เปิดบทบาทสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ปีนี้ จัดทัพ 2 แกนช่วยหาทุน-หาตลาดอุดช่องสตาร์ทอัปไทยเหลว แกนหาทุนอัดฉีดงบราว 50 ล้านบาทช่วง 6 เดือนตั้งแต่ มี.ค. ถึง ก.ย. 61 ขณะที่แกนหาตลาดประเดิมที่การจับมือพันธมิตรพาสตาร์ทอัปไทยไปสิงคโปร์ ก่อนขยายไปรัสเซีย และเยอรมนีต่อไป
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล) หรือ DEPA ให้ข้อมูลว่าการสำรวจสตาร์ทอัปทั่วโลกพบว่า ในสตาร์ทอัป 100 ราย ราว 90 รายเป็นสตาร์ทอัปที่ล้มหายไปภายใน 3 ปี สาเหตุหลัก 2 จุด คือ เพราะเงินทุนหมด และการหาตลาดใหม่ไม่ได้ สิ่งที่ DEPA ทำเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัปไทยในปีนี้ จึงแบ่งเป็น 2 ส่วนตามไปด้วย
ประเด็นเงินทุน ฉัตรชัย ระบุว่า DEPA พยายามทำมาตรการสนับสนุนให้ทุนสตาร์ทอัปต่อเนื่อง โดย DEPA ทำโครงการกองทุนสตาร์ทอัป หรือ Startup Fund แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 5 หมื่นบาท, 1 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท โดยระดับแรก 5 หมื่นบาทนั้น เป็นการให้ทุนเปล่า เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัปสามารถสร้างไอเดียออกมาเป็นรูปร่าง ขณะที่ระดับ 1 ล้าน และ 5 ล้านบาทนั้น จะเป็นรูปแบบการลงทุน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการเจรจาว่า DEPA จะได้สัดส่วนหุ้นเท่าใด จุดนี้พันธมิตรนักลงทุนของ DEPA จะช่วยพิจารณาเรื่องคุ้มไม่คุ้ม
“การลงทุนนี้เป็นไปตามเสียงของสตาร์ทอัป ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน บทบาทหลักของ DEPA ในส่วนนี้จะเป็นนักลงทุน ไม่ใช่ผู้ร่วมทุนที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัท ถือเป็นบทบาทหน้าที่ใหม่ที่ พ.ร.บ. ให้อำนาจหน้าที่มา เฟสแรกของโครงการนี้จบแล้วเมื่อเดือนมีนาคม”
DEPA ระบุว่า ไม่ได้ตั้งว่าทั้งปีนี้จะหนุนการลงทุนในสตาร์ทอัปจำนวนกี่ราย แต่ทีมสตาร์ทอัปที่ได้รับเงินอัดฉีด 5 หมื่นบาทแล้วนั้น มีจำนวน 400 ทีม และมีเป้าหมายว่า สตาร์ทอัปที่จะได้รับเงินอัดฉีด 1 ล้านบาทจะมี 20 ทีมและ 5 ล้าน จำนวน 2 ทีม เบ็ดเสร็จโครงการ และงบอัดฉีดนี้จะครอบคลุมระยะเวลา 6 เดือนจากมีนาคม รวม 40-50 ล้านบาท คาดว่าโครงการอัดฉีดครั้งใหม่จะเกิดขึ้นได้ในกันยายน เมื่อสิ้นสุดโครงการปัจจุบัน
ฉัตรชัย ชี้ว่า งบสนับสนุนนี้ได้มาจากสำนักงบประมาณฯ โดยย้ำว่าได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และโครงการต่อไปที่คาดว่าจะเริ่มได้ในกันยายน ตัวเลขเงินอัดฉีดยังไม่แน่นอน เพราะจะปรับเปลี่ยนตามผลของโครงการปัจจุบัน
สำหรับประเด็นหาตลาด DEPA ระบุว่า ได้เซ็น MOU กับผู้จัดงานประชุมเพื่อพาสตาร์ทอัปไทยไปโรดโชว์ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัปได้รับทั้งคอนเน็กชัน ได้งบประมาณ เป็นการออกไปเปิดตลาดมากขึ้น
