ในขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับการกระโดดลงมาในวงการสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ของเฟซบุ๊ก (Facebook) หลายคนกลับยังไม่ล่วงรู้ถึง 5 ความจริงของ Libra ที่อาจพัฒนาเป็นความเสี่ยงร้ายแรงในอนาคต ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตจากสายตาของ "ปรมินทร์ อินโสม" ซีอีโอ สตางค์คอร์ปอเรชั่น ผู้ต้องการจุดประกายเตือนประชาชนคนไทยให้รู้ทันก่อนที่ Libra จะแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ
ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงอย่างปรมินทร์ มองประเด็นเรื่องการเข้าถึงและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) เมื่อมีการใช้งาน Libra ว่าเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตามองใกล้ชิด เนื่องจาก Facebook เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องการทำข้อมูลรั่วไหลมาแล้ว นั่นคือบริษัท Cambridge Analytica ที่นำข้อมูลผู้ใช้ Facebook มาทำแคมเปญหาเสียงให้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ โดยบอกว่ามีความเป็นไปได้ หากเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งกับผู้ใช้ Libra
1. ข้อมูลทางการเงินของทุกคนจะถูกเชื่อมกับข้อมูลอื่น
แม้ข้อมูลที่ Facebook และ Calibra ได้รับอาจจะเป็นข้อมูลเพียงส่วนเดียวที่อาจไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันถูกรวมเข้ากับข้อมูลพฤติกรรมทั้งหลายที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งหลายๆบริษัทเช่น Mastercard, Uber และอื่น ๆ จะทำให้การระบุตัวตนผู้ใช้งานนั้นเป็นไปได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะมีผู้คนที่คิดในแง่ดีว่า Facebook จะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
แต่สำหรับบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง Facebook แล้วข้อมูลเหล่านี้อาจสร้างรายได้เป็นพันหมื่นล้านดอลลาร์ ในการระบุได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มใดที่ผู้โฆษณาจะสามารถทำกำไรได้ ก็จะทำให้แพลตฟอร์มของพวกเขามีมูลค่ามากขึ้นแก่ผู้ลงโฆษณา
2. การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น
เหตุการณ์ Cambridge Analytica เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลที่ทุกวันนี้การโจรกรรมทางไซเบอร์กลายเป็นเรื่องปกติมหาวิทยาลัย Maryland ค้นพบว่าทุก 39 วินาทีจะมีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าโดยปกติระบบที่มีตัวกลางตัวเดียวนั้นไม่มีระบบใดที่จะมีความปลอดภัย 100% ซึ่ง Libra เป็น Permissioned Blockchain เก็บข้อมูลไว้ในตัวกลางที่จำกัดเฉพาะหน่วยงานที่เข้าถึง ทำให้แตกต่างจาก Blockchain เช่น Zcoin ที่เป็นแบบ Decentralized อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการจารกรรมทางข้อมูลได้มากกว่าข้อมูลที่ถูกขโมยอาจถูกใช้ทางที่ผิดหรือสร้างความเสียหาย เช่นในปี 2561 มีการรายงานว่าเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่มูลค่าประมาณ 14,800 ล้านดอลลาร์ จากเหตุการณ์หลอกลวงและการจารกรรมทางไซเบอร์
3. จะมีภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ
เมื่อข้อมูลที่ Libra มีนั้นสามารถระบุผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ นั่นแปลว่ามันกำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของชาติเพราะเมื่อข้อมูลนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันมันอาจจะถูกใช้แม้ผู้ใช้งานจะไม่ได้ยินยอมก็ตาม รัฐบาลทั่วโลกอาจจะต้องการข้อมูลเหล่านี้ เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้หลายคนมีอำนาจอย่างที่ไม่เคยมาก่อนในเกมการเมือง
ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นั้น Facebook ได้รับคำร้องกว่า 110,634 คำร้องในการขอเข้าถึงข้อมูลจากรัฐบาล ซึ่งข้อมูลที่ Facebook มีขณะนี้ไม่เพียงพอที่จะสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้แต่ข้อมูลส่วนบุคคลจะสมบูรณ์เที่ยงตรงมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยงกับ Libra ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเช่น Paypal หรือ Visa ซึ่ง Facebook จงใจเลือกเข้ามาร่วมในกลุ่ม Libra Associationและแน่นอนว่าการมีข้อมูลพฤติกรรมของประชากร Facebook กว่า 2 พันล้านผู้ใช้งานจะทำให้ Facebook มีอำนาจทางข้อมูลอย่างไม่เคยมีรัฐบาลที่ไหนในโลกเคยมีมาก่อน
Facebook จะสามารถวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และเทรนด์ในการใช้ชีวิต ที่แน่นอนเสี่ยงต่อการชี้นำทางความคิดและนำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อเป้าหมายทางการเมือง
4. ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจเสรีและประชาธิปไตย
ปัจจุบัน Facebook ตั้งข้อกำหนดในการโฆษณา ตั้งค่าการเห็นคอนเทนท์บน News Feed และมีบริษัทจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกบล็อคโฆษณาโดยปราศจากเหตุผล ทำให้องค์กร พรรคการเมือง บุคคลสารธารณะที่ใช้เงินจำนวนมากในการโฆษณาผ่าน Facebook นั้นได้เปรียบกว่าธุรกิจขนาดเล็กด้วยข้อมูลจาก Libra จะทำให้แพลตฟอร์มาการโฆษณาของ Facebook นั้นสามารถชี้เป้าที่เจาะจงได้
นอกจากนี้ Libra จะเติมเต็มข้อมูลให้กับ Facebook นำไปสู่อำนาจที่จะชี้นำความเข้าใจของคนทั้งโลกก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย
5.รับมือได้ด้วยความรู้
แม้โลกจะมีกระแสต่อต้าน Cryptocurrency เป็นเวลาหลายปีจากผู้ใช้งานที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ Facebook จะสามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกยอมรับ Libra ประเด็นนี้ทำให้รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามากระตุ้นให้ผู้ใช้งานรู้ความเสี่ยงก่อนจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะทำให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงในการเปิดเผยตัวตนทางไซเบอร์ ได้มากน้อยเพียงใด
ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคทุกคนควรจะต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานในการปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ รวมถึงการถามตัวเองถึงประโยชน์ที่จะได้รับจาก Libra เมื่อเทียบกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในการแบ่งปันข้อมูลกับ Facebook.