xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจแนวทาง 'โอเปอเรเตอร์' หนุนทำงานอยู่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 (COVID-19) หนึ่งในวิธีการที่ทุกคน และทุกองค์กร สามารถหาทางออกร่วมกันด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน คือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้รับกับการทำงานจากที่บ้าน

แน่นอนว่าในการทำงานจากที่บ้านอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับทุกธุรกิจ แต่อย่างน้อยถ้าองค์กรไหนที่มีขั้นตอนการทำงานที่รองรับ หรือสามารถปรับตัวเพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงได้ การสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน จะถือเป็นการช่วยประเทศไทยไปในตัว เพราะวิกฤตการในครั้งนี้ทุกคนต้องช่วยกัน

***เครือข่ายรองรับการใช้งาน 100%

ในมุมของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้คนไทยสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ นอกจากการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในการใช้งานเครือข่ายในช่วงเหตุการณ์นี้ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการใช้งานแบนด์วิดท์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ทุกรายต่างยืนยันว่าเครือข่ายที่มีเพียงพอรองรับการใช้งาน

ทุกรายต่างแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการให้บริการของโอเปอเรเตอร์ในเมืองไทย ที่จะสามารถรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการทำงานที่บ้าน และใช้ในการสื่อสารในช่วงเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ

เพราะขนาดในยุโรป ทางสหภาพยุโรป (อียู) ยังขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก และผู้ให้บริการ OTT ทั้งหลาย ปรับความละเอียดของวิดีโอคอนเทนต์ให้มีความคมชัดน้อยลง เพื่อให้แบนด์วิดท์สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุโรปเพียงพอต่อการใช้งาน

แต่กลายเป็นว่า เมื่อสอบถามไปยังโอเปอเรเตอร์ในไทยทั้ง 3 ราย กลับให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงข่ายในการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังสามารถรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยมีการใช้งานยูทูป และรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งกันต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการใช้งานที่กินแบนด์วิดท์มากที่สุด กรณีที่เปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานอย่างการประชุมทางไกลไร้สาย นั้นใช้แบนด์วิดท์ต่ำกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นจากผู้ให้บริการบางรายที่ชี้ให้เห็นว่า โอเปอเรเตอร์ต้องเตรียมรับมือกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จากเดิมที่ปริมาณการใช้งานหนาแน่นจะอยู่ในเขตเมือง พอมีนโยบายให้กักตัวอยู่ที่บ้าน การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็จะไปอยู่ตามชุมชนที่พักอาศัยแทน ทำให้ต้องมีการเร่งขยายโครงข่ายในแต่ละจุดเพื่อรองรับการใช้งานเพิ่ม

***วิกฤตกระตุ้นคนไทย เข้าสู่ 4.0


เมื่ออินเทอร์เน็ตพร้อมแล้ว ก็มาถึงการปรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ในจุดนี้ 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0

เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งองค์กร และบุคลากร ยังตั้งคำถามถึงการทำงานในยุคดิจิทัล แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกคนต่างต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ทุกฝ่ายจะได้เห็นประโยชน์ที่ทำให้การทำงานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าจะทำงานจากที่บ้าน ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นจากการได้อยู่กับครอบครัว

'เหตุการณ์นี้ถ้าเรามองว่าเป็นวิกฤตก็ได้ แต่ในอีกมิติจะเป็นโอกาสที่ทรานฟอร์มประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ได้ทันที ที่สำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน อย่างกลุ่มทรูมีเครื่องมือ มีแพลตฟอร์ม ก็นำออกมาให้ทุกองค์กรได้ใช้งานเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้'

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่มองว่าเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวก และประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะแม้แต่ทางไมโครซอฟท์ ก็เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยให้องค์กรตอบรับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสื่อสาร

จาเร็ด สปาทาโร่ รองประธานองค์กร ธุรกิจ ไมโครซอฟท์ 365 ให้ข้อมูลถึงสถิติการใช้งานแพลตฟอร์มประชุมทางไกลของไมโครซอฟท์ว่ามียอดการใช้งานพุ่งสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่หลายองค์กรธุรกิจ เริ่มมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยที่มีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน การที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่างรับรู้ว่าในอนาคต รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์มือถือ และโมบายดาต้า นั้นไม่ใช่เส้นทางการสร้างรายได้ที่ดีที่สุดอีกต่อไป แต่กลายเป็นการหันมาจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้บริการดิจิทัลโซลูชันแก่กลุ่มลูกค้าองค์กร ที่จะสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่โอเปอเรเตอร์ได้

