xs
xsm
sm
md
lg

มิว สเปซ พร้อมให้บริการ 5G/พาคนท่องอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มิว สเปซ ครบรอบ 1 ปี พร้อมให้บริการดาวเทียมสื่อสารวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก รุกตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม 6 ประเทศในอาเซียน ชูจุดเด่นทำ 5G ได้ หากรัฐบาลสนใจเช่าใช้ทำได้ทันที พร้อมเผยแผนระยะยาวตั้งเป้าเป็นบริษัทเอเชียบริษัทแรกที่พาคนท่องอวกาศในเชิงพาณิชย์ได้

นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจการให้บริการดาวเทียม และกิจการอวกาศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม (แบบมีโครงข่ายดาวเทียมเป็นของตนเอง) จากสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท SES บริษัทให้บริการดาวเทียมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเช่าคลื่นความถี่ดาวเทียมวงโคจรตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก

ดาวเทียมดวงดังกล่าวจะสามารถให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม, มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งการทำตลาดในแต่ละประเทศนั้น ต้องขึ้นอยู่กับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ ว่าจะสามารถเปิดสัญญาณได้เมื่อไหร่ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถให้บริการได้

สำหรับการทำตลาด บริษัทจะเริ่มที่การทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ด้านโทรคมนาคมก่อน โดยจะเน้นให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโต ปัจจุบัน อัตราการการเติบโตของฐานผู้บริโภคในธุรกิจการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสัญญาณโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยมิว สเปซ มีความพร้อมที่จะให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

อีกทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น โปรแกรมดิจิทัลแอปพลิเคชัน เทคโนโลยี 5G ไอโอที (IoT) รวมถึงดาวเทียม ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสัญญาณมือถือ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะต่อไป บริษัทจะทำตลาดกับผู้บริโภคเอง ด้วยการทำสินค้า IoT เอง ด้วยการจับมือกับควอลคอมม์ในการทำงานร่วมกัน

จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ประชากรทั้งหมดในประเทศกัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เวียดนาม และไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 269 ล้านคน โดยที่ 42% ของจำนวนประชากรดังกล่าว หรือประมาณ 113 ล้านคน เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และมีการลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง 359 ล้านเลขหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขจากรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือนั้น มีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรโดยรวมของทั้ง 6 ประเทศเสียอีก

สำหรับในประเทศไทย มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง 120 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของจำนวนประชากร 69 ล้านคนในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านส่วนแบ่งการตลาดของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก้าวตามไปด้วย มีเพียงแค่ 48% ของประชากรไทย หรือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ในอนาคต มิว สเปซ มีแผนที่จะให้บริการ mobile backhaul ผ่านโครงข่ายดาวเทียม รวมทั้งการให้บริการด้านระบบการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ (Broadcasting Communication System) และการให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ทางมิว สเปซ ยังมีแผนที่จะสนับสนุนการให้บริการผ่านโครงข่ายดาวเทียมด้วยการบริการอย่างเชี่ยวชาญ ฝึกอบรม รวมไปถึงบริการแบบเบ็ดเสร็จ (Turn Key) พร้อมกับการดำเนินงานด้านเครือข่ายที่เป็น outsource รวมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) สำหรับการสร้างเครือข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ด้วย

นายวรายุทธ กล่าวว่า ดาวเทียมสื่อสาร สามารถใช้คลื่นได้ทั้งย่าน 3,500 MHz หรือคลื่น 28,000 MHz ซึ่งโอเปอเรเตอร์สามารถใช้ดาวเทียมเป็น backhaul ในการให้บริการ 5G ได้ ดังนั้น ในระยะยาว บริษัทมีแผนจะขยายการเช่าดาวเทียมดวงนี้ต่ออีก 15 ปี และหากรัฐบาลต้องการมีดาวเทียมเป็นของประเทศไทย ก็สามารถมาเช่าใช้ผ่านบริษัทได้

นอกจากธุรกิจการให้บริการดาวเทียมแล้ว บริษัทยังมีโครงการในดิจิทัล พาร์ค โดยในปี 2560 มิว สเปซได้ลงนามในข้อตกลงที่จะสร้างสถานีดาวเทียม (Teleports) และศูนย์ควบคุมดาวเทียมในพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ของประเทศไทย และในปี 2561 มิว สเปซ ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์ปฏิบัติการเพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางด้านดาวเทียม และอวกาศ ในพื้นที่ของทรู ดิจิทัล พาร์ค

เมื่อโครงการดิจิทัล พาร์ค ประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์รวมทางด้านข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบไปด้วย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เคเบิลใต้น้ำ รวมถึงเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ขนาดใหญ่ อีกทั้งดิจิทัล พาร์ค แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ที่ริเริ่มระบบทดสอบ (Testbed) และการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล (Adoption) รวมถึงเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ภายใต้พื้นที่ 960,000 ตารางเมตร ในจังหวัดชลบุรี

ขณะที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค นั้นกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2561 โดยมีพื้นที่ทำงาน Co-working space พื้นที่ให้สำหรับภาคผู้ประกอบการ ภาคนวัตกรรม รวมถึงพื้นที่ในการจัดกิจกรรม และพื้นที่สำหรับการให้บริการทางธุรกิจ บนพื้นที่ขนาด 77,000 ตารางเมตรในกรุงเทพฯ

“การให้บริการการท่องเที่ยวอวกาศ เป็นเป้าหมายทางธุรกิจในระยะยาวของมิว สเปซ เช่นกัน ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศยังเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียนั้น มิว สเปซ ได้ตั้งเป้าในการเป็นบริษัทเอเชีย บริษัทแรกที่สามารถส่งมนุษย์ไปอวกาศในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ มิว สเปซ ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย เพื่อพัฒนาชุดนักบินอวกาศ และถุงมือ เพื่อใช้ในอวกาศด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น