xs
xsm
sm
md
lg

เฟซบุ๊กยันเงินสะพัดโซเชียลคอมเมิร์ซไทยสดใส มองไวรัสระบาดกระทบแค่การผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จอห์น แวกเนอร์ (ขวา) ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทยและ ดิเรก เกศวการุณย์ (ซ้าย)
เฟซบุ๊ก (Facebook) ยืนยันยังไม่เห็นการใช้จ่ายในวงการโซเชียลไทยที่ลดลงแบบมีนัยสำคัญในช่วงที่หลายคนกังวลเรื่องพิษเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยอมรับอาจจะมีผลโดยตรงเรื่องห่วงโซ่การผลิตที่ต้องรอรับสินค้าจากจีน มั่นใจเทรนด์ที่เกิดขึ้นคือโซเชียลมีบทบาทสำคัญในวันที่ผู้คนออกจากบ้านน้อยลง

จอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเปิดเผยผลการศึกษาใหม่ล่าสุดเรื่องผู้บริโภคชาวดิจิทัลในประเทศไทย ว่าแม้ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะส่อเค้ารุนแรงจนทุกฝ่ายเป็นกังวล แต่ในขณะนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจะเกิดผลกระทบด้านใดโดยเฉพาะ

“เรายังติดตามเผ้าดูอยู่ ที่เราแน่ใจคือ เรายังไม่เห็นการใช้จ่ายที่ลดลง สะท้อนว่าเทรนด์ในขณะนี้คือโซเชียลยังมีความสำคัญ เพราะก่อนการเดินทางไปสถานที่ไหน ผู้คนก็จะตรวจสอบบนโลกออนไลน์ก่อน ตรงนี้ยังเป็นโอกาสให้แบรนด์นำเสนอบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้คนที่ไม่ได้ออกจากบ้าน”

จอห์น แวกเนอร์
สำหรับการศึกษาฉบับใหม่ล่าสุดของเฟซบุ๊กนั้นเป็นการจัดทำร่วมกันกับบริษัทเบน แอนด์ คอมพานี การศึกษาพบว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (ข้อมูลปี 61) จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนตลาดออนไลน์อย่างเข้มข้นในปี 68 โดยการสำรวจเรียกคนกลุ่มนี้ว่าผู้บริโภคชาวดิจิทัลซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 58% ของประชากรอาเซียน เบื้องต้นมีการประเมินว่ากลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 310 ล้านคนในปี 68 คิดเป็นอัตราการเติบโต 60% เมื่อเทียบกับ 250 ล้านคนในปี 61

ยอดการใช้จ่ายออนไลน์ของตลาดไทยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย การประเมินพบว่าค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยของผู้บริโภคไทยจะเพิ่มขึ้น 4.9 เท่าภายในปี 68 นำโด่งเมื่อเทียบกับตัวเลขใน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คิดเป็นอัตราเติบโต 3.2 เท่า บนมูลค่าเฉลี่ย 390 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 1,200 บาท)

ตลาดเปลี่ยนชัวร์

นัยสำคัญของตัวเลขเหล่านี้คือพฤติกรรมของตลาดออนไลน์ที่จะเปลี่ยนไป การสำรวจ 1,954 คนจากจังหวัดนอกกรุงเทพฯอย่างลำปาง ลำพูน และอีกหลายจังหวัดในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างรวม 12,965 คนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พบว่า 71% ของนักช็อปไทยไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรขณะไล่ดูสินค้า และต้องการดูสินค้าไปเรื่อยๆก่อนตัดสินใจซื้อ โดย 60% ของนักช็อปไทยไม่ติดแบรนด์ และเปิดใจกว้างเลือกซื้อสินค้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งทุกประเทศในอาเซียนมีสัดส่วนเกิน 50% ทั้งหมด

“เป็นตัวเลขที่สูงมาก แปลว่าแบรนด์ดั้งเดิมพร้อมที่จะถูกดิสรัปชั่น เพราะผู้คนเปิดรับเพื่อลองใช้ลองซื้อสินค้าใหม่”

ดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์ บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี มองการสำรวจครั้งนี้เป็นสัญญาณชัดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย และจะเป็นคลื่นดิจิทัลที่เกิดขึ้นเร็วจนส่งแรงกระเพื่อมวงกว้าง ทำให้การสำรวจนี้ถูกขนานนามว่า Riding the Digital Wave

