นานปีจะมีหน สำหรับ 2 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี แอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) ที่ยอมเป็นพันธมิตรกันแบบไม่เลือกค่าย เปิดทางให้ผู้ใช้ไอโฟนและแอนดรอยด์ได้รับการแจ้งเตือนหากเคยอยู่ใกล้หรือพบปะกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นประเมินความร่วมมือนี้จะครอบคลุมเกินผู้ใช้ 3 พันล้านรายทั่วโลก คิดเป็นศักยภาพในการตรวจสอบประชากรประมาณหนึ่งในสามของโลก
เทคโนโลยีที่จะถูกใช้ในโครงการนี้เรียกกันว่าคอนเทค-เทรซิง (contact-tracing) ถูกออกแบบมาเพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ด้วยการประเมินและแจ้งเตือนผู้ใช้ว่าผู้ใช้ควรแยกตัวเองจากสังคมหลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นคือคู่แข่งตัวเบ้งระดับโลกจะร่วมกันฝังเทคโนโลยีนี้ลงในระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ ขั้นตอนต่อจากนี้คือทั้งคู่จะเพิ่มความสามารถใหม่ช่วงในกลางเดือนพฤษภาคม ให้ไอโฟนและโทรศัพท์แอนดรอยด์ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแบบไม่ระบุตัวตนบนเครือข่ายไร้สายผ่านแอปพลิเคชันที่ดำเนินการโดยองค์กรสาธารณสุขหลายสำนัก เบื้องต้นทั้ง 2 บริษัทจะเปิดตัวเฟรมเวิร์กสำหรับแอปด้านสาธารณสุข ในการต่อยอดการจัดการฟังก์ชั่นการใช้งานด้านอื่นต่อไป
นัยสำคัญของความร่วมมือนี้คือ หากผู้ใช้รายใดได้รับผลทดสอบว่ามีเชื้อ Covid-19 เพียงเพิ่มข้อมูลนั้นลงในแอปสุขภาพบนเครื่องของตัวเอง ผู้ใช้ที่เคยเข้ามาใกล้ในช่วงหลายวันก่อนหน้านี้ จะได้รับแจ้งถึงประวัติการพบปะกับผู้ติดเชื้อ คาดว่าช่วงเวลานี้อาจกำหนดเป็น 14 วัน หรือหน่วยงานสาธารณสุขอาจเปลี่ยนแปลงกำหนดช่วงเวลาใหม่ก็ได้
สำหรับเฟส 2 ที่จะเริ่มในอีก 2 เดือนข้างหน้า ทั้ง 2 บริษัทจะเพิ่มเทคโนโลยีลงในระบบปฏิบัติการโดยตรง เพื่อให้ซอฟต์แวร์ contact-tracing ที่สามารถติดตามผู้ติดต่อของเจ้าของอุปกรณ์ มีโอกาสทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปใดๆ ซึ่งแม้ผู้ใช้จะต้องเลือกเปิดใช้งานหรือ opt in แต่วิธีการนี้เชื่อว่าจะเป็นยาแรงที่สามารถครอบคลุมการติดต่อของประชากรโลกได้อีกมากมาย เพราะปัจจุบัน ระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple และ Android ของ Google มีผู้ใช้งานประมาณ 3 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลก
สำหรับการระบาดของโควิด-19 นั้นมีการบันทึกว่าได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100,000 คน จำนวนผู้ติดเชื้อทะลุหลัก 1.63 ล้านคนไปแล้วเรียบร้อย ความเสียหายนี้ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องออกคำสั่งให้ประชาชนนับล้านอยู่บ้าน แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกฝืดเคืองที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงกดดันทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ภาวะนี้เองที่ทำให้ระบบ contact-tracing หรือการติดตามผู้ติดต่อถูกมองว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสติดตามการแพร่กระจายของไวรัส เมื่อผู้คนกลับมาทำกิจกรรมตามปกติในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี contact-tracing ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เกี่ยวข้องกับการส่งต่อข้อมูลสุขภาพที่ละเอียดอ่อนจากผู้คนหลายพันล้านคนผ่านอุปกรณ์มือถือ ดังนั้นความเป็นส่วนตัวของประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองแบบ 100%
ประเด็นนี้เป็นที่มาของการยืนยันจาก Apple และ Google ที่ย้ำว่าระบบ contact-tracing ของทั้งคู่จะรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ขณะเดียวกันก็จะต้องได้รับความยินยอม และไม่มีการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้งาน พร้อมกับการระวังให้เทคโนโลยีนี้ไม่ลงลึกถึงข้อมูลว่ารายละเอียดการติดต่อ ที่สำคัญคือการยืนยันว่าทั้ง 2 บริษัทจะไม่สามารถดูข้อมูลนี้ได้ และทุกระบบสามารถปิดการใช้งานได้หากผู้ใช้ต้องการ.