กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนามอบทุนต่อเนื่องให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รับลูกไทยแลนด์ 4.0. และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ฯ และอาจารย์ประจำภาควิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าองค์การอนามัยโลกมีการประเมินว่าใน พ.ศ.2583 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และอัตราการเกิดที่น้อยลง จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ
จากการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560–2579) หรือ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 - 2564) ที่เน้นมาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ดูแลตนเองเบื้องต้น และมาตรการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ จึงนับเป็นความท้าทายต่อการวิจัยและพัฒนาในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
"เนื่องจากพบว่า ผู้สูงอายุมักต้องทนทุกข์และเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ประสบปัญหาด้านภาวะอารมณ์ เหงา ว้าเหว่ ถูกละเลยจากสังคมและลูกหลาน และบางกลุ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิง เกิดความทุกข์ใจจากการที่ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือความสามารถในการดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะอารมณ์เชิงลบได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะวิตกกังวล ภาวะเครียดที่จะเป็นภาระกับลูกหลานและอาจส่งผลรุนแรงไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้"
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ และแนวทางในการพัฒนากับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผนวกกับหลักด้านจิตวิทยา เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยเดิมที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้พัฒนา “จับใจ” ระบบหุ่นยนต์โต้ตอบเพื่อเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าบนเครือข่ายสังคม ซึ่งเป็นหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (Chatbot) ที่มีหน้าที่คัดกรองสภาวะโรคซึมเศร้าของผู้ใช้งาน
ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ในการจัดทำโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีระยะเวลการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2563
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ด้วยการประเมินและคัดกรอง และการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามหลักจิตวิทยา พร้อมยังเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ด้วยการบูรณาการระบบการดูแลสุขภาพใจของผู้สูงอายุแบบครบวงจรสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจดี ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงยังเป็นการพัฒนาวงการวิจัย ระบบหุ่นยนต์ , IoT, ปัญญาประดิษฐ์ และจิตวิทยาคลินิกของประเทศไทย และยังก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างการแพทย์กับเทคโนโลยีอีกด้วย
การดำเนินโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มผู้สูงอายุและยังเป็นการยกระดับคุณภาพกับการบริการของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบ แต่ทางทีมพัฒนาได้วางแผนการดำเนินงานไว้เป็นระยะ ในการพัฒนาเนื่องจากเรื่องจิตวิทยาเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและต้องรอบคอบในการดำเนินการ รวมถึงการเก็บข้อมูลแต่ละส่วนเพื่อนนำมาปรับปรุงพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพหุ่นยนต์ให้มีความสมบูรณ์นั้น มีขั้นตอนและรายละเอียดในการดำเนินการมาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยและพัฒนานี้ได้นำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI บูรณาการกับหลักการทางจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทางในเรื่องผู้สูงอายุ เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างระบบหุ่นยนต์ที่เข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ พร้อมทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเข้าถึงจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งยังพูดคุยเล่าเรื่องราวด้วยภาษาไทย
เมื่อทำการพูดคุยกับหุ่นยนต์เพื่อประเมินภาวะอารมณ์แล้ว หุ่นยนต์จะจัดโปรแกรมการดูแลด้านอารมณ์ให้เหมาะกับสภาวะอารมณ์และความต้องการของแต่ละบุคคล (personalize intervention) ในระดับที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะส่งผลให้เกิดอารมณ์ในแง่ลบต่อผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ชูใจยังสามารถประเมินภาวะสภาพจิต ภาวะความจำ และจัดโปรแกรมช่วยฝึกความจำในผู้สูงอายุได้อีกด้วย จึงนับได้ว่าการนำเทคโนโลยีด้าน AI มาผสมผสานร่วมกับองค์ความรู้ด้านจิตวิทยา (psychology) และประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัวและเหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุ
"ผลของงานวิจัยและพัฒนานี้มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้สูงอายุ ให้มีความสุข พึงพิงตัวเองได้ตามสถานะ ช่วยบรรเทาภาระของผู้ดูแล ลดความสูญเสียก่อนเวลาอันควรอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคภาวะอารมณ์ ซึ่งถือเป็นแผนรับมือสังคมผู้สูงอายุที่สนับสนุนให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามโมเดลการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0”
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือและสร้างเครื่องมือ คือ หุ่นยนต์ สำหรับมาดูแลผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการมอบทุนเพื่อทำโครงการพัฒนา “ชูใจ” หุ่นยนต์ดูแลสุขภาพใจผู้สูงอายุสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น