xs
xsm
sm
md
lg

“Facebook" อุ้ม SME เปิดเส้นทางอัดฉีด 3,200 ลบ. (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลายเมษายน 63 เฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดตัวโครงการมอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้ลืมตาอ้าปาก กองทุนมูลค่า 3,200 ล้านบาทนี้ประกอบด้วยเงินสดและเครดิตโฆษณาออนไลน์ เฟซบุ๊กคาดว่าธุรกิจ 30,000 รายทั่วโลกจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

การช่วยเหลือเงินสนับสนุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาใน “ศูนย์รวมแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจ” ซึ่งรวมเคล็ดลับและคำแนะนำจากเฟซบุ๊กให้ธุรกิจรายย่อยได้เชื่อมต่อกับลูกค้า หรือใช้โซเชียลมีเดียในการดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น ทั้งหมดนี้ เฟซบุ๊กให้บริการเป็นภาษาไทย เชิญชวนธุรกิจไทยให้เข้าสู่ศูนย์ข้อมูลนี้คู่กับการจัดกิจกรรมออนไลน์ เช่นงานสัมมนาทางเว็บไซต์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กกว่า 800 รายที่เข้าร่วม

เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก ประธานฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นใจธุรกิจขนาดเล็กทั่วโลกที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงโควิด-19 เธอแจงว่าภาวะสูญเสียรายได้เนื่องจากการปิดบริการทำให้เฟซบุ๊กอยากเข้ามาช่วย จึงสร้างศูนย์รวมข้อมูลนี้ขึ้นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้ามารับข่าวสารข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมมอบเงินสนับสนุน การฝึกอบรมการใช้เครื่องมือ และการรับข่าวสารอัปเดทกับเฟซบุ๊กตลอดเวลา

อยากช่วยด้วยใจจริง

เฟซบุ๊กระบุรายละเอียด “โปรแกรมมอบเงินสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก” ว่าบริษัททราบดีถึงธุรกิจที่อาจต้องหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อได้ทราบข้อมูลมาว่าการสนับสนุนด้านการเงินถึงแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย เฟซบุ๊กจึงขอมอบเงินสนับสนุนและเครดิตโฆษณามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้มีทางออกเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าจ้างพนักงานและค่าเช่า เฟซบุ๊กระบุว่าเงินช่วยเหลือจะพร้อมอัดฉีดธุรกิจในกว่า 30 ประเทศที่เฟซบุ๊กดำเนินงาน และธุรกิจที่มีสิทธิ์ได้รับทุน "เฟซบุ๊กแกรนท์" (Facebook Grant) นี้จะต้องผ่านข้อกำหนดขั้นพื้นฐาน เช่น ธุรกิจจะต้องมีพนักงานระหว่าง 2-50 คน ดำเนินงานมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และเป็นธุรกิจที่กำลังเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากการระบาดของ Covid-19

“ธุรกิจขนาดเล็กที่ตรงตามคุณสมบัติสูงสุด 30,000 แห่งในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศที่เรามีสำนักงานทำการตั้งอยู่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าว โดยคุณสมบัติในการสมัครมีดังนี้ 1. มีพนักงานตั้งแต่ 2 คนถึง 50 คน 2. ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 1 ปี 3. ประสบปัญหาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 4. อยู่ในพื้นที่หรืออยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ทำการของเฟซบุ๊ก” เฟซบุ๊กชี้แจงในส่วน “ใครบ้างที่มีสิทธิ์” เข้าร่วมโปรแกรมมอบเงินสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก



คำว่า “ประสบปัญหาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19” ถูกกำหนดไว้กว้างๆ เนื่องจากหลายธุรกิจได้รับผลกระทบในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เฟซบุ๊กตั้งใจ คือการกำหนดให้ธุรกิจที่มีสิทธิ์ต้องอยู่ในหรือใกล้กับพื้นที่สำนักงานเฟซบุ๊ก ซึ่งธุรกิจจะตรวจสอบได้ด้วยการค้นหาด้วยรหัสไปรษณีย์ ก่อนจะสมัครเพื่อเข้าโครงการ

ธุรกิจที่สนใจสมัครโปรแกรม Facebook Grant ควรอ่านข้อกำหนดของโปรแกรมอย่างละเอียด เพราะนี่คือสัญญาทางกฎหมายระหว่างธุรกิจที่สมัครและเจ้าของโปรแกรมอย่างเฟซบุ๊ก ในส่วนนี้พบว่าผู้สมัครทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด การตรวจสอบนี้จะทำให้เฟซบุ๊กแน่ใจว่าผู้สมัครไม่ได้อยู่ในประเทศที่ถูกคว่ำบาตร ไม่ได้เข้าร่วมองค์กรที่ถูกสหรัฐอเมริกาหรือหน่วยงานสหภาพยุโรปเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ข้องแวะกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ หรือผลิตภัณฑ์เสพติดเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงอาหารเสริมที่ไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับธุรกิจต้องห้าม เช่น การขายอาวุธ กระสุน หรือวัตถุระเบิด ผลิตภัณฑ์ทางเพศสำหรับผู้ใหญ่ ศัลยกรรมเสริมความงาม หรือแผนการลดน้ำหนัก

เฟซบุ๊กเชื่อว่าโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในเรื่องการเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน การช่วยเหลือด้านต้นทุนค่าเช่า การเชื่อมต่อกับลูกค้าได้มากขึ้น และครอบคลุมต้นทุนในการดำเนินงาน

ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ ครบทีม

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจ ประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เผยว่าไทยเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่อยู่ในโครงการ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการสรุปว่าเอสเอ็มอีไทยรายใดจะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการระดับโลกที่ต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการหลายขั้นกว่าจะสามารถประกาศชื่อเอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า 4 ตลาดหลักในอาเซียน คือไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์-ฟิลิปินส์ นั้นอยู่ในโครงการครบทีม



แม้จะไม่ได้บอกชัดถึงเหตุผลการอัดฉีดเงินครั้งนี้ แต่ผู้บริหารเฟซบุ๊กประเทศไทยชี้ว่าบริษัทจะแชร์เรื่องราวของเอสเอ็มอีเหล่านี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนคนทำธุรกิจบนเฟซบุ๊ก ถึงกลยุทธ์และแนวคิดในการทำธุรกิจจนสามารถฝ่าวิกฤติไปอย่างไม่ยอมแพ้ ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับให้ธุรกิจมาสมัครได้

นอกจากนี้ การร่วมงานกับเอสเอ็มอียังทำให้เฟซบุ๊กสามารถพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่จะโดนใจธุรกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะฟีเจอร์ที่ทำให้ซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้นกว่าเดิม ในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป

“ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา 3 เทรนด์มาแรงที่เฟซบุ๊กเห็น คือ 1. ไลฟ์ช้อปปิ้ง เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะคนไทยชอบไลฟ์สดขายของอยู่แล้ว แต่โควิด-19 ทำให้เห็นหลายธุรกิจใช้ไลฟ์ขายสินค้ามากขึ้น ทั้งเพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้าและเพิ่มการมีส่วนร่วม 2. การใช้กลุ่มบนเฟซบุ๊ก เราเห็นการรวมตัวมากกว่า 6 ล้านกลุ่มในผู้ใช้เฟซบุ๊กไทย มีทั้งกลุ่มช่วยเหลือร้านอาหาร และตลาดนัดออนไลน์ในสถาบันการศึกษา 3. แมสเสนเจอร์ กลายเป็นเครื่องมือที่มากกว่าการสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว เพราะธุรกิจใช้เป็นช่องทางทำธุรกิจ”


วันนี้เฟซบุ๊กประเทศไทยจึงเน้นจุดยืนหนุนชุมชนธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยเต็มที่ นอกจากฟีเจอร์ใหม่ เฟซบุ๊กยังทำแคมเปญ #ร้านดีบอกต่อ ร่วมกับสติ๊กเกอร์สั่งซื้ออาหารบนอินสตาแกรม (Instagram) และอีกหลายส่วนในกิจกรรม #SupportSmallBusiness ซึ่งเน้นให้ธุรกิจไทยตอบโจทย์ขาช็อปที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นและใช้เวลามากขึ้นในการรับชมเนื้อหาออนไลน์ช่วงวิกฤตโควิด-19 ต้นเหตุของการเว้นระยะห่างทางสังคม



กิจกรรม #SupportSmallBusiness ของเฟซบุ๊กนั้นเป็นกิจกรรมการพบปะร้านค้าออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์วิธีการที่เฟซบุ๊กร่วมตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในประเทศไทย เช่นการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ผู้คนได้สนับสนุนและค้นพบธุรกิจขนาดเล็ก ร่วมกับการนำเสนอเครื่องมือเพิ่ม เพื่อช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้คือการเปิดตัวสติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก “ร้านดีบอกต่อ”บนอินสตาแกรม เมื่อมีใครใช้สติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เนื้อหานั้นจะถูกนำไปรวมอยู่ในสตอรี่ (Instagram Stories) ที่รวมกับผู้สร้างเนื้อหาผู้อื่นที่ใช้สติ๊กเกอร์นั้น เพื่อแสดงให้ผู้ติดตามเห็น สำหรับบนเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคสามารถใช้แฮชแท็ก #ร้านดีบอกต่อบนเฟซบุ๊ก เพื่อแนะนำธุรกิจหรือร้านค้าและบริการที่ชื่นชอบได้

การเปิดตัวดังกล่าวเสริมรับกับฟีเจอร์สั่งซื้ออาหารบนอินสตาแกรม ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันให้บริการผ่านฟู้ดแพนด้าและแกร็บ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเสียงตอบรับจากพันธมิตรครั้งนี้ว่าช่วยกระตุ้นรายได้ให้เอสเอ็มอีไทยมากน้อยเพียงใด

การกระตุ้นยอดขายให้เอสเอ็มอีนั้นมีผลต่ออนาคตเฟซบุ๊กแน่นอน เพราะปัจจุบัน ธุรกิจที่ใช้เฟซบุ๊กในการเชื่อมต่อกับลูกค้ามีจำนวนมากกว่า 140 ล้านรายทั่วโลก เป็นแหล่งรายได้ชั้นดีที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหลั่งไหลเข้าสู่เฟซบุ๊ก โดยฐานผู้ใช้เฟซบุ๊กมีมากกว่า 2,600 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่ผู้ใช้อินสตาแกรมทะลุหลัก 1,000 ล้านคนต่อเดือนไปแล้วเรียบร้อย

เส้นทางการอุ้มเอสเอ็มอีของเฟซบุ๊ก จึงจะยังยาวไกลไม่ว่าโควิดจะจบหรือไม่จบก็ตาม..




กำลังโหลดความคิดเห็น