xs
xsm
sm
md
lg

ไร้เงาบล็อกเชนไทย โชว์ตัวงานไอทีใหญ่อาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มร. วิคเตอร์ หว่อง (ซ้าย) ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม จำกัด (มหาชน) (UBM Plc) ผู้จัดงาน ConnecTech Asia 2018 จับมือกับ เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค)
ซอฟต์แวร์พาร์คยกขบวน 13 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเตรียมโชว์ศักยภาพดิจิทัลไทยแลนด์ที่งานคอนเนคเทคเอเชีย 2018 (ConnecTech Asia 2018) ที่สิงคโปร์กลางมิถุนายนนี้ ปรากฏว่าใน 13 สตาร์ทอัปนี้ไม่มีรายใดพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งกำลังเป็นกระแสร้อนแรง เบื้องต้นผอ.ซอฟต์แวร์พาร์คมั่นใจไม่สายเกินหากส่งสตาร์ทอัปบล็อกเชนไทยไปโชว์ปีหน้า ด้านผู้จัดงานประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่รวม 3 งาน คอมมิวนิคเอเชีย-บรอดคาสต์เอเชีย-เน็กซ์เอเชียไว้ด้วยกัน หวังให้งานครอบคลุมเทคโนโลยีสื่อสาร-บรอดคาสต์-นวัตกรรมที่จะเป็นตลาดใหญ่คลุมอาเซียนปีนี้

เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงความร่วมมือในการพา 13 ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์สตาร์ทอัปไทยไปร่วมงาน ConnecTech Asia 2018 ปีนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่าเหตุที่ไม่มีบริษัทเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) จากประเทศไทยร่วมเดินทางไปออกบูธ เป็นเพราะบล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ และยังจำกัดเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค

“บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในจุดเริ่มต้นมากๆ การไปร่วมแสดงเทคโนโลยีปีหน้าถือว่าไม่ช้าไปเลย” โดยผอ.ซอฟต์แวร์พาร์คยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการประยุกต์ใช้บล็อกเชนสูงในขณะนี้
เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค)
การไร้เงาบล็อกเชนไทยถือเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม เนื่องจากบล็อกเชนเป็นหนึ่งในคีย์หลักของงาน ConnecTech Asia ปีนี้ ยังไม่นับรวม AI ซึ่งเชื่อว่าจะมีบทบาทสูงในหลายธุรกิจ โดยงานปี 2018 จะมีการโชว์เทคโนโลยีด้านการสื่อสารทั้ง 5G, FTTX และเทคโนโลยีดาวเทียม รวมถึงเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทชัดเจนในอนาคตเช่น IoT, Cloud, blockchain, สมาร์ทซิตี้ รวมถึงระบบภาพเสียงเสมือนจริงทั้ง AR, VR, MR เช่นเดียวกับเทคโนโลยีบรอดคาสต์ ซึ่งในงานจะเน้นโชว์เทคโนโลยีแพร่ภาพสมัยใหม่ ความละเอียดสูง และระบบสำหรับให้บริการ OTT

อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยที่ซอฟต์แวร์พาร์คคัดเลือกไปโชว์ในงานปีนี้ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจ โดย 13 บริษัทผู้ประกอบการที่จะไปร่วมออกบูธงาน ConnecTech Asia 2018 วันที่ 26-28 มิถุนายนนี้ ประกอบด้วยผู้พัฒนาโซลูชัน IoT โซลูชันบนโทรศัพท์มือถือ โซลูชันด้านอีคอมเมิร์ซ ซอฟต์แวร์เอนเตอร์ไพรซ์ และเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Virtual Reality โดยหลายรายเป็นบริษัทที่เริ่มทำตลาดมากกว่า 1 ปี และมีฐานผู้ใช้หลักพันรายขึ้นไป

เบื้องต้น ซอฟต์แวร์พาร์คประเมินว่าการร่วมออกบูธของบริษัทไทยในงานปีนี้จะสร้างรายได้ทันทีมากกว่า 30-40 ล้านบาท ตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขทรงตัวจากการเข้าร่วมงานในปี 2017

“ซอฟต์แวร์พาร์คเข้าร่วมงานนี้เป็นปีที่ 7 เป้าหมายคือให้ผลงานไทยออกไปทั่วทวีป ที่ผ่านมา 6 ปี เราพาไปประมาณ 15-16 บริษัทต่อปี จุดประสงค์คือออกไปหารายได้ให้ตัวเองและไปหาพันธมิตร หลายบริษัทยังไม่เห็นรายได้ในทันที ต้องรอปี 2-3 จึงเห็นรายได้”

ผอ.เฉลิมพลระบุว่า ปี 2012 ซึ่งเป็นปีแรกที่ซอฟต์แวร์พาร์คจับมือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมจัดตั้งศาลาไทย (Thai Pavilion) ในงาน CommunicAsia (ชื่อเดิมของงาน ConnecTech Asia) ปีนั้นสามารถบันทึกรายได้ที่เกิดขึ้นจริงราว 52 ล้านบาท แต่ตัวเลขกลับตกลงมาเป็น 50 และ 31 ล้านบาทในปี 2016 และ 2017

“ที่มูลค่าซื้อขายซอฟต์แวร์ลดลงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการถูกใจ การหาพันธมิตร ไม่ว่าจะเตรียมตัวขนาดไหนแต่เมื่อเจอปัจจัยทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ปีที่รายได้ขึ้นสูงคือเพราะคุยมานานแล้วมาคลิกที่งานได้”

สำหรับงาน ConnecTech Asia ปีนี้คาดว่าจะมีผู้ร่วมออกบูธ 1,700 ราย 83% เป็นบริษัทต่างประเทศ มากกว่า 52 ประเทศ น่าสนใจว่าแบรนด์ไอทีรายใหญ่หายไปและมีแบรนด์ยุคใหม่อย่างอาลีบาบาคลาวด์, บอช, ฮุนได เข้ามาแทน โดยในงานมีการจัดหัวข้อเสวนาประเด็นร้อน เช่นเรื่องจริยธรรมของระบบ AI และยังมีการโชว์เทคโนโลยีสตูดิโออีสปอร์ต เพื่อรองรับตลาดอีสปอร์ตก่อนที่จะถูกบรรจุในเอเชียนเกมส์ปี 2022 อย่างเป็นทางการ.




กำลังโหลดความคิดเห็น