xs
xsm
sm
md
lg

Netflix หวังกิน (ตลาด) เด็ก!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลูกเด็กเล็กแดงนั้นเป็นกลุ่มที่ทำให้ยอดการชมวิดีโอออนไลน์ขยายตัวมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งในภาวะที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 เด็กน้อยทั่วโลกก็ยิ่งเพิ่มทราฟิกการชมวิดีโอออนไลน์ให้ขยายตัวขึ้นไปอีก

ความจริงนี้มีผลโดยตรงกับ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เจ้าตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งแบบเสียค่าสมัครสมาชิก เน็ตฟลิกซ์รู้ดีว่าแพลตฟอร์มดังอย่างยูทูบ (YouTube) ซึ่งเป็นบริการที่ผู้ใช้ผลิตวิดีโอเข้ามากันเอง (user-generated content) กำลังมียอดชมกลุ่มเด็กที่เติบโตมากเป็นพิเศษ แถมเมื่อมองอีกด้าน คู่แข่งในสังเวียนเดียวกันอย่างดิสนีย์พลัส (Disney+) ก็กำลังชูธงบุกตลาดเด็กอย่างจริงจัง ยังไม่นับอะเมซอนไพร์มวิดีโอ (Amazon Prime Video) และฮูลู (Hulu) ที่ล้วนเข้าใจว่าหลายครอบครัวต้อง การให้สมาชิกทุกระดับอายุสามารถเพลิดเพลินกับความบันเทิงบนระบบอย่างเหมาะสม

เพื่อให้บัลลังก์ไม่ร้อน เน็ตฟลิกซ์ที่เป็นผู้นำตลาดแบบจ่ายเงินจึงพยายามทำทุกทางเพื่อไม่ให้เสียกลุ่มเด็กไป สิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ทำไม่เพียงเน้นคัดเลือกวิดีโอคุณภาพที่โดนใจเด็กน้อย แต่ยังต้องมัดใจพ่อแม่ให้อยู่หมัด ด้วยการเพิ่มอำนาจให้พ่อแม่มีพลังควบคุมการรับชมของลูก ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะไม่ขวัญผวาเพราะไปกดชมเรื่องราวซอมบี้เลือดสาด และเมื่อวิดีโอจบแล้ว จะไม่มีวิดีโอใหม่เล่นต่อแบบอัตโนมัติ

***เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

7 เม.ย. 63 เน็ตฟลิกซ์เปิดตัวฟีเจอร์ “พาเรนทัลคอนโทรลส์” (Parental Controls) โดยระบุว่าเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมและเลือกสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการรับชมเน็ตฟลิกซ์ของสมาชิกในครอบครัว การอัปเดตและปรับปรุงฟีเจอร์การควบคุมเหล่านี้เป็นไปตามความคิดเห็นที่สมาชิกเน็ตฟลิกซ์เรียกร้อง ซึ่งหลายข้อถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เน็ตฟลิกซ์

มิเชลล์ พาร์สันส์ ผู้จัดการฝ่ายรายการสำหรับเด็ก และโฆษกของฟีเจอร์ Parental Controls ระบุถึง 6 สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้บนเน็ตฟลิกซ์ในวันนี้ ได้แก่ 1. ใช้รหัสส่วนตัวในการเข้าแต่ละโปรไฟล์เพื่อไม่ให้บุตรหลานเข้าใช้ได้ 2. ใช้ตัวกรองเพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานรับชมรายการหรือภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะกับอายุภายในโปรไฟล์เด็ก 
ตัวกรองเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และขึ้นอยู่กับการจัดเรทเนื้อหาในประเทศนั้น สำหรับไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือทุกวัย, อายุ 7 ปีขึ้นไป, อายุ 13 ปีขึ้นไป, อายุ 16 ปีขึ้นไป และ 18 ปีขึ้นไป จุดนี้ผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์ปฏิเสธที่จะเปิดเผยสัดส่วนของเนื้อหาแต่ละกลุ่มบนแพลตฟอร์ม




3. ลบซีรีส์หรือภาพยนตร์ออกจากโปรไฟล์ตามการจัดเรทเนื้อหาหรือชื่อเรื่อง เมื่อมีการใช้ตัวกรอง ทำให้เนื้อหาที่ถูกบล็อกจะไม่ปรากฏขึ้นมาในโปรไฟล์นั้นเลย 4. ดูการตั้งค่าทั้งหมดของแต่ละโปรไฟล์ที่หน้า "โปรไฟล์และการควบคุมของผู้ปกครอง" ภายในส่วนการตั้งค่าบัญชี 5. ดูว่าบุตรหลานดูรายการใดไปบ้างภายในโปรไฟล์ที่ผู้ปกครองสร้างไว้ให้ และ 6. ปิดการเล่นตอนต่อไปโดยอัตโนมัติในโปรไฟล์เด็กได้

