นักวิเคราะห์มองหัวเว่ย (Huawei) มีโอกาสกู้ธุรกิจสมาร์ทโฟนหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯเลิกโทษแบน แต่งานนี้ไม่ง่ายเพราะช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่ซื้อเครื่องที่ไม่มีบริการที่ต้องการใช้งาน เช่นเดียวกับผู้ค้าปลีกที่จะไม่สั่งสต็อกสินค้าที่ขายไม่ออก ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Huawei จะมีแผลติดตัวต่อไปอย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง
หลังจากที่ Huawei ได้รับผลกระทบทั่วโลกจากแคมเปญที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ล่าสุดมีสัญญาณว่า Huawei กำลังฟื้นคืนสภาพเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกลางงานประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ว่าจะยกเลิกข้อจำกัดบางส่วนที่ห้ามบริษัทอเมริกันขายเทคโนโลยีและชิ้นส่วนประกอบให้กับ Huawei โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยทรัมป์ระบุชัดว่า "บริษัทสหรัฐฯจะสามารถขายอุปกรณ์ให้กับ Huawei ได้" ตราบใดที่การทำธุรกรรมไม่ได้นำไปสู่ "ปัญหาฉุกเฉินระดับประเทศที่ยิ่งใหญ่"
การเปลี่ยนใจครั้งนี้จะช่วยให้ Huawei มีโอกาสกู้คืนธุรกิจสมาร์ทโฟนในตลาดโลกได้อีกครั้ง โดยที่ผ่านมา Huawei สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้มากกว่าแอปเปิล (Apple) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และประกาศเป้าหมายต้องการแซงหน้าซัมซุง (Samsung) ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกภายในปีหน้า 2020 แต่แล้วฝันของ Huawei ก็ส่อแววล่มสลายเพราะการประกาศของทรัมป์ทำให้ Huawei เป็นข่าวว่าผู้ใช้จะไม่สามารถใช้บริการของกูเกิล (Google) ผ่านสมาร์ทโฟนแบรนด์ Huawei ได้ ส่งให้ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกของ Huawei ลดลง 40% ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคมถึง 16 มิถุนายน เมื่อเทียบกับช่วง 30 วันก่อนหน้านั้น
ล่าสุด Huawei ระบุเพียงว่ารับทราบความคิดเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐเกี่ยวกับ Huawei ในวันเสาร์แล้ว และยังไม่มีความคิดเห็นเพิ่มเติมในขณะนี้
ยังไม่ชัดเจน
แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าบริษัทสหรัฐฯรายใดบ้างที่มีสิทธิ์จำหน่ายชิ้นส่วนหรือบริการให้กับ Huawei แต่นักวิเคราะห์มองว่าซัปพลายเออร์ที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Huawei คือ Google ประเด็นนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าการเข้าถึงระบบปฏิบัติการและแอป Android ของ Huawei จะทำให้ Huawei กลับมาหายใจได้อีกครั้ง แต่ก็อาจจะหายใจได้ไม่ทั่วท้องเพราะปัญหาหลักอยู่ที่ตัว Huawei เอง
ไบรอัน มา (Bryan Ma) นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยไอดีซี ตั้งข้อสังเกตว่าหาก Google ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงและได้รับใบอนุญาตให้ขายสินค้าและบริการให้กับ Huawei ทั้งกูเกิลแม็ปส์ (Google Maps) และจีเมล (Gmail) แต่นับจากนี้ยังต้องรอดูว่า Huawei จะดึงดูดผู้ใช้นอกประเทศจีนได้มากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งในช่วงที่มีข่าวแบน ยอดขายสมาร์ทโฟนของ Huawei ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ในตลาดนอกประเทศจีน (ตามรายงานของ Canalys และ IDC)
มายังระบุว่าในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ค้าปลีกระหว่างประเทศและผู้บริโภคต่างมีความกังวลว่าจะใช้บริการของ Google บน Huawei ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็กังวลว่าจะปรับปรุงความปลอดภัยบนโทรศัพท์ Huawei ได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อโทรศัพท์ที่ไม่ได้ให้บริการตามที่ต้องการ และผู้ค้าปลีกก็ไม่ต้องการซื้อสินค้าไปสต็อกไว้หากไม่สามารถขายได้
ขณะนี้ Google ยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นสำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด โดยระบุเพียงว่าบริษัทกำลังประสานกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด
นักวิเคราะห์หม่าย้ำอีกว่า ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคทุกรายถูกสั่นคลอนความมั่นใจ ซึ่งแม้ในขณะนี้ทุกรายก็ยังมีคำถามรอบตัว Huawei ความเสียหายเหล่านี้จึงจะเป็นแผลติดตัว Huawei ต่อไป แม้ว่าโทษแบนจะถูกยกเลิกแล้วก็ตาม.