ทำให้ที่ผ่านมา โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายต่างมีการแยกฝ่ายลูกค้าองค์กรออกมา เพื่อเจาะเข้าไปทำตลาดองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือแม้กระทั่ง SMEs ที่มีจำนวนมาก และมีความต้องการนำดิจิทัลไปช่วยขยายธุรกิจ ซึ่งเมื่อถึงสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องพึ่งพาดิจิทัล โอเปอเรเตอร์ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน บนความหวังที่ว่า หลังจากผ่านวิกฤตครั้งนี้ พฤติกรรมการทำงานจะเปลี่ยนไป เพราะทุกคนได้สัมผัสถึงการทำงานในยุคดิจิทัลกันแล้ว

***เอไอเอส พาร์ทเนอร์ ไมโครซอฟท์


ในมุมของ เอไอเอส ที่ขยับตัวก่อนใครในการแนะนำแพ็กเกจ Working From Home เพื่อเข้าไปสนับสนุนลูกค้าทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการใช้งานปริมาณดาต้าเพิ่มขึ้น ด้วยการออกแพ็กเสริมโมบายอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน จนถึงการทำราคาพิเศษโมเด็มกระจายสัญญาณ 4G/5G เพื่อนำไปติดตั้งใช้งานภายในที่พักอาศัย ในราคาเริ่มต้น 2,990 บาทต่อปี

จุดเด่นสำคัญของ เอไอเอส คือการที่เป็นพันธมิตรหลักของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ให้บริการ Microsoft Office 365 ซึ่งรวมถึงระบบการทำงานภายในองค์กรอย่าง Microsoft Teams ทำให้ลูกค้าที่สมัครใช้งานแพ็กเกจ Working From Home ของเอไอเอส จะได้รับสิทธิใช้งาน Office 365 พร้อมกับบริการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่าง Zoom แบบไม่เสียดาต้า ในราคาเริ่มต้นเดือนละ 99 บาท หรือถ้าต้องการอินเทอร์เน็ตเพิ่ม 50 GB ต่อเดือน จะอยู่ที่ 499 บาท

ส่วนในกลุ่มของลูกค้า เอไอเอส ไฟเบอร์ ที่เห็นถึงความต้องการในการใช้งานเน็ตบ้านที่แรงขึ้น จึงได้ออกเป็นแพ็กเกจเสริมเพิ่มความเร็วให้เป็น 1000/200 Mbps ในราคาเดือนละ 99 บาท สำหรับลูกค้าที่ปัจจุบันใช้งานแพ็กเกจ 699 บาทขึ้นไป และ 59 บาท สำหรับลูกค้าที่ใช้แพ็กเกจต่ำกว่า 699 บาท แต่จะได้ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 300/300 Mbps รวมถึงนำเสนอแพ็กเกจลูกค้าใหม่ 399 บาท ที่ได้เน็ต 100/100 Mbps พร้อมซิม 4G ที่ใช้งาน Office 365 และ Zoom ไม่อั้น

นอกจากนี้ เพื่อให้ครอบคลุมถึงการใช้งานภายในองค์กรที่กังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล จึงได้มีการนำเสนอโซลูชันอย่าง Virtual Desktop Infrastructure เพื่อให้พนักงานสามารถรีโมทเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชันภายใน Intranet ขององค์กร รวมถึงการเพิ่มปริมาณแบดน์วิดท์เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตในองค์กรในราคา 30 บาท/Mbps/เดือน

***ทรู ผสมรวมแพลตฟอร์มให้คนไทยใช้ฟรี


ตามมาด้วยกลุ่มทรู ที่แต่เดิมมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการทำงานเพื่อใช้งานภายในองค์กรอยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดในการผสมผสานทุกๆ แพลตฟอร์มเข้ามาอยู่ด้วยกัน เพื่อเป็นโซลูชันให้ผู้ประกอบการ และประชาชนได้เข้าถึงเครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น VWork ที่เป็นแพลตฟอร์มช่วยสนับสนุนองค์กรธุรกิจทุกระดับ ให้ทำงานที่ บ้านได้ เสมือนอยู่ที่ทำงานจริง รองรับการทำงาน ทุกที่ ทุกเวลา สามารถ เชื่อมต่อระบบงานในบริษัท สั่งงาน ส่งรับไฟล์งาน อนุมัติงาน สื่อสารภายใน ตั้งกลุ่ม แชท รวมถึง จัดการประชุมแบบออนไลน์ได้ สูงสุดถึง 1,500 คน