ดิเรก เกศวการุณย์
“การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดในไทย คือสถิติผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้งในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนมากกว่า 60% แล้ว แปลว่าส่วนใหญ่คุ้นเคยกับร้านออนไลน์ เชื่อว่าสัดส่วนนี้จะมากขึ้นไปอีก” ดิเรกระบุแต่ปฏิเสธว่าไม่มีการประเมินว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็นเท่าใดในปี 63

ออนไลน์คอมเมิร์ซไทยโตรองจากเวียดนาม

อีกสิ่งที่โดดเด่นในตลาดไทย คือการสำรวจที่ชี้ว่านักช็อปส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร จึงเป็นที่มาของพฤติกรรม “การค้นพบ” ซึ่งการสำรวจระบุว่าเป็นยุคของ Discovery Generation ความนิยมใช้สื่อโซเชียลแปลว่าผู้บริโภคไทยพร้อมค้นหา ขณะที่มีหลายปัจจัยเอื้อให้เกิดการชำระเงินที่ง่าย ทั้งการจ่ายที่ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต และอีกหลายโซลูชั่นที่พร้อมทำให้เกิดอีคอมเมิร์ซเกิดในเมืองไทย โดยการสำรวจที่ครอบคลุมทั้งอาเซียนนี้ เห็นชัดว่าประเทศไทยโดดเด่นใน 3 ด้าน หนึ่งในนั้นคือมูลค่าออนไลน์คอมเมิร์ซไทยที่จะเติบโตเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค

“เห็นชัดว่าประเทศไทยเป็นที่ 1 ในบางด้าน หนึ่งคือเราเป็นเด่นเรื่องมูลค่าออนไลน์คอมเมิร์ซ คาดว่าจะเติบโตราว 5 เท่าตัว เป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนามที่โต 6 เท่าตัว สัดส่วนนี้ถือว่าสูงมาก สองคือผู้บริโภคไทยไม่ใช่แค่คนเข้าแอป แต่เป็นคนใช้โซเชียลที่โต้ตอบและเข้าถึงแบรนด์ผ่านโซเชียล ซึ่งเราเป็นอันดับ 1 สามคือคนไทยใจกล้าง ที่พร้อมลองสินค้าแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยได้ยิน โดย 58% ของผู้บริโภคไทยพร้อมลองใช้และซื้อแบรนด์ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน สูงเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่อยู่แค่ 39%”

ประเด็นนี้ ผู้บริหารเฟซบุ๊กเสริมว่าการสำรวจนี้สะท้อนถึงความจำเป็นที่แบรนด์ต้องทำตัวให้น่าค้นหา ขณะเดียวกันก็ควรใช้เครื่องมือในการนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มต้องการ ซึ่งเพียงสร้างแคตาล็อกสินค้า เทคโนโลยี AI ของเฟซบุ๊กก็จะส่งโพสต์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

“หากเป็นแบรนด์เล็ก จะต้องสร้างตัวตนและการมีอยู่บนออนไลน์เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับแบรนด์ที่กำลังสร้างตัว การสำรวจพบว่าคนไทยคุ้นเคยกับการที่แบรนด์ทักแชตไปสนทนา โดย 40% ของคนไทยยอมรับวิธีการนี้ ถือเป็นสัดส่วนสูงกว่า 8 เท่าเมื่อเทียบกับชาวสหรัฐฯที่ยอมรับเพียง 5% แปลว่าคนไทยมีโอกาสได้รู้จักแบรนด์ใหม่มากขึ้น”

จอห์นยอมรับว่าความท้าทายยิ่งใหญ่จะตกอยู่กับแบรนด์ใหญ่ เพราะมีโอกาสที่จะโดนแบรนด์เล็กกินส่วนแบ่งตลาดไปในอนาคต ผู้บริหารระบุว่าแบรนด์ใหญ่เหล่านี้ต้องคิดใหม่เพื่อไฮไลท์คุณภาพ สินค้าและส่วนประกอบอื่นให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสิ่งใหม่ ทำให้การส่งสารการทำการตลาดต้องเปลี่ยนไป

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่ออำนวยความสะดวกรอบด้านให้ลูกค้า ซึ่งเป็นนโยบายเดิมที่ดำเนินการมาตลอด

“วัตถุประสงค์ในการลงทุนทุกครั้งของเฟซบุ๊ก คือการช่วยให้ผู้ใช้ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งการทำมาร์เก็ตเพลส และการร่วมมือกับธนาคารไทยที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น“.


กำลังโหลดความคิดเห็น