xs
xsm
sm
md
lg

Facebook ยังไม่สรุปเงินอัดฉีด SME ไทย แอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสฝันจัดอีเวนท์หลังโควิดฟื้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเอสเอ็มอีไทยรายใดจะได้เข้าโครงการอัดฉีดเงินช่วยเหลือแก่ธุรกิจรายย่อยทั่วโลก “สมอลล์บิสสิเนสแกรนท์โปรแกรม” (Small Business grant program) มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3,200 ล้านบาทที่จะปูพรมทั่ว 30 ประเทศ เบื้องต้นยันจุดยืนหนุนชุมชนธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยด้วยฟีเจอร์ใหม่-แคมเปญ#ร้านดีบอกต่อ-สติ๊กเกอร์สั่งซื้ออาหารบนอินสตาแกรม (Instagram) ด้านตัวแทนเอสเอ็มอีจากกลุ่มฮอตบนเฟซบุ๊ก “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” ฝันไกลเล็งจัดอีเวนท์และต่อยอดการจับคู่ธุรกิจระยะยาว มั่นใจกลุ่มยังเหนียวแน่นหลังโลกชินกับโควิด-19

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจ ประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวภายในงานเปิดตัวกิจกรรม #SupportSmallBusiness ที่เฟซบุ๊กจัดเพื่อหนุน SME ไทยว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กทุกที่ ในขณะที่ผู้คนกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการอยู่บ้าน ธุรกิจกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินการเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ เฟซบุ๊กจึงวมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย

“ถ้าเราลองนึกถึงร้านค้าหรือร้านอาหารที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอย่างน้อยพวกเขาอาจจะมีเพจ Facebook หรือบัญชี Instagram ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังคงมองหาแนวทางในการจัดการกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ด้วยวิธีการใหม่ๆ หน้าที่ของเราคือการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนชุมชนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในระยะที่มีความสำคัญทั้งในช่วงการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและช่วงฟื้นฟูธุรกิจ”


เฟซบุ๊กประเทศไทยยกตัวอย่างข้อมูลจากยูกอฟ (YouGov) ที่พบว่ามากกว่าร้อยละ 32 ของผู้ตอบคำถามชาวไทยได้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมถึงมากกว่าร้อยละ 39 ตอบว่ามีการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์เพิ่มมากกว่าปกติ และมากกว่าร้อยละ 44 ใช้เวลามากขึ้นในการรับชมเนื้อหาออนไลน์ สถิติเหล่านี้ตอกย้ำว่าชุมชนและแหล่งข้อมูลต่างๆ ของเฟซบุ๊กมีความสำคัญต่อธุรกิจและผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในขณะที่ทุกคนกำลังเว้นระยะห่างทางสังคม

ปัจจุบัน ฐานผู้ใช้เฟซบุ๊กมีจำนวนมากกว่า 2,600 ล้านคนต่อเดือน และผู้ใช้อินสตาแกรมมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ยังประกอบด้วยธุรกิจบนเฟซบุ๊กมากกว่า 140 ล้านราย ที่ใช้งานแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อกับลูกค้า


งัดฟีเจอร์ช่วยร้านค้าออนไลน์

สำหรับกิจกรรม #SupportSmallBusiness ของเฟซบุ๊กนั้นเป็นกิจกรรมการพบปะร้านค้าออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์วิธีการที่เฟซบุ๊กร่วมตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในประเทศไทย เช่นการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ผู้คนได้สนับสนุนและค้นพบธุรกิจขนาดเล็ก ร่วมกับการนำเสนอเครื่องมือเพิ่ม เพื่อช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้คือการเปิดตัวสติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก “ร้านดีบอกต่อ”บนอินสตาแกรม เมื่อมีใครใช้สติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เนื้อหานั้นจะถูกนำไปรวมอยู่ในสตอรี่ (Instagram Stories) ที่รวมกับผู้สร้างเนื้อหาผู้อื่นที่ใช้สติ๊กเกอร์นั้น เพื่อแสดงให้ผู้ติดตามเห็น สำหรับบนเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคสามารถใช้แฮชแท็ก #ร้านดีบอกต่อบนเฟซบุ๊ก เพื่อแนะนำธุรกิจหรือร้านค้าและบริการที่ชื่นชอบได้

