xs
xsm
sm
md
lg

ส่องธุรกิจ 'กลุ่มสามารถ' ในยุคจำกัดความเสี่ยง มุ่ง ลงทุนธุรกิจเติบโตสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้ามองปีที่ผ่านมาของ 'กลุ่มสามารถ' คือปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจเน้นการวางรากฐานธุรกิจใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2020 ในการสร้างความมั่นคงให้แก่บริษัท พร้อมกับตั้งเป้าหมายรายได้ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เริ่มมองเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นในการหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมจากงานประมูลของภาครัฐที่แต่เดิมเป็นรายได้หลักของธุรกิจเสมอมา

รูปแบบการทำธุรกิจของกลุ่มสามารถในปีนี้ จะเริ่มแสดงให้เห็นถึงการเข้าไปจับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการให้บริการไอทีโซลูชันแก่ภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของธนาคาร การวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล บริการดูแลไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่กลายเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญ

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มอธิบายให้เห็นทิศทางของกลุ่มสามารถในปีนี้ว่า จะไม่ได้มองที่ธุรกิจซื้อมาขายไปเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่จะเน้นเข้าไปติดตั้งระบบ ให้บริการในลักษณะของโซลูชัน พร้อมบริการหลังการขายที่ก่อให้เกิดรายได้ระยะยาวมากขึ้น

'ทิศทางของบริษัทในตอนนี้ค่อนข้างเห็นชัดอยู่แล้ว อะไรที่ไม่ชำนาญ หรือมีความเสี่ยง อย่างธุรกิจมือถือที่ก่อนหน้านี้ตัดสินใจยุติการให้บริการ ก็เป็นการตัดสินใจไปเพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็มองถึงธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างการที่ต้องเข้าไปในกลุ่มของ IoT การเชื่อมต่อทำให้ออนไลน์ กับอุปกรณ์ต่างๆ'

โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถ ได้เริ่มปรับแนวทางในการทำตลาดของ สามารถเทลคอม (SAMTEL) ให้เกิดการสร้างรายได้ในระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากเทรนด์ในการลงทุนระบบไอทีปัจจุบัน องค์กรธุรกิจให้ความสนใจกับการเอาท์ซอร์สพนักงานไอทีที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นการสร้างรายในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่รายได้หลักของกลุ่มสามารถ กว่า 75-80% ยังมาจากหน่วยงานภาครัฐ ที่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และธนาคารรัฐ ดังนั้นในปีนี้จึงต้องหันมามองตลาดองค์กรธุรกิจเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อสภาพเศรษฐกิจยังไม่นิ่ง การลงทุนจากภาครัฐอาจสะดุดได้ แต่ในมุมของภาคเอกชนยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ก็ยิ่งจำเป็นต้องลงทุนไอที เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

'ปีที่แล้วถือเป็นการวางพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน ทำให้มีการวางกลยุทธ์ใหม่เป็น ONE Goal Unlimited Solutions ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกธุรกิจเป็นสามารถเทลคอม สามารถดิจิทัลแล้ว แต่จะเป็นการผนึกกำลังกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน'


เนื่องจากปัจจุบันแต่ละธุรกิจที่ขยายออกไปค่อนข้างกว้าง ทำให้เมื่อมีการรวมกลุ่มกันเพื่อให้บริการจะสามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้มากขึ้น โดยปัจจุบันกลุ่มสามารถให้บริการโซลูชันที่ครอบคลุมทั้ง สนามบิน การจัดการจราจรทางอากาศ ธนาคาร อีเพย์เมนต์ สาธารณูปโภค อีเลิร์นนิ่ง ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ระบบวางแผนและบริหารจัดการภายในองค์กร (ERP) จนถึงดิจิทัล โซลูชันต่างๆ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ และมีความต้องการในตลาดนี้

'กลุ่มสามารถมองการทรานฟอร์มธุรกิจที่เกิดขึ้นกับองค์กร และภาครัฐในเวลานี้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะนำโซลูชันที่เหมาะสมเข้าไปนำเสนอตามความต้องการ ทำให้เกิดการตั้งเป้ารุกธุรกิจออกมาเป็น 3 ส่วนหลักๆ ให้มีทั้งรายได้ประจำ และโอกาสเติบโตที่สูงต่อไปในอนาคต'

***รุก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก


เดิมกลุ่มสามารถ จะแบ่งโครงสร้างในการทำธุรกิจออกตามบริษัทลูก อย่างธุรกิจไอซีที ที่นำโดย สามารถเทลคอม ตามด้วยธุรกิจดิจิทัลทั้งเน็ตเวิร์ก คอนเทนต์ กีฬา การลงทุนสตาร์ทอัป และ IoT ภายใต้ สามารถ ดิจิตอล สุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภค ภายใต้ สามารถ ยูทรานส์

แต่มาในปีนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ (High Demand Solutions for Critical Infrastructure) ที่จับภาคการเงิน การธนาคาร ที่เข้าไปให้บริการติดตั้งระบบ Core Banking, Payment Service , Data Center for Banks จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท

ต่อด้วย Airport Solutions จากโครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) และระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท ธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้บริการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการที่ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2562 จะบังคับใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท

สุดท้ายคือ Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic , IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย , การรถไฟแห่งประเทศไทย และอื่นๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท และยังรวมถึงในส่วนของธุรกิจดิจิทัล ทรังก์ เรดิโอ ที่ติดตั้งสถานีฐานให้บริการครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ และเริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น

2.กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (High Recurring Rev. Projects) โดยในปี 2019 กลุ่มสามารถมีรายได้ประจำอยู่ที่5,400 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของสายธุรกิจ ICT ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ท่าอากาศยานไทย ธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น

3.กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง (High Future Growth Business) ที่มีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) และการนำสายไฟลงดิน (Underground Cable) รวมถึงธุรกิจด้านพลังงาน (Solar Energy)

วัฒน์ชัยกล่าวว่าในปีนี้ กลุ่มสามารถจะนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ

โดย SAV ถือสัดส่วนร้อยละ 100.00 ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี จากการเติบโตท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา และเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นลงในสนามบินและเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชาที่เพิ่มขึ้น

'ปี 2020 กลุ่มสามารถตั้งเป้ารายได้ไว้ที่20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเติบโตจากปี 2019 ไม่ต่ำกว่า 40% แสดงให้เห็นภาพของกลุ่มสามารถที่รายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับการเติบโตของกำไรด้วย จากที่เคยขาดทุนในปี 2018 ทำให้เห็นภาพของการพลิกฟื้นธุรกิจที่ชัดเจน'

สำหรับในแง่การปรับตัวของกลุ่มสามารถในปีนี้ จะต้องมีการเร่งเพิ่มทีมงานที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีให้มากขึ้น รวมถึงการที่จะต้องเตรียมให้บริการในเรื่องของ AI และ BIG Data มากขึ้น พร้อมเผยว่าภายในช่วงไตรมาส 1 นี้จะได้เห็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มสามารถที่จะเข้าไปนำเสนอการเปลี่ยนแปลงระบบให้แก่ภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น