โครงการล่าสุดที่ DEPA ทำในแกนนี้ คือสตาร์ทอัปฟาสต์แทรก โกอินเทอร์วิธดีป้า (Startup FastTrack “Go inter with depa”) ซึ่ง DEPA ร่วมมือกับสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัป (RISE) และสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KRIS)
โครงการนี้ตั้งเป้าช่วยให้สตาร์ทอัปไทยไม่มี “ภาษา และภาษี” เป็นกำแพงในการบุกตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่มีประชากรมากกว่า 650 ล้านคน โครงการจะคัดเลือกสตาร์ทอัป 10 ทีมที่เหมาะสม มารวมกันใน boot camp นาน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้พบกับนักลงทุนไทย มีผู้ให้คำแนะนำว่าหากต้องไปต่างประเทศ สตาร์ทอัปรายนั้นมีระบบที่ดีแล้วหรือยัง
จาก 10 ทีม จะมีการคัดเลือกให้เลือก 3 ทีม เพื่อไปโชว์ตัวที่ประเทศสิงคโปร์ และได้พบกับนักลงทุนสิงคโปร์
“ชื่อโครงการเรา คือ ฟาสต์แทรก จุดต่างของโครงการ คือ การเป็นสะพานให้สตาร์ทอัปข้ามไปหานักลงทุนได้เร็วที่สุด สตาร์ทอัปกลุ่มเป้าหมาย คือ ทั้งหมดใน “เอสเคิร์ฟ” ที่รัฐบาลไทยสนับสนุน เช่น เรื่องไบโอเทคฯ ท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม เรารับทุกประเภทไม่ปิดกั้น แต่ดูระดับความพร้อมของสตาร์ทอัปที่เหมาะสมมากกว่า อย่างน้อย สตาร์ทอัปนั้น ต้องมี MVP (Minimum Viable Product) แล้ว โครงการจะประกาศผล 10 ทีมที่เข้ารอบในวันที่ 1 มิถุนายนนี้” นางสาวหญิง จิตติพัฒนกุลชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง RISE กล่าว
สำหรับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือ หน่วยงานหลักเพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญหลายด้านให้โครงการนี้
นอกจากสิงคโปร์ DEPA มีแผนพาสตาร์ทอัปไทยไปรัสเซียในพฤษภาคมนี้ด้วย ขณะที่ช่วงมิ.ย. จะพาไปเยอรมนี ทั้ง 2 ประเทศจะมีการประสานกับสถานทูตไทยใน 2 ประเทศ เพื่อพิจารณาเลือกสตาร์ทอัปที่เหมาะกับการโรดโชว์
“เทียบกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเราทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มีมาตรการรองรับทุกภาคทั่วประเทศ มีองค์กรที่เปิดรับไอเดียจากสตาร์ทอัปมากขึ้น” ฉัตรชัย ระบุ “ผมมองเม็ดเงินเป็นส่วนน้อย เราโฟกัสที่การหาตลาด เพราะลูกค้าจะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัปโตได้ยั่งยืน”
นอกจาก 10 ทีมผู้ชนะในโครงการฟาสต์แทรก DEPA เชื่อว่า ภาพรวมสตาร์ทอัปไทยก็จะได้รับประโยชน์ด้วย เพราะงานประชุมนั้น เป็นงานระดับประเทศ ช่วยส่งให้สตาร์ทอัปไทยเป็นแบรนด์แวลูของประเทศไทย นักลงทุนจะรู้จักศักยภาพสตาร์ทอัปไทย เพิ่มการรับรู้ในกลุ่มนักลงทุนระดับโลก.