ตามด้วย VLearn ที่พร้อมเข้าไปสนับสนุนองค์กรสถาบันการศึกษา ให้สามารถบริหารจัดการเรียนการสอน และนิสิต นักศึกษา นักเรียนในสถาบัน ยังสามารถเข้าเรียนออนไลน์ ได้จากที่บ้าน และที่อื่น ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งยังเข้าถึงข้อมูลความรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาของภาครัฐ ตลอดจนวัดและประเมินผลการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือ Vlive ที่จะเป็นตัวช่วยเข้ามาสร้างความบันเทิงจาก TrueID TrueID TV จนถึงบริการอีคอมเมิร์ซจาก Wemall และ WeShop

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มทรูได้มีการปรับแพ็กเกจการใช้งานแบบ 4G+ Max Speed Unlimited ลงมาเหลือ 899 บาท นาน 6 เดือน ส่วนนักเรียนนักศึกษาจะอยู่ที่ 699 บาท นาน 12 เดือน เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้งานกับ VWork และ VLearn

ในส่วนของลูกค้าเติมเงิน จะมีซิมพิเศษความเร็ว 4 Mbps ให้ใช้งานไม่จำกัด 3 เดือนราคา 450 บาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มแพ็กเสริมวิดีโอคอลฯ ให้ใช้งาน Cisco WebEX Office 365 Google Hangout meet และ Tencentcard Meeting ได้ไม่เสียค่าเน็ตเดือนละ 99 บาท

ขณะที่ทรูออนไลน์ที่ให้บริการเน็ตบ้าน ได้เพิ่มแพ็กเกจเริ่มต้น 50 Mbps เดือนละ 199 บาท (3 เดือนแรก 99 บาท) และ 100 Mbps 299 บาทต่อเดือน เข้ามาช่วยหนุนให้ประชาชนทำงานจากที่พักอาศัยแทนการออกไปข้างนอก ส่วนแพลตฟอร์มความบันเทิงอย่าง TrueVision ได้มีการอัปเกรดให้ลูกค้ารับชมแพ็กเกจที่สูงขึ้นฟรี 60 วัน ส่วน TrueID เปิดให้ลูกค้าใช้โทรฟรี 60 นาทีต่อเดือน

***ดีแทค ช่วย SMEs ให้อยู่รอด


โอเปอเรเตอร์รายสุดท้ายอย่าง dtac นอกจากมีการแสดงความห่วงใยถึงลูกค้าทุกคนแบบน่ารักด้วยการเปลี่ยนข้อความแสดงข้อมูลเครือข่ายให้กลายเป็น dtac-t Staysafe เพื่อให้คนไทยร่วมกันอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19


ในฝั่งของลูกค้าองค์กรธุรกิจ ก็มีการออกโซลูชัน 'วิกฤตโควิด ธุรกิจต้องรอด' ด้วยการนำเสนอแพ็กเกจตามความต้องการของลูกค้าองค์กร ที่มักจะมีความกังวลในการใช้งานอยู่ 2 เรื่องหลัก คือความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ต และความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อมีการเข้าถึงเครือข่ายของบริษัทจากการเชื่อมต่อภายนอกองค์กร

เพื่อให้ข้อมูลในการเชื่อมต่อปลอดภัย ดีแทค จึงได้นำโซลูชัน NetFoundry ที่มีลักษณะเป็นคลาวด์โซลูชัน ที่เข้าไปทำหน้าที่เครือข่ายเสมือนที่มีความปลอดภัยของข้อมูล (Virtual Private Network) หากมีการเข้าถึงข้อมูลสำคัญจากระบบเชื่อมต่อภายนอกองค์กร

จุดเด่นของ NetFoundry คือมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเพิ่มลดจำนวนผู้ใช้งานได้ตามความต้องการ และติดตั้งใช้งานได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อเครือข่ายที่มีความปลอดภัย

โดยแพ็กเกจที่ ดีแทค นำเสนอในช่วงนี้คือ แพ็กเสริมอินเทอร์เน็ต 30GB และ 60 GB ต่อเดือน นาน 6 เดือน ในราคา 199 บาท และ 299 บาท ตามลำดับ ส่วน NetFoundry อยู่ที่ 99 บาทต่อผู้ใช้ ต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น