“สภาพัฒน์” แนะหน่วยงานด้านพัฒนาคน ดึง “เบอร์มือถือ-เลขบัตรประชาชน” เข้าระบบฐานข้อมูล “Big Data ภาครัฐ” เน้นข้อมูลที่สามารถระบุตัวตน จำแนกข้อมูลรายบุคคลได้ หากหน่วยงานใดสนใจใช้ ต้องเซ็น MOU พัฒนาต่อยอดร่วมกัน เผย รัฐไฟเขียว ร่างโครงการพัฒนาฐานข้อมูลส่วนกลาง ให้ 3 หน่วยงานบูรณาการข้อมูลระบบสวัสดิการภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
วันนี้ (24 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ที่มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบต่อแนวทางการบูรณาการระบบสวัสดิการภาครัฐเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนมุ่งเป้า เพื่อให้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center)และ คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)
โดยเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดำเนินการบูรณาการข้อมูลระบบสวัสดิการภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน (กันยายน 2561) พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนข้างต้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการ กขร. ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการระบบสวัสดิการภาครัฐ หลังจากนายกอบศักดิ์ ได้หารือร่วมกับ สภาพัฒน์ สศค. และเนคเทค เรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการฐานข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการภาครัฐ (บัตรคนจน) เพื่อให้สามารถจำแนกข้อมูลรายบุคคลได้ และนำข้อมูล มาประกอบการพิจารณาปรับนโยบาย ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการบูรณาการงบประมาณและสวัสดิการภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องการรวบรวมการจัดสวัสดิการภาครัฐ และมีประเด็นหารือในเรื่องแนวทางการบูรณาการข้อมูล รวมถึงลักษณะข้อมูลที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลกลาง (Central Data Repository) ที่สามารถระบุว่าประชาชนแต่ละคนได้รับสวัสดิการอะไรบ้างเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน
แหล่งข่าวจากทำเนียบระบุต่อว่า ล่าสุด เนคเทคได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) โครงการพัฒนาฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อการบูรณาการข้อมูลระบบสวัสดิการภาครัฐ (Data integration and analytics platform for integrated welfare management)
“ขณะที่ฝ่ายเลขานุการ อนุฯ กขร.ได้ดำเนินการจัดทำแบบสำรวจ ข้อมูลสวัสดิการภาครัฐ โดยได้เชื่อมโยงจากแบบสำรวจของทั้ง สศค. และเนคเทค ให้เป็นแบบสำรวจชุดเดียวกัน เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของข้อมูล และง่ายต่อการกรอกข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมจัดทำรายงานสรุป ประกอบด้วย ข้อมูลหน่วยงาน ข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิการ (ชื่อสวัสดิการ/กองทุน/โครงการ/มาตรการ) ลักษณะการจัดเก็บข้อมูล ข้อจำกัดในการให้ข้อมูล ผู้รับผิดขอบในส่วนของข้อมูลสวัสดิการที่สามารถติดต่อได้"
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ได้นำเสนอการพัฒนาระบบ TPMAP (Thai Poverty Map and Analytics Platform) หลังจากร่วมกับเนคเทคดำเนินการพัฒนา กรณีตัวอย่างในประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประซาขน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ และเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ โดยได้พัฒนาระบบ TPMAP ซึ่งเป็นระบบบิ๊กดาต้าของภาครัฐ ที่จะสามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคลครัวเรือน ชุมซน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือรายประเด็น โดยระบบ TPMAP ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นกำหนดประเด็นหรือโจทย์การพัฒนา 2. ขั้นดำเนินการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูล 2.ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล 4.ขั้นกำหนดแนวทางการพัฒนา
“สภาพัฒน์ยังมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน ให้มีการจัดเก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งให้หน่วยงานทำ MOU ร่วมกันในการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาได้ต่อไป”
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กำหนดการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ จำนวน 7 ด้าน คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (ผู้ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ) การเกษตร การศึกษาและตลาดแรงงาน การท่องเที่ยวและคมนาคม สาธารณสุข การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการขยะ โดยหากสามารถนำ TPMAP ไปใช้ในการบูรณาการข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการ กขร
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ พล.อ.อ.ประจิน เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน หรือจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาดำเนินการรวบรวมข้อมูล ด้านการเกษตร การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องและสามารถรายงานปัญหาอุปสรรคให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการแก้ไขได้ตรงจุด โดยในปี 2560-2561 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาระบบ “Big Data” ใน 3 ด้าน