“พ่อแม่ผู้ปกครองจะควบคุมได้ว่าจะเปิดหรือปิดการเล่นอัตโนมัติ เพื่อจะได้จำกัดเวลาที่ลูกจะดู อีกการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือสามารถล็อกโปร์ไฟล์ ป้องกันไม่ให้เด็กใช้โปรไฟล์ผู้ใหญ่ที่ชมวิดีโอได้ทุกอย่าง ซึ่งการจะดูหรือแก้ไข จะต้องใช้รหัสเพื่อเข้าดู” ผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์กล่าว “เรายังต่อยอด การจำกัดการรับชมแบบเรทที่มีอยู่แล้ว ให้พ่อแม่สามารถป้อนชื่อได้ว่าไม่อยากให้ลูกดูเรื่องไหน ถ้าลูกเสิร์ซหาเรื่องนั้นก็จะไม่ขึ้นเลย”



ผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์ระบุว่าการตั้งค่าฟีเจอร์นี้ทำได้ 2 รูปแบบ คือบนเบราว์เซอร์พีซีและบนเบราว์เซอร์อุปกรณ์โมบายกลุ่มสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่ทำไม่ได้คือสมาร์ททีวีและแอปพลิเคชัน เบื้องต้นยังไม่เปิดเผยกำหนดการพร้อมใช้งานในขณะนี้

ผู้ปกครองสามารถปรับอินเทอร์เฟซให้ไม่หวือหวาเข้ากับเด็กได้ด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถดูประวัติการชม ซึ่งสามารถเก็บบันทึกได้ตลอดไป และดาวน์โหลดมาเป็นชุดข้อมูลได้ เพื่อจะได้รู้ว่าลูกดูวิดีโอแบบไหน ทำให้สามารถแนะนำให้ชมเพิ่มเติมได้ แทนที่จะเลือกชมอย่างเดียวเท่านั้น

“เชื่อว่าทุกครอบครัวต่างกันไป ลูกหลานแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มีความต้องการที่ต่างกัน เน็ตฟลิกซ์เลยอยากมอบการควบคุมตรงนี้ให้ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนตามใจชอบและเป็นไปตามการตัดสินใจของพ่อแม่ เชื่อว่าการสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมาจะทำให้ทุกครอบครัวสามารถปรับได้”


เน็ตฟลิกซ์ย้ำว่าการควบคุมทั้งหมดนี้เป็นการตั้งค่าที่โปรไฟล์ ซึ่งไม่ได้ดึงข้อมูลส่วนตัวของเด็กเช่นอายุหรือเพศ ซึ่งเน็ตฟลิกซ์ไม่ต้องเก็บข้อมูลส่วนนี้เพราะไม่มีการแสดงโฆษณาในระบบ



***ไม่ได้เกี่ยวกับโควิด

การเปิดฟีเจอร์นี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่เด็กทั่วโลกต้องอยู่บ้านเพื่อสู้โควิด-19 ผู้บริหารย้ำว่าเน็ตฟลิกซ์ต้องการพัฒนาฟีเจอร์เหล่านี้มานานแล้ว แต่ต้องผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ต้องเลื่อนจากกำหนดการแรกเริ่มคือปลายปี 62 มาเป็นปี 63 เพราะต้องการให้แน่ใจว่าฟีเจอร์เสถียร และรองรับสมาชิก 160 ล้านรายทั่วโลกได้


นอกจากไม่เกี่ยวกับโควิด ผู้บริหารยังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลบวกหรือลบต่อธุรกิจของเน็ตฟลิกซ์ โดยยืนยันว่าการปรับปรุงฟีเจอร์เหล่านี้อ้างอิงตามเสียงตอบรับจากพ่อแม่เท่านั้น


ที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์เล่นเกมการตลาดด้วยการเปิดวิดีโออัตโนมัติทันทีที่วิดีโอเดิมจบลง ผลคือผู้ชมจำนวนมากอดใจไม่ไหวทำให้นั่งชมต่อเนื่องไปเรื่อยจนควบคุมเวลาไม่ได้ แม้จะเป็นการตลาดที่ได้ผลดีในระยะแรก แต่ช่วงหลังเน็ตฟลิกซ์จำใจต้องเปิดทางให้ผู้ชมที่ต้องการปิดฟีเจอร์นี้ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด ซึ่งล่าสุดก็ขยายมาให้พ่อแม่สามารถปิดการเล่นอัตโนมัติในโปรไฟล์ของบุตรหลานได้เต็มที่ในยุคโควิด

ยุคโควิดยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นกับเน็ตฟลิกซ์ นั่นคือการลดความเร็วในการสตรีมมิ่ง เพื่อให้อินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศเพียงพอต่อความต้องการใช้งานเมื่อทุกคนต้องอยู่บ้านเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ประเด็นนี้ผู้บริหารยืนยันว่าไม่ใช่การลดความละเอียด โดยผู้ใช้ 3 แพ็กเกจบริการที่เน็ตฟลิกซ์ทำตลาดในไทยคือความละเอียดมาตรฐาน ความละเอียดสูง และความละเอียดสูงพิเศษ จะไม่เห็นความแตกต่างจากบริการเดิมที่เคยได้รับ

“สมมุติว่าแต่ละแพ็กเหมือนทางด่วน เราปิดทางด่วนที่เร็วที่สุดทั้ง 3 ทางด่วน เพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้เต็มที่ และทุกเลนก็เพียงพอที่จะใช้ได้ดีเหมือนเดิม ใครที่สมัคร 4K ก็ยังได้เหมือนเดิม เพียงแต่จะไม่ได้ขับบนเลนที่เร็วที่สุด แทบจะไม่เห็นความแตกต่างจากเดิม นอกจากว่ามีความแออัดในเครือข่ายค่อนข้างสูง ที่จะไม่เกิดแน่นอนคือการค้างหรือกระตุก เพราะมีเทคโนโลยีปรับบิตเรทอยู่”

แม้จะต้องลดความเร็ว แต่ช่วงโควิดนี่เองที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์และบริการวิดีโอสตรีมมิ่งอื่นขยายตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การศึกษาของบริษัทรีลกู้ด (Reelgood) พบว่ามีการลงทะเบียนใช้งานบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น 99% ในสัปดาห์ต้นเมษายน 63 ขณะที่การดูสื่อสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น 101% ในสัปดาห์เดียวกัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 63

ในไตรมาสแรก เน็ตฟลิกซ์ครองตำแหน่งผู้นำเพราะสามารถเพิ่มจำนวนการติดตั้งแอปได้มาก กว่า 59 ล้านครั้ง ขณะที่อัลฟาเบ็ต ต้นสังกัดยูทูบ (YouTube) ก็มีผู้ติดตั้งแอปพลิเคชันใหม่หลายล้านรายเช่นกัน

***ศึกนี้ต้องแย่งเด็ก

สถิติในช่วงโควิดชี้ชัดว่า เนื้อหาสำหรับเด็กกลับมีการเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ การ สำรวจพบว่าการดูวิดีโอของเด็กเพิ่มขึ้นถึง 70% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรงเรียนยังคงปิดเพราะ พิษไวรัส แถมข้อมูลล่าสุดจากบริษัทวิจัยแอปโทเปีย (Apptopia) และแพลตฟอร์มวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคชื่อบราซ (Braze) ยังพบว่าแอปเนื้อหาสำหรับเด็กนั้นมีเงินสะพัดสูงมาก ตัวอย่างเช่นยูทูบคิดส์ (YouTube Kids) ที่สามารถรวมยอดเงินโฆษณาในแอปได้เกิน 110 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาสแรก ถือเป็นยอดเงินสะพัดที่สูงที่สุดในบรรดาแอปสตรีมมิ่งรายใหญ่ทั่วโลก



บทสรุปตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งช่วงโควิดในกลุ่มเด็ก คือ YouTube Kids สามารถครองแชมป์แอปวิดีโอเด็กทำเงิน ผลจากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมง รองลงมาคือเน็ตฟลิกซ์ ถัดจากนี้คือแพลตฟอร์มการสตรีมเกมของอะเมซอนอย่างอะเมซอนทวิตช์ (Amazon Twitch) ซึ่งเป็นหนึ่งในแอป มือถือที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดทั่วโลก และมียอดเงินสะพัดในแอปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ


ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ไม่มีใครสงสัยว่าทำไมทุกคนจึงแย่ง (ตลาด) เด็กอย่างเต็มที่ แต่ไม่ว่าการแข่งขันจะรุนแรงเท่าใด สิ่งเดียวที่คนเป็นพ่อเป็นแม่อยากจะขอร้อง คือขอให้เด็กน้อยได้ประโยชน์จากศึกนี้อย่างเต็มที่.




กำลังโหลดความคิดเห็น