xs
xsm
sm
md
lg

YouTube Music ไม่ปฏิวัติวงการเพลง?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กิตติเพชร ภิงคารวัฒน์
ในวันที่คนไทย 47 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ต และ 9 ใน 10 คนไทยที่ออนไลน์เข้ายูทูบทุกวัน "ยูทูบ มิวสิค" (YouTube Music) คือไพ่ใบใหม่ที่ YouTube จะตอกย้ำภาพให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด

สถิติจาก YouTube ระบุว่าคนไทยบน YouTube มากกว่า 70% ฟังเพลงทุกวัน ขณะที่ 51% ดูรายการทีวีบน YouTube ตัวเลขนี้บอกชัดว่าเพลงเป็นประเภทคอนเทนต์ที่สร้างการมีส่วนร่วมกับคนหรือ engage คนได้มากกว่ารายการทั่วไป

แต่ "กิตติเพชร ภิงคารวัฒน์" ผู้จัดการพันธมิตรฝ่ายเพลง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่าการแจ้งเกิด YouTube Music จะไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงมากมายนัก เนื่องจาก YouTube อยู่ในวงการเพลงมานาน และสามารถแทรกตัวในอุตสาหกรรมเพลงแบบเป็นเนื้อเดียวเรียบร้อย

คอเพลงเกิน 1 พันล้านราย

แม้จะไม่มี YouTube Music แต่ผู้ใช้ที่เข้ามาฟังเพลงใน YouTube ช่วงก่อนหน้านี้มีจำนวนเกิน 1000 ล้านคนแล้ว ท่ามกลางศิลปินกว่า 2 ล้านรายที่ร่วมอัปโหลดเพลงเข้าสู่ YouTube หนึ่งในปัจจัยผลักดันที่ทำให้ศิลปินปักหลักอยู่บนแพลตฟอร์ม YouTube คือการเป็นเครื่องมือทำให้คนค้นพบเพลง เป็นช่องทางที่ทำให้เพลงต่างชาติต่างภาษา ที่หลายคนไม่เข้าใจและร้องตามไม่ได้ สามารถถูกค้นพบบน YouTube ได้อย่างง่ายดาย

มุกพิม อนันตชัย
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทยเล่าว่าเพลงเป็นเนื้อหากลุ่มแรกที่เข้ามาใน YouTube ก่อนเนื้อหาประเภทอื่น สถิติที่น่าสนใจวันนี้คือ 6 ใน 10 ของตารางมิวสิควีดีโอไทยฮิตที่สุด 10 อันดับประจําปี 2017 ล้วนเป็นเพลงลูกทุ่ง สัดส่วนนี้เพิ่มมาเป็น 7 ใน 10 ในปี 2018

วันนี้มีเพลงไทย 3 เพลง ที่ฮิตติดอันดับตาราง Top 100 ของโลก หนึ่งในนั้นคือเพลง "รักติดไซเรน" ซึ่งโดนใจลูกเล็กเด็กแดงทั่วไทย

YouTube ระบุว่าเพราะอยากให้คนไทย enjoy กับเพลงได้ลึกซึ้งกว่าเดิม จึงได้เปิดเป็นรายการ YouTube Music ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือแบบใช้งานฟรีซึ่งจะรวม content เพลงหลายเวอร์ชั่นให้อยู่ใน app เดียว ซึ่งการฟังฟรีนี้มีโฆษณา


แบบที่ 2 คือ YouTube Music Premium เมื่อจ่ายค่าสมาชิก 129 บาทต่อเดือนจะสามารถฟังเพลงแบบ background music ไร้โฆษณาและดาวน์โหลดมาเก็บไว้ฟังออฟไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แบบที่ 3 คือ YouTube Premium นอกจากจะได้ฟังเพลง จะสามารถชม content อื่นบนแอปหลักแบบไร้โฆษณาในราคา 159 บาทต่อเดือน

ทั้งหมดนี้ YouTube ระบุว่าจุดเด่นหลักคือสมาร์ทเสิร์ช ซึ่งรองรับการค้นหาเพลงต่างภาษาทั่วโลก จุดเด่นคือระบบ AI ทำให้การแนะนำเพลงทำได้ฉลาดกว่า ถึงระดับที่ว่าระบบอาจรู้จักคุณมากกว่าที่คุณรู้จักตัวเอง


6 จุดต่าง YouTube Music ไม่เหมือนใคร

จุดเด่นของบริการ YouTube Music คือการรวมเพลงได้ครบทุกเวอร์ชั่น ทั้งการแสดงสดและเพลงรีมิกซ์ ยังมีการแนะนำเพลงตามเวลาและโลเคชั่นซึ่งจะปรับตามความชอบส่วนตัวของผู้ใช้ นอกจากนี้ ระบบของ YouTube Music ยังมีความหลากหลายของ playlist หลักพันรายการ และระบบ smart search ที่สามารถพิมพ์เนื้อเพลงเพื่อค้นหาเพลง รวมถึงแสดงเนื้อเพลงได้แบบ real time

