ช้อปปี้ สำรวจร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีรายได้เติบโตกว่า 130% และมากถึง 370% สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีช่องทางขายออนไลน์เต็มรูปแบบ และทำให้รายได้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 82%
อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและไม่มีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
จากผลการวิจัย ‘E-commerce & SMEs: Uncovering Thailand’s Hidden Assets’ ที่จัดทำโดย Sea (Group) ชี้ให้เห็นบทบาทของอีคอมเมิร์ซได้เข้ามาช่วยส่งเสริมชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคม ที่อีคอมเมิร์ซนำมาซึ่งสังคมที่เป็นธรรมสำหรับทุกคนมากขึ้น
โดยรายงานดังกล่าวมาจากการวิจัยผู้ขายและร้านค้าบนช้อปปี้ราว 7,000 ราย เผยผลจากการวิจัยที่สำคัญ 3 ข้อหลัก 1.อีคอมเมิร์ซช่วยขับเคลื่อนรายได้รวมของธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเติบโตขึ้นถึง 133% ของรายได้ทั้งจากร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ และรายได้สามารถเติบโตได้ถึง 369% สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีช่องทางขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว (ซึ่งมียอดขายจากช่องทางอีคอมเมิร์ซมากกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด)
2.อีคอมเมิร์ซช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อทั่วทั้งประเทศ การเจาะตลาดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ของตนเองอีกต่อไป ผู้ขายสามารถทำตลาดในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ซื้อสามารถมองหาสินค้าที่หลากหลายได้จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่สามารถสร้างยอดขายนอกเขตภูมิภาคของตนเองได้เพิ่มมากขึ้นที่สุด
3.อีคอมเมิร์ซให้กำเนิดผู้ประกอบการรายย่อยแบบใหม่ อีคอมเมิร์ซทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ ที่แสวงหาแหล่งรายได้อื่นเพิ่ม โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ 63% เป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบประจำ อาทิ แม่บ้าน นักศึกษา พนักงานบริษัท และ 58% คือไม่ใช่ผู้หารายได้หลักของครอบครัว และเป็นผู้หญิงถึง 75%
ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นที่แตกต่างกันออกไป อาทิ กลุ่มแม่บ้านที่สามารถจัดสรรหาเวลาหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ในขณะที่กลุ่มนักศึกษามีแรงจูงใจสำคัญคือการสร้างธุรกิจของตัวเองได้ง่ายและลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