แบรนด์เครื่องเสียง “โบส” (Bose) เปิดตัวแว่นตาเทคโนโลยีเสมือนจริง “AR” ที่เน้นคุณภาพเสียงมากกว่าภาพเสมือนจริง ต้นแบบแว่น AR นี้มีกำหนดการเตรียมจัดส่งให้นักพัฒนาก่อนช่วงกลางปีนี้
แว่น AR ต้นแบบของ Bose ถูกเปิดตัวที่งานเซาท์เวสต์อินเทอร์แอคทีฟเฟสติวัล (Southwest Interactive Festival) เมืองออสติน สหรัฐอเมริกา สื่อที่ได้สัมผัสแว่นนี้ ระบุว่า แว่นของ Bose จะไม่เหมือนแว่น AR อัจฉริยะแบบดั้งเดิมจากผู้ผลิตรายอื่น เพราะแทนที่จะเน้นแสดงภาพเสมือนจริง แว่นตารุ่นนี้จะผสมผสานเสียงเพื่อให้ได้เสียงสมจริงตามมุมมองศีรษะและใบหน้าของผู้สวม
การเปิดตัวนี้เรียกความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจาก Bose เป็นที่รู้จักในนามแบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ ต้นแบบแว่น AR นี้แสดงว่า Bose กำลังพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะในรูปแบบที่แตกต่าง ซึ่ง Bose ระบุว่าจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม AR และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนมูลค่ากว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัป และนักพัฒนาซอฟต์แวร์หลายราย
Bose ระบุอีกว่า กำลังร่วมมือกับสถาบันวิจัยด้านวิชาการ หนึ่งในนั้น คือ เอ็มไอที หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ในนาม “มีเดียแล็บ” (Media Lab) และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในนาม “ฟิวเจอร์เรียลิตี้แล็ป” (Future Reality Lab) ยังมีนักพัฒนาและผู้ผลิตสินค้าเช่น แบรนด์เอซิคส์ (ASICS Studio), Starva, TripAdvisor และ Yelp รวมถึงพันธมิตรอื่น ซึ่งสะท้อนว่าแว่นนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้งานในหลายอุตสหกรรม
จุดนี้ จอห์น กอร์ดอน (John Gordon) ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค หรือ Consumer Electronics ของ Bose กล่าวในแถลงการณ์ว่า “Bose AR เป็นตัวแทนของเทคโนโลยี AR รูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นสำหรับทุกคน เพื่อการใช้งานทุกวัน” โดยอธิบายว่าแว่นนี้จะทำให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงในสภาพแวดล้อมจริง ไม่ใช่ภาพดิจิทัล ดังนั้น ผู้ใช้จึงสามารถโฟกัสที่โลกมหัศจรรย์รอบตัวได้มากกว่าที่เคยสัมผัสผ่านการแสดงผลบนหน้าจอขนาดเล็ก
ผู้บริหาร Bose