xs
xsm
sm
md
lg

ทรู มองการประมูล 5G เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องร่วมผลักดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มทรู มองการเข้าร่วมประมูล 5G ในครั้งนี้ เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้แข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ล่าสุดประกาศความร่วมมือกับมอ. สาธิตการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานทางการแพทย์ และความปลอดภัย

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงความพร้อมของกลุ่มทรูในการเข้าร่วมประมูล 5G หลังจากเข้ารับเอกสารประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ทางกลุ่มทรูกำลังอยู่ในช่วงศึกษารายละเอียดการลงทุนเพิ่มเติม

“คลื่น 2600 MHz และ 3500 MHz ถือเป็นคลื่นหลักที่โอเปอเรเตอร์ในโลกนำมาให้บริการ 5G เพียงแต่ว่าทางกสทช. จะเปิดประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ 2600 MHz ก่อนในช่วงนี้ ประกอบกับการที่พันธมิตรของกลุ่มทรู อย่างไชน่า โมบาย ให้บริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz ทำให้กลายเป็นคลื่นที่น่าสนใจ”

สำหรับคลื่นที่ทางกสทช. นำออกมาประมูลในครั้งนี้ประกอบไปด้วยคลื่น 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยกำหนดวันประมูลไว้ที่ 16 กุมภาพันธ์

“ถ้าประเทศไทยพลาดการลงทุนในยุค 5G ก็จะกลายเป็นพลาดการลงทุนในระยะยาวจากนักลงทุนต่างประเทศที่วางแผนล่วงหน้ากันเป็นสิบๆ ปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค 3G และ 4G ที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มให้บริการก่อน ดังนั้นทรูจึงมองว่าการลงทุน 5G ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน”

เป้าหมายใหญ่ของการประมูลคลื่นความถี่ 5G คือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งถ้าโอเปอเรเตอร์ ที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานไม่ลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มทรูที่ถือเป็น อินฟราสตรัคเจอร์โพรวายเดอร์ของประเทศ ถ้าไม่แสดงบทบาทเป็นผู้นำ การที่จะฝันไกลให้ไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้จะเป็นเรื่องยาก


เบื้องต้น นายพิรุณ มองถึงทิศทางในการนำ 5G เข้ามาให้บริการให้ครบทุกฟังก์ชันทั้งเรื่องของความเร็ว การตอบสนอง และความเสถียร จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 4 ส่วนที่ควรเร่งนำ 5G เข้าไปช่วยไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา กลุ่มธุรกิจสุขภาพและสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตได้

“ประเทศไทยไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้แบบ Early Adopter มาก่อน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ 5G นี้ถือเป็นครั้งแรก ทำให้จากที่ผ่านมารอให้ประเทศอื่นคิดค้น และพัฒนาโซลูชัน และหยิบมาให้บริการ กลายเป็นต้องร่วมพัฒนาด้วย ซึ่งทำให้เป็นความท้าทายของทั้งโอเปอเรเตอร์ ผู้ผลิตเทคโนโลยี และพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ”

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มทรู คือการเข้าไปร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมกับพันธมิตรอย่าง ZTE ยกกรณีศึกษาการนำ 5G มาใช้ทางการแพทย์ โดยนำอุปกรณ์ตรวจเช็กสภาพร่างกาย มาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อย่างหุ่นยนต์ หรือโดรนลาดตระเวน เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เป้าหมายที่เกิดภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุได้ ผ่านโครงข่าย 5G

โดยเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้คนไข้ไม่เสียเวลาในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ในกรณีที่เป็นคนไข้ฉุกเฉิน สามารถนำโซลูชันอย่าง Healthcare Cloud มาช่วยในการส่งต่อข้อมูลคนไข้ตั้งแต่ในช่วงเข้าถึงตัวผู้ป่วย ระหว่างอยู่บนรถฉุกไปยังโรงพยาบาล เพื่อที่โรงพยาบาลสามารถเตรียมความพร้อมในการรักษาได้ทันที

รวมถึงการนำเสนอแนวคิดของการนำ 5G ไปใช้ในเรื่องของ Telemedical และ Telemedicine ทั้งเรื่องของการรักษาผู้ป่วยทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ที่มีความแม่นยำ และความหน่วงในระดับที่ใช้ผ่าตัดได้ ต่อเนื่องไปยังการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยทางไกล


หุ่นยนต์ลาดตระเวนที่ส่งต่อข้อมูลผ่าน 5G

โดรนควบคุมทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ที่สามารถใช้ลาดตระเวนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น