“พ.อ. สรรพชัย” เผย ภายในปีนี้ได้เซ็นสัญญาเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคมกับดีแทค และทรู อย่างแน่นอน มั่นใจปีนี้ทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้วยการลงนามกับ มจธ. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ
พ.อ. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในปีนี้ กสท จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะได้เซ็นสัญญาให้เช่าอุปกรณ์โทรคมนาคม กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายในปีนี้
“ขณะนี้การเจรจาระหว่างดีแทค กับ กสท ได้ข้อสรุปเรื่องค่าเช่าแล้ว เหลือเพียงการรอผลการสรุประยะเวลาการชำระเงินอีกเล็กน้อย คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กสท ได้ภายในเดือน เม.ย. จากนั้น จะนำเข้าคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 ภายในเดือน พ.ค. เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป จึงมั่นใจว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ ส่วนการเซ็นสัญญากับทรู คาดว่าจะเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกัน อาจจะช้ากว่าดีแทค 1-2 เดือน”
ดังนั้น สัญญาทั้ง 2 บริษัทนี้ จะทำให้ กสท รับรู้รายได้ในปีนี้ ส่งผลให้ กสท มีกำไรในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ข้อพิพาทเรื่องเสาระหว่าง 2 บริษัท กับ กสท ก็จะจบลงด้วย
พ.อ. สรรพชัย กล่าวว่า ในด้านของการพัฒนาบุคลากร กสท ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่ง มจธ. มีความพร้อมทั้งในส่วนขององค์ความรู้ และบุคลากร ในการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ที่สำคัญคือ มจธ. ได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพด้านโทรคมนาคมแห่งแรก และยังเป็นแห่งเดียวของประเทศในปัจจุบัน และอยู่ในระหว่างการยื่นขอมาตรฐานอุตสาหกรรม (ISO17024) ในการรับรองผู้มีทักษะฝีมือในระดับมืออาชีพ (Professionals) ด้านเครือข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และด้านรับส่งคลื่นวิทยุ (Radio Base Station)
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถพัฒนานักศึกษา วิศวกร ผู้ชำนาญการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรม และดิจิทัลเทคโนโลยี ตลอดจนเชื่อมโยงการเรียนการสอน และการสร้างบุคลากรระดับมืออาชีพให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมขยายฐานความร่วมมือของภาคการศึกษา และผู้ประกอบการ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