ขณะเดียวกันก็มีวีดีโอฮอตฮิต และสุดท้ายคือการฟังออฟไลน์ ซึ่งระบบจะโหลดเพลงให้อัตโนมัติล่วงหน้าในทุกที่ที่มี wifi

ผู้บริหาร YouTube Music เลี่ยงไม่เปิดเผยจำนวนพันธมิตรค่ายเพลงไทยที่มีในขณะนี้ ระบุเพียงว่ามีค่ายใหญ่เช่น GMM Grammy, RS, Universal Music Thailand, บีอีซีเทโร และอีกหลายค่ายเพลงอิสระ ก่อนจะย้ำว่าใช้เวลานานมากเกิน 5 ปีในการรวบรวมพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริการนี้เกิดขึ้นได้


น่าเสียดายที่ราคานักเรียนของ YouTube Music จะยังไม่เปิดให้บริการในเร็ววันนี้ทั้งบนแพลตฟอร์ม Android และ iOS แต่หากเปิดให้บริการมีความเป็นไปได้ที่บนแพลตฟอร์ม Android จะมีราคาเริ่มต้นที่ 65 บาทต่อเดือน ขณะที่บนแพลตฟอร์ม iOS ยังไม่มีการเปิดเผย

ระยะเวลาทดลองฟรีไม่เท่ากัน

สำหรับระยะเวลาทดลองใช้งาน YouTube Music ฟรี ผู้ใช้ YouTube ทั่วไปจะได้สิทธิ์ทดลองใช้เวลา 1 เดือนและหากเป็นอุปกรณ์ในเครือ Samsung เช่น Galaxy Note และ Fold จะได้สิทธิ์ทดลอง 4 เดือน ขณะที่รุ่นต่ำลงมา จะได้สิทธิ์ทดลองใช้ 2 เดือน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ Samsung เป็นพันธมิตรทั่วโลกกับ Google ในบริการนี้

ในมุมสัดส่วนแบ่งรายได้ ผู้บริหารเชื่อว่าทั้ง creator และพันธมิตรทุกรายจะได้รับรายได้ดีมากขึ้น เบื้องต้นไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้


ที่สำคัญ ผู้บริหารย้ำว่าเพลงทุกเพลงที่มีลิขสิทธิ์เพลงชัดเจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์อยู่ในรายการเพลง YouTube Music ดังนั้นสำหรับกลุ่มเพลงที่หยิบเพลงของศิลปินดังมาร้อง (cover) แล้วโหลดเพลงขึ้น YouTube ด้วยตัวเอง ผู้บริหารระบุว่าควรทำงานร่วมกับค่ายเพลงอิสระ ซึ่งจะทำให้ศิลปินสามารถสร้างชื่อให้ตัวเองได้ไกลกว่าการทำเพลงแล้วอัปโหลดด้วยตัวเอง

"ด้านเพลงที่เป็น exclusive หรือต้นฉบับ เรายังไม่มีนโยบายสร้างเพลงพิเศษที่ฟังได้เฉพาะบน YouTube Music เท่านั้น เพราะมุมมองของ YouTube เชื่อว่า content ควรอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม"

ประเด็นการเปิดให้ผู้ฟังสามารถชำระค่าบริการเพื่อข้ามโฆษณา ผู้บริหารย้ำว่าจะไม่มีผลกระทบกับการสร้างรายได้ของศิลปินเนื่องจากที่ผ่านมา YouTube สนับสนุนการหารายได้ใน 2 โมเดล ได้แก่ โมเดลสมัครสมาชิกและโมเดลการรับโฆษณา โดยรวมเห็นว่าทั้ง 2 รูปแบบสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้เกิดสถานะวินวินทั้ง 2 ฝ่าย

ผู้บริหารย้ำอีกว่าการเลือกเปิดตัว YouTube Music ในช่วงปลายปีเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการวางกรอบเวลาหรือมองปัจจัยการแข่งขันอื่นเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยมีการเติบโตและความพร้อมเต็มที่ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ช้าเกินไปเพราะทุกขั้นตอนของการสร้างบริการ YouTube Music นั้นไม่ง่ายทั้งเรื่องการประสานกับค่ายเพลง ลิขสิทธิ์เพลง และภาษา ซึ่งที่ผ่านมา YouTube Music เปิดให้บริการแล้วใน 71 ประเทศ ซึ่งล่าสุดคือไทย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายอื่นด้วย


"เราไม่มีตัวเลขคาดหวังยอดผู้ใช้ แต่อยากให้ทุกคนได้ลองใช้จะได้เห็นคุณค่า นักโฆษณาจะยังสามารถทำธุรกิจได้แบบเดิม ในประเทศที่เปิดให้บริการแล้วไม่มีใครพบปัญหา ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น" มุกพิมระบุ

ผู้บริหาร YouTube ทิ้งท้ายว่าไม่สามารถเปิดเผยจำนวนเพลงไทยในคลังได้ เพราะพันธมิตรค่ายเพลงมีการเพิ่มเพลงใหม่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับจำนวนพันธมิตรที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น