กลุ่มทรู รายงานกำไรสุทธิ 5.6 พันล้านบาท ในปี 2562 ทรูมูฟ เอช โตเด่นสุดเหนืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าเป็นผู้นำ 5G และบริการด้านดิจิทัลครบวงจร เสริมความแข็งแกร่งจากการชนะประมูลคลื่นที่ดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุดทั้ง 2600MHz และ 26GHz
กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ผลักดันกำไรสุทธิปี 2562 เป็น 5.6 พันล้านบาท โดยกำไรจากการดำเนินงานซึ่งไม่รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เติบโตเป็น 4.7 พันล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนประมาณ 1.0 พันล้านบาทในปีก่อน ผลประกอบการที่เติบโตสูงขึ้นนี้มาจากรายได้ของทรูมูฟ เอช ที่เพิ่มสูงเหนืออุตสาหกรรมที่ 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ด้วยฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.4 ล้านรายในปี 2562 พร้อมเดินหน้านำคลื่นความถี่ใหม่ที่ประมูลได้มาอย่างคุ้มค่าตามแผนที่วางไว้ทั้งคลื่นย่าน 2600MHz และ 26GHz มาเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มทรูในฐานะผู้นำเครือข่ายที่ดีที่สุด
โดยปัจจุบัน ทรูเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีคลื่นครบมากสุดในอุตสาหกรรม และครอบคลุมถึง 7 ย่านความถี่ ผนวกกับการมีพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศและระดับโลก รวมถึงระบบนิเวศด้านดิจิทัลของกลุ่มทรูที่ครอบคลุมและครบครัน จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าชาวไทยในยุคปัจจุบันได้โดดเด่นและเหนือกว่า ทั้งนี้ ทรูเดินหน้าสู่การจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผล 3.0 พันล้านบาท คิดเป็น 0.09 บาทต่อหุ้น โดยจะนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้
นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า ผลประกอบการและกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มทรูในปี 2562 เป็นผลมาจากรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาส 4 ปี 2562 รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มทรูเติบโตแข็งแกร่ง 11.3% จากปีก่อนและ 3% จากไตรมาสก่อน อีกทั้งธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตยังคงเติบโตแม้การแข่งขันยังคงอยู่ในระดับที่สูง อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการเพิ่มคุณภาพและประสบการณ์ในการใช้บริการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการอัปเกรดความเร็วและเทคโนโลยี รวมถึงอุปกรณ์ล้ำสมัย
ในขณะที่ คอนเทนต์คุณภาพสูงและเอ็กซ์คลูซีฟของทรูวิชั่นส์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของกลุ่มทรูได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบนิเวศและบริการด้านดิจิทัลที่ครบครันของทรูดิจิทัลกรุ๊ปเป็นจุดแข็งและกุญแจสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับกลุ่มทรู โดยเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลและสิทธิประโยชน์ของกลุ่ม พร้อมสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งรายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์และการโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัล อีกทั้งการใช้ big data หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (analytics) ทำให้กลุ่มทรูเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่กลุ่มทรูมีผลการดำเนินงานและตัวเลขทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีฐานลูกค้าที่เติบโตสูงทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต รวมถึงกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2562 อันเป็นผลจากการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก
โดยกลุ่มทรูได้วางรากฐานด้านเครือข่ายคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาตลอด ทั้ง FTTx และ 4G พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5G รวมถึงบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ครบครัน ทั้งนี้ การได้คลื่นความถี่ย่าน 2600MHz และ 26GHz จากการประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งทำให้กลุ่มทรูได้ “คลื่นที่ดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุด” มาเสริม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเครือข่ายด้วยจุดเด่นทั้งเรื่องความครบครันและครอบคลุมของคลื่นความถี่
ทรูมูฟ เอช เติบโตเหนืออุตสาหกรรมทั้งในด้านรายได้และฐานผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 11.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 4 และ 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 7.77 หมื่นล้านบาทในปี 2562 นับเป็นการเติบโตที่สูงกว่าอุตสาหกรรมติดต่อกันเป็นปีที่เจ็ด
โดยทรูมูฟ เอช เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่มีฐานผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้นสุทธิในระหว่างปี ทำให้มีรายได้จากบริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้นแม้สภาวะการแข่งขันยังคงอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ในปี 2562 ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 1.4 ล้านราย ส่งผลให้ฐานลูกค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 30.6 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน 8.3 ล้านรายและลูกค้าระบบเติมเงิน 22.3 ล้านราย
ในส่วนของทรูออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งให้กับความเป็นผู้นำบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพและประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในระดับกิกกะบิต หรือ 1Gbps ผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี Gigatex Fiber Router และโซลูชัน Premium Mesh WiFi รวมถึงแคมเปญร่วมกับกล่อง TrueID TV ที่นำเสนอพรีเมียมคอนเทนต์และบริการแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลายของผู้บริโภคได้ตรงใจ
ส่งผลให้ทรูออนไลน์ มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รายใหม่สุทธิสูงที่สุดในอุตสาหกรรมหรือเพิ่มขึ้นสุทธิกว่า 320,000 ราย ผลักดันให้ฐานลูกค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ล้านรายและรายได้บรอดแบนด์เติบโตเป็น 2.59 หมื่นล้านบาทในปี 2562 หนุนโดยรายได้ในไตรมาส 4 ที่เติบโตสูงขึ้นในอัตรา 5.2% จากปีก่อน แม้ในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันด้วยการให้ส่วนลดเพื่อดึงจูงใจลูกค้า
ส่วนทรูวิชั่นส์ มุ่งนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพชั้นนำและเอ็กซ์คลูซีฟหลากหลาย โดยเฉพาะลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแพลตฟอร์มและบริการอื่น ๆ ของกลุ่มทรู พร้อมตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้งานผ่านช่องทางออนดีมานด์ ช่องทางออนไลน์และช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2562 ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4 ล้านรายและมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท
สุดท้ายทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่นับเป็นจุดแข็งและสร้างความแตกต่างให้กับกลุ่มทรู โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง TrueID ได้รับการตอบรับอย่างสูงและมีฐานผู้ใช้บริการต่อเดือนที่เติบโตกว่าสองเท่าจากปีก่อนเป็น 24.6 ล้านราย ทั้งนี้ จำนวนการสมัครดูคอนเทนต์ทรูไอดีเติบโตแข็งแกร่งกว่า 56% จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ กล่องทรูไอดี ทีวี มียอดขายกว่า 5 แสนกล่อง ณ สิ้นปี หลังจากเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2562 ขณะที่ระบบสิทธิประโยชน์และสะสมแต้มทรูพอยท์สำหรับลูกค้าทรู ภายใต้ทรูยู ช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างแบรนด์กับลูกค้าและสร้างฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยังได้เปิดตัวบัตร ทรู ดิจิทัล การ์ด (True Digital Card) โดย ณ สิ้นปี 2562 ได้มีลูกค้าเปิดใช้งาน ทรู ดิจิทัล การ์ด แล้วกว่า 250,000 ใบ
กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน มุ่งมั่นพัฒนาและนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเพิ่มจำนวนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการได้กว่า 237,000 อุปกรณ์ คิดเป็นการเติบโตกว่า 50% จากปีก่อน โดยกลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่นได้พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายแบบครบวงจรในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมภาคการเกษตร (Agriculture) อุตสาหกรรมภาคการค้าปลีก (Retails) อุตสาหกรรมภาคการผลิต (Manufacturing) อุตสาหกรรมด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (Logistics) และอุตสาหกรรมภาคสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare)