"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช.โชว์ผลงานประมูลคลื่นความถี่ รวมเงินเข้ารัฐแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ตั้งแต่ยุค 4G ปี 2558 แบบข้ามวันข้ามคืน ทะลวงถึงยุค 5G หวังเปิดบริการเชิงพาณิชย์ก่อนญี่ปุ่น คาดนำเงินเข้ารัฐอีก กว่า 54,000 ล้านบาท หนุนปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ
หากถามว่ายากไหม สำหรับการวางแผนการประมูลและการให้ได้มาซึ่งผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จนได้ผู้ชนะและนำเงินเข้ารัฐ "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มักตอบด้วยความมั่นใจทุกครั้งว่า "ทุกเรื่องต้องเป็นไปได้ เพราะผมบริหารความจริง ไม่ใช่ความฝัน" และทุกครั้งการประมูลก็เป็นไปตามแผนที่เลขาธิการกสทช.คนนี้ผลักดัน
ไม่เว้นแม้แต่การประมูลคลื่น 5G ที่แม้ว่าเอกชนจะมีทีท่าว่ายังไม่ถึงเวลาของ 5G แต่สุดท้ายการกำหนดวันและเงื่อนไขการประมูลคลื่น 5G ก็ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เรียบร้อยแล้ว โดยนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 ธ.ค. 2562 เพื่อเดินหน้าเคาะการประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 ที่จะถึงนี้
***ประมูล 4 คลื่น เปิด 5G ก่อนญี่ปุ่น
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากเอกชนถึงความไม่เหมาะสมในการเปิดประมูลคลื่น 5G เร็วเกินไป และอาจเป็นประเทศแรกที่เปิด 5G ก่อนแต่การใช้งานแพงที่สุดในโลก ควรรอคลื่น 3500 MHz มาประมูลด้วย หรือหากประมูลก็ควรประมูลเพียงคลื่นเดียว คือ คลื่น 2600 MHz แต่ก็ไม่ทำให้แผนการประมูล 5G ของ กสทช.ผิดแผนแตกต่างจากเดิมที่วางไว้มากนัก
ทั้งนี้ที่ประชุมกสทช.มีมติให้นำ 4 คลื่นความถี่มาประมูลพร้อมกัน คือ คลื่น 700 MHz,1800 MHz,2600 MHz และ คลื่น 26 GHz โดยหวังให้ผู้ชนะการประมูลรับใบอนุญาตต้นเดือน มี.ค.2563 และวางโครงข่ายพร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์บางพื้นที่ภายในเดือน พ.ค. 2563 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดให้บริการ 5G ได้ก่อนประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดเปิดบริการ 5Gในงานโอลิมปิกเดือ มิ.ย. 2563
***คาดนำเงินเข้ารัฐเพิ่มอีกกว่า 54,000 ล้านบาท
กสทช.คาดว่าจะสามารถนำเงินเข้ารัฐจากการประมูลได้ ประมาณ 54,070 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าคลื่น 1800 MHz จะไม่มีผู้สนใจประมูล ส่วนคลื่นที่ได้รับความสนใจคือ คลื่น 2600 MHz ขนาด 190MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถประมูลได้ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 35,378 ล้านบาท
คลื่น 26 GHz ขนาด 2,700 MHz จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 MHz ราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้จำนวน 4 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 1,692 ล้านบาท และคลื่น 700 MHz ขนาด 15 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 MHz ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 8,792 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้ 2ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่า 17,000 ล้านบาท
"เราต้องเปิดประมูลทุกคลื่น หากถึงวันที่ 4 ก.พ. 2563 คลื่น 700 MHz ไม่มีคนต้องการประมูล เราค่อยนำออกจากการประมูล เพราะ กสท โทรคมนาคม เขาไม่เห็นด้วยที่จะนำออกตั้งแต่แรก ถ้าเขาอยากประมูล กสทช.ก็ไม่ขัด ประมูลล่วงหน้าได้ เพราะคลื่นจะใช้งานได้ในเดือน มี.ค. 2564 หรือ หากท้ายสุดไม่สนใจก็ไม่เป็นไร ส่วนคลื่น 1800 MHz ราคาสูง เพราะเกิดจากการนำราคาสุดท้ายมาตั้ง หากคราวนี้ไม่มีใครสนใจ กสทช.ก็สามารถทบทวนการตั้งราคาเริ่มต้นเพื่อประมูลครั้งต่อไปได้ รวมถึงคลื่น 3500 MHz ที่เอกชนสนใจด้วย หากได้ข้อสรุปเรื่องสัญญาสัมปทานกับกระทรวงดีอีเอส ก็ไม่มีปัญหาที่จะนำมาประมูลต่อได้
*** ปิดทุกข้อจำกัด
ก่อนที่จะเกิดแผนการประมูล 5G ขึ้น "ฐากร" ได้วางแผนการทำงานอย่างมีขั้นตอนมากว่า 2 ปีแล้ว เริ่มจากการอนุญาตคลื่นให้เอกชนและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทดลองใช้งานเพื่อหายูสเคสที่เหมาะสม และสามารถตอบคำถามได้ว่าศักยภาพของคลื่นทำให้เกิดยูสเคสได้หรือไม่ และมีอะไรบ้างที่น่าสนใจก่อนใช้งานจริง
ขณะเดียวกันก็ยังเป็นคนเสนอแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี 5G ไปเสริมศักยภาพการทำงานทั้งด้านอุตสาหกรรม คมนาคม การศึกษา และการสาธารณสุข รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในการประมูลให้สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการกำหนดให้ ผู้ชนะการประมูลคลื่น 2600 MHz ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ อีอีซี ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของ สมาร์ท ซิตี้ ภายใน 4 ปี ทำให้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล และ ผู้ชนะการประมูลสามารถสร้างบริการ 5G ให้เกิดขึ้น มีรายได้จริง เพื่อตอบคำถามที่ว่า "ทำมาแล้วใครจะใช้"
***ย้อนรอยประมูล 4G
ย้อนไป ตั้งแต่ปี 2558 กสทช.ได้เปิดประมูล คลื่น 1800 MHz หรือ คลื่น 4G แบบข้ามวันข้ามคืนเริ่มการประมูลตั้งแต่ 10 โมงเช้า วันที่ 11 พ.ย. 2558 จบวันที่ 12 พ.ย. 2558 เวลา 19.25 น. รวมเวลากว่า 33 ชั่วโมง ทำเงินเข้ารัฐกว่า 80,778 ล้านบาท ผู้ชนะคือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ราคา 39,792 ล้านบาท และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ราคา 40,986 ล้านบาท
ตามมาด้วยการประมูลคลื่น 900 MHz แบบมาราธอนเริ่มการประมูลตั้งแต่ 9 โมงเช้า วันที่ 15 ธ.ค. 2558 จบวันที่ 18 ธ.ค. 2558 เวลา 00.15.น. รวมเป็นระยะเวลา 65 ชม. 55 นาที (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) ทำเงินเข้ารัฐกว่า 151,952 ล้านบาท ผู้ชนะคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคา 75,654 ล้านบาท และ ทียูซี ราคา 76,298 ล้านบาท
ถึงแม้แจส ทิ้งใบอนุญาต แต่ "ฐากร" แก้ปัญหาด้วยการให้ เอดับบลิวเอ็น รับช่วงใบอนุญาตแทน ทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ที่ควรได้
ต่อมาด้วยการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบใหม่ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561 ทำเงินเข้ารัฐกว่า 25,022 ล้านบาท ผู้ชนะคือ เอดับบลิวเอ็น ราคารวม 12,511 ล้านบาท และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
ตามมาด้วยการจัดสรรคลื่น 700 MHz ล่วงหน้า ให้กับทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 ได้เงินกว่า 56,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นแพ็กเกจเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาแก้ปัญหา ทีวีดิจิทัล เพื่อรับเงินเยียวยาหลังคืนใบอนุญาต
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยการผลักดันให้เกิดการประมูล 5G นั้น "ฐากร" ไม่ได้มองเพียงว่า เขามีหน้าที่แค่หาเงินเข้ารัฐ เท่านั้น แต่เขาต้องการให้ประเทศไทยไม่ตกขบวน 5G เพราะเมื่อ 5G เกิดขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในการเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศเป็นประเทศแรกในอาเซียน