สตาร์ทอัปไทยสายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา “โกลบิช” (Globish) ประกาศแผนธุรกิจปี 63 ระบุ 5G จะหนุนตลาดเรียนสดออนไลน์หรือไลฟ์เลิร์นนิงให้สดใสยิ่งขึ้นในตลาดไทย รวมถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษและไวรัสระบาดที่มีโอกาสดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกคอร์สออนไลน์ให้บุตรหลานไม่ต้องเดินทางไปเรียนตามห้างมากขึ้น คาดปัจจัยบวกผลักดันให้ธุรกิจเรียนสดออนไลน์ภาษาอังกฤษของโกลบิชเติบโตขึ้นอีก 120% ปีนี้ ตั้งเป้าพัฒนาคนไทยเกิน 1 แสนคนภายใน 5 ปี
นายธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า Globish ในปี 2562 ที่ผ่านมามีสถิติการเติบโตขึ้นกว่าปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 190% รายได้ขยายตัวจาก 5.7 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 97.8 ล้านบาทในปี 62 ปัจจัยหนุน 4 ด้านหลักคืออินเทอร์เน็ตที่ทำให้คลาสไม่ล่มและเสถียรจนทำให้การเรียนสดทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่าย การขยายทีมครูหลากเชื้อชาติจากช่วงแรกมีเฉพาะชาวฟิลิปปินส์ การเปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และการยืดหยุ่นในการเลือกหลักสูตรสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“ที่เราเติบโตได้แบบนี้แปลว่าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้า และล้อไปกับเทคโนโลยี เชื่อว่าถ้า 5G มาก็จะดีขึ้นอีก ที่ผ่านมาเรามีคลาสเรียนต่อวัน 300-400 คลาส ทั้งปี 62 รวม 88,000 คลาส สถิตินี้ยังไม่มีใครทำได้ในประเทศไทย ใครบอกว่าคนไทยไม่ชอบเรียน ไม่จริงนะครับ แต่ค้องเจอครูที่ใช่ ในเวลาที่ชอบ”
โกลบิชหรือ Globish นั้นเป็นสตาร์ทอัปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียน “ห้องเรียนภาษาอังกฤษแบบเรียนสด” หรือ Live English Classroom รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โกลบิชได้รับเงินทุนก้อนแรกจากตัน อิชิตัน และอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผ่านการปรับองค์กรและลงทุนโดยกลุ่มทุนใหญ่หลายรายเช่นธนาคารออมสินที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น มีทีมพัฒนาระบบออนไลน์เลิร์นนิ่งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย มีพันธมิตรเป็นแพลตฟอร์มเรียนสดในต่างประเทศทำให้สามารถแบ่งปันอาจารย์ 2,000 คนและทรัพยากรอื่นร่วมกันได้
เทรนด์ปี 63 ที่เชื่อว่าจะสนับสนุนโกลบิชให้เติบโตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนคือ 1. สถานการณ์ปัจจุบันที่หนุนให้การเรียนที่บ้าน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นที่นิยมมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าทั้งจีนและเวียดนามที่มีปัญหามลพิษ การเรียนไลฟ์เลิร์นนิ่งขยายตัวเพราะช่วยให้ประชาชนปรับตัวได้ดี 2. สภาพเศรษฐกิจที่จะดันให้คนทำงานต้องการพัฒนาตัวเอง ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงความจำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพตัวเอง
“ปีนี้เรามีเป้าหมายทำรายได้ 220 ล้านบาท เรามีแผนสร้างโปรดักต์ที่เข้าถึงกลุ่มคนที่ใหญ่มากขึ้น หวังว่าจะขยายคลาสเป็น 250,000 คลาสในปีนี้ อยากเข้าถึงกลุ่มพนักงานกลุ่มใหม่ และผู้ปกครองกลุ่มใหม่”
โกลบิชสามารถทำเงินมหาศาลได้จากการจับกลุ่มคนทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ กลุ่มลูกค้าใหญ่ของโกลบิชปี 62 คือผู้ใหญ่ 90% และเด็ก 10% ฐานลูกค้าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจและการเงิน รองลงมาเป็นพนักงานขาย วิศวกรสถาปนิก แพทย์และพยาบาล ทำให้ปีนี้โกลบิชมีเป้าหมายพัฒนาคอร์สภาษาอังกฤษที่เจาะกลุ่มแต่ละอาชีพมากขึ้น
ในมุมพฤติกรรมผู้เรียน โกลบิชชี้ว่านิยมเรียนบนโทรศัพท์มือถือมากที่สุด 50% อีก 45% เรียนผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ที่เหลือเรียนผ่านแท็บเล็ต สถิตินี้ทำให้เชื่อว่า 5G ที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วแรงขึ้น จะทำให้โกลบิชได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะแผนการใช้ระบบวิเคราะห์ภาพ เสียง และใบหน้าบนแพลตฟอร์ม เพื่อประเมินการขยับของคิ้ว มุมปาก การเว้นวรรคระหว่างการพูดของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้โกลบิชวัดผลช่องว่างของเสียงได้ ทำให้มีโอกาสจะนำระบบเข้ามาใช้ได้ในอนาคต
