xs
xsm
sm
md
lg

Facebook โดนตอก "Libra ไม่ช่วยเรื่องคนไร้บัญชี"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รูปแบบการโอนสุดง่ายของเงินสกุลใหม่ Libra
สื่อใหญ่ไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) หยิบสถิติตอกหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) ระบุว่าคำอ้างเรื่องเงินสกุลใหม่ "ลิบรา" (Libra) จะช่วยอุตช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารนั้นอาจไม่เป็นความจริง เพราะสถิติทางการชี้ว่าเหตุผลหลักของการไม่มีบัญชีในคนกลุ่มนี้คือการมีเงินไม่พอที่จะรักษาบัญชี ทางแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การสร้างเงินสกุลใหม่ในอินเทอร์เน็ตอย่างที่ Libra ทำ

นอกจากนี้ Libra ยังถูกมองว่าน่ากังวลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสังคมไร้เงินสด ทั้งกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้สูงวัย-คนยากไร้-ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารที่อาจตามไม่ทันในโลกการค้ายุคใหม่ และความเสี่ยงเรื่องการถูกแทรกแซงได้ง่ายจากหลายปัจจัย

ไม่ว่าโลกจะสงสัยในเงินสกุล Libra เพียงใด แต่ยักษ์ใหญ่บริการสตรีมมิ่งอย่างสปอติฟาย (Spotify) ซึ่งขานรับร่วมเป็นพันธมิตรในสมาคม Libra Association เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นฐานบริการสมาชิกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าใหม่

สำหรับ Libra เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ Facebook วางแผนให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้า (2020) เชื่อว่าผู้ใช้ Facebook จำนวน 2 พันล้านคนจะใช้สกุลเงินใหม่เพื่อซื้อสิ่งของหรือส่งเงินไปต่างประเทศเป็นประจำ



Spotify มั่นใจช่วยธุรกิจ



อเล็กซ์ นอร์สตรอม (Alex Norström) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ธุรกิจระดับพรีเมี่ยมกล่าวในบล็อกโพสต์ของบริษัทว่าที่ผ่านมา ความท้าทายสำหรับ Spotify และผู้ใช้ทั่วโลกคือการขาดระบบการชำระเงินที่เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดที่ด้อยโอกาสทางการเงิน การเข้าร่วมกับสมาคม Libra จึงเป็นโอกาสของ Spotify ที่จะเข้าถึงตลาดใหม่ซึ่งสามารถชำระเงินได้รวดเร็วทั่วโลก

นอกจาก Spotify คาดว่าอีกหลายแบรนด์ที่ร่วมในสมาคม Libra ต่างตั้งความหวังว่าจะเจาะตลาดใหม่ได้ทั้งบริษัททางการเงินอย่างวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) และเพย์พาล (Paypal) รวมถึงบริษัทอย่างอูเบอร์ (Uber), ลิฟต์ (Lyft) และอีเบย์ (Ebay)


ไม่ได้ช่วยคนไร้บัญชี


เบรนเดน กรีลี (Brendan Greeley) ผู้สื่อข่าวไฟแนนเชียลไทม์สตั้งข้อสังเกตว่าแม้เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่จะมีประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา ความบันเทิง ธุรกิจ และล่าสุด เจ้าพ่อบริการสื่อสารอย่าง Facebook ตั้งเป้าว่า Libra จะแก้ปัญหาประชากรโลกที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การสำรวจของสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯหรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เมื่อปี 2017 ระบุชัดว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคาร คือการไม่มีเงินมากพอที่จะรักษาบัญชี
การสำรวจของสถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐฯหรือ FDIC (Federal Deposit Insurance Corporation) เมื่อปี 2017 ระบุชัดว่าเหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคาร คือการไม่มีเงินมากพอที่จะรักษาบัญชี
สถิติในสหรัฐฯชี้ว่า 34% ของผู้ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารให้เหตุผลว่ามีเงินไม่พอ ขณะที่ 15.6% ระบุว่าไม่ทราบ อีก 12.6% ระบุว่าไม่ไว้วางใจธนาคาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Facebook กำลังจัดการกับปัญหาแบบไม่ตรงจุด เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยการใส่บัญชีธนาคารบนอินเทอร์เน็ต การสร้างเงินสกุลใหม่จึงอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหานี้

ที่สำคัญ การสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือมีบัญชีธนาคารแต่ยังใช้บริการกู้รายวันแล้วยอมเสียค่าดอกเบี้ยสูงมหาโหดนั้นเริ่มลดจำนวนลง เฉพาะในสหรัฐฯ ตัวเลขนี้เริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 คาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เป็นผลที่ตามมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปี

สังคมปลอดเงินสดยังเสี่ยง

หาก Libra ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่า Libra จะช่วยเร่งให้หลายประเทศกลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสดมากขึ้น แม้ว่า Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook อาจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ นักวิเคราะห์มองว่าอาจจะมีความเสี่ยงไม่น้อยกว่า 2 ส่วน

ส่วนแรกคือแม้คนยากจน ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารจะถูกผลักดันเต็มที่ แต่ก็มีโอกาสที่คนกลุ่มนี้อาจไม่สามารถมีส่วนร่วมในยุคการค้าสมัยใหม่ก็ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเริ่มต้นใช้บริการออนไลน์ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นกำแพงขวาง ทำให้ราคาของการทำธุรกรรมสกุลเงินเสมือนจริงที่อาจต่ำกว่า แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องสมาร์ทโฟน ค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งสองอย่างมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว

ความกังวลนี้ทำให้หลายพื้นที่เมืองในสหรัฐฯอย่างฟิลาเดลเฟีย ซานฟรานซิสโก และรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้มีการตั้งร้านค้าที่ไม่รับเงินสด เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนที่สองคือ สังคมไร้เงินสดทำให้เศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศเสี่ยงต่อการถูกรบกวน นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจปลอดเงินสดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยร่วมกันเสมอ ทั้งระบบไฟฟ้าที่ต้องเสถียร เครือข่ายการสื่อสารที่ต้องคงที่ และความปลอดภัยที่ต้องแข็งแกร่งตลอดเวลา ซึ่งหากล้มเหลวธุรกรรมดิจิทัลก็จะไม่ทำงาน.



กำลังโหลดความคิดเห็น