และเลือกใช้โปรแกรมสื่อสารอัจฉริยะ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางของการทำงานร่วมกันในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Office 365 มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงคนเอไอเอสให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่องและคล่องตัว เพื่อร่วมขับเคลื่อนและส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างไม่มีสะดุด
นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการประกาศเปลี่ยนแปลงให้พนักงานทำงานจากที่บ้านก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนกัน แต่นั่นก็มิได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานเลยแม้แต่น้อย เพราะได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าภายใต้แผนงานเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP-Business Continuity Plan) อยู่แล้ว
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง เป็นสัญญาณว่า Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบได้เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่รอให้เราได้ต่อรองอีกต่อไป อย่างเช่นการทำงานก็จะไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่อีกแล้ว แต่จะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของทุกคน การมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพช่วยเสริมศักยภาพการทำงานในยุคดิจิทัลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเอไอเอสพร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานตั้งแต่วันนี้และในอนาคต
เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ขับเคลื่อนภาคการศึกษา พร้อมสร้างความชัดเจนในการสื่อสาร ด้วยระบบการเรียนการสอนออนไลน์บนแพลตฟอร์มเดียว

โดยในการสร้างความชัดเจนและลดความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ตัดสินใจเลือก ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) เป็นแพลตฟอร์มหลักหนึ่งเดียวสำหรับนักศึกษาทั้ง 41,400 คน เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ พร้อมบริหารจัดการชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษาแตกต่างกันเป็นอย่างมาก นับจากจำนวนเฉลี่ยเริ่มต้นราว 50 คน ไปจนถึงสูงสุดกว่า 500 คน
ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่รองรับการใช้งานในภาคการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ สามารถสร้างห้องเรียนย่อย เพื่อแบ่งกลุ่ม หรือแบ่งหัวข้อการเรียนได้กว่า 200 ห้องย่อย ทั้งยังสามารถวัดระดับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในห้องเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำการเรียนการสอนเสร็จสิ้นภาคเรียนล่าสุดไปเป็นที่เรียบร้อย โดยที่เฉลี่ยแล้วมีผู้ใช้งานไมโครซอฟท์ ทีมส์ ในช่วงปลายภาคเรียนราว 30,000 คนต่อวัน