การเปิดตัวดังกล่าวเสริมรับกับฟีเจอร์สั่งซื้ออาหารบนอินสตาแกรม ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันให้บริการผ่านฟู้ดแพนด้าและแกร็บ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเสียงตอบรับจากพันธมิตรครั้งนี้ว่าช่วยกระตุ้นรายได้ให้เอสเอ็มอีไทยมากน้อยเพียงใด

กิจกรรม #SupportSmallBusiness อื่นยังประกอบด้วยแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการอัปเดทเครื่องมือสำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ดูแลเพจสามารถแชร์ข้อมูลที่สำคัญได้อย่างรวดเร็ว เฟซบุ๊กยังให้คำแนะนำในการปรับปรุงเพจที่ตรงกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ และกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงการช่วยผู้คนในการเคลื่อนย้ายธุรกิจของพวกเขาสู่ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาสามารถค้าขายต่อไปได้ และการนำเสนอเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีใช้ Facebook Live และ Messenger เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของธุรกิจ

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังจัดทำศูนย์ข้อมูลสำหรับธุรกิจ ขึ้นมาโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้โดยจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้คำแนะนำและเคล็ดลับต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กในไทยยังคงเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าและปรับกลยุทธ์ในการใช้งานโซเชียลมีเดียได้ทันท่วงทีเพื่อดำเนินธุรกิจของพวกเขาได้ตามเป้าหมาย และมีให้บริการเป็นภาษาไทย



ล่าสุดคือกลางเมษายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่มีการจัดตั้งเงินทุนมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.2 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 30,000 รายทั่วโลกใน 30 ประเทศ เบื้องต้นยังไม่มีการสรุปว่าเอสเอ็มอีไทยรายใดจะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ Small Business grant program นี้ โดยตัวแทนเฟซบุ๊กย้ำว่ายังต้องใช้เวลากว่าจะสามารถประกาศชื่อเอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินอัดฉีดหรือเครดิตซื้อพื้นที่โฆษณา


SME ไทยสู้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ในการแถลงข่าวออนไลน์ เฟซบุ๊กยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยที่สามารถปรับตัวได้ดีในยุคโควิด-19 ไว้ 3 ราย คือ เพนกวินกินชาบู (Penguin Eat Shabu) เชนร้านชาบูชื่อดังที่ต้องปิดหน้าร้านทั้งหมด 9 สาขา และต้องปรับมาขายอาหารกล่องแบบสั่งกลับบ้านจนได้รับยอดคำสั่งซื้อบนเฟซบุ๊กถึง 350 รายการภายในเวลา 1 นาที

ยังมีออแกนิควา (Organicwa Thailand) ร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและผลผลิตท้องถิ่นซึ่งใช้เฟซบุ๊กจัดการคู่แข่งมที่มากขึ้น และแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมต่อธุรกิจร้านค้าออนไลน์มากมายในช่วงวิกฤตโควิด-19

ปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส กล่าวว่าแม้ผู้คนจะออกนอกบ้านได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่ไทยคลายล็อกดาวน์ เชื่อว่ากลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส จะยังคงอยู่ และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และอาจขยายผลเป็นงานอีเวนท์ได้ในวันหน้า

“ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ธุรกิจมารวมตัวกัน พื้นที่นี้จะเป็นโอกาส และจะมีการจับคู่ธุรกิจที่ดี เช่นร้านอาหารสามารถจับคู่กับร้านขายผัก ทุกธุรกิจมาจับคู่ในกลุ่มนี้ได้หมด ผมอยากต่อยอดให้เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งในอนาคต อาจจะมีอีเวนท์ออฟไลน์บ้าง เมื่อธุรกิจเปิดร้านได้ปกติ พื้นที่ตรงนี้จะยังเป็นพื้นที่แจ้งข่าว แจ้งโปรโมชันได้ดี”




กำลังโหลดความคิดเห็น