อีกจุดคือเทคโนโลยี AR ที่โกลบิชเชื่อว่าจะช่วยให้ตลาดโตได้อีก คือผู้เรียนสามารถใส่แว่น เพื่อให้เหมือนว่าอยู่ท่ามกลางสถานการณ์จริง ทำให้ฝึกสั่งกาแฟในร้านกาแฟในนิวยอร์ก หรือฝึกพูดภาษาอังกฤษในห้องประชุมเสมือนจริง เชื่อว่า AR จะเกิดกับกลุ่มเด็กนักศึกษาก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ชอบความสนุก และไม่กลัวการพูดผิด
จากที่มีฐานลูกค้าองค์กรราว 100 บริษัท โกลบิชต้องการดึงองค์กร 300 บริษัทให้ส่งพนักงานมาเรียนภาษาอังกฤษกับโกลบิชในปีนี้ ความหวังหลักคือกลุ่มบริษัทในอาเซียน และมีแผนขยายธุรกิจไปยังตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงอุชเบกีชสถานซึ่งเป้นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่แต่มีผู้ใช้ภาษาอังกฤษน้อย
โกลบิชยังทำโครงการเพื่อสังคม ด้วยการเข้าถึงเด็กและโรงเรียนในชนบทที่ขาดโอกาสเรียนภาษาอังกฤษ มีการลงพื้นที่อำเภอตากใบ ทำโครงการให้ครูภาษาอังกฤษสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ บนความหวังว่ายิ่งโกลบิชเติบโตเท่าใด ก็ยิ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น
“เราตั้งเป้าระดมทุนปีนี้ 240-250 ล้านบาท จากที่เคยระดม 40 ล้านบาท เราตั้งใจโฟกัสงบการตลาดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและขยายตลาด อีกส่วนจะเน้นขยายหลักสูตร ขณะนี้เรายังไม่กำไรแต่มีกระแสเงินสดเป็นบวก เรามีแผนขยายไปเป็นห้องเรียนภาษาจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่อาจเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทอื่น ไม่ได้จากหน้าเว็บ Glowbish”
นางสาวชื่นชีวัน วงษ์เสรี เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่าความท้าทายของตลาดไลฟ์เลิร์นิ่งไทยคือค่านิยม และคนไทยหลายคนยังมองอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องความบันเทิงมากกว่า ทำให้ยังไม่เห็นภาพการเรียนบนออนไลน์ที่ชัดเจน
“เราไม่เน้นการจับคู่ครูและนักเรียน และไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่นที่เรียนผ่านสไกป์ เราไม่ทำเป็นอีเลิร์นนิ่งแบบดูวิดีโอเพราะมันไม่สนุก ค่าเรียนเฉลี่ยของนักเรียนในระบบคือ 5,000 บาทต่อเดือน สาเหตุที่ค่าเรียนแพงขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายครูที่เราคัดเลือกมา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่โซนยุโรป”
ชื่นชีวันเล่าว่าระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ปี จากเริ่มที่ต้นเน้นการแปลทีละประโยค สู่ช่วงปีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเน้นการฝึกพูดให้เหมือน ทำให้เกิดแนวคิดเน้นสำเนียงจนเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการจับกลุ่มเพื่ออภิปราย ข้อเสียคือบางคนนิสัยขี้อายไม่กล้าพูด ทั้งหมดนี้ทำให้โกลบิชปรับหลักสูตรให้เน้นการเรียนที่เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ขณะเดียวกันก็มีหลักสูตรให้ครูทราบได้ว่านักเรียนเก่งหรืออ่อน ทำให้เนื้อหาใกล้กับนักเรียนมากขึ้น ขณะที่นักเรียนสามารถเลือกครูที่ชอบได้ และเลือกเวลาที่ต้องการเรียน ส่วนใหญ่เลือกเรียน 1-3 ทุ่ม
“เราเอาเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เรียนสดโดยที่ครูอยู่ที่ไหนก็ได้ของโลก มีแบบตัวต่อตัว เรียนแบบกลุ่ม เรียนแบบนานาชาติ เพราะเราเลือกไม่ได้ว่าจะต้องคุยกับเจ้านายสัญชาติไหน สามารถเลือกหัวข้อที่เรียนได้ เมื่อเรียนแล้วมีเวิร์กช็อป ให้นักเรียนพบกันจริงตามสถานที่บริเวณแนวรถไฟฟ้า ตอนนี้เรามีทีมงาน 100 กว่าคน อยากให้คนไทยสามารถคว้าโอกาสได้ ทั้งเลื่อนขั้น และการติดต่อสื่อสาร”
การติดต่อสื่อสารถือเป็น 1 ใน 3 ทักษะที่คนทำงานยุคนี้ต้องเรียนรู้ในเทรนด์ S-Curve เพื่อพัฒนาตนเองและธุรกิจในทศวรรษใหม่ อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นหัวใจในการพัฒนาทักษะทั้ง 3 คือทักษะการเรียนรู้ ทักษะความเข้าใจ และทักษะการใช้ชีวิตนั้นยังเป็นปัญหาของคนไทย เพราะการสำรวจล่าสุดพบว่าระดับทักษะทางภาษาอังกฤษของประเทศไทยตกอันดับลงตลอด 3 ปีซ้อน ลงมาอยู่อันดับที่ 74 จาก 100 ประเทศ
ตัวเลขนี้ทำให้ไม่แปลกใจที่ผลสำรวจจากธนาคารกสิกรไทยช่วง 2-3 ปีที่แล้ว พบว่ามูลค่าตลาดการเรียนภาษาอังกฤษของไทยพุ่งสูงเกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากตัดการเรียนเพื่อสอบทิ้งไป การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารจะมีมูลค่าราว 4 พันล้านบาท ซึ่งโกลบิชเชื่อว่ารายได้ 97.8 ล้านบาทที่ทำได้ในปี 62 เทียบได้กับการคว้าส่วนแบ่งตลาด 100 ล้านบาทจากตลาดรวม 4,000 ล้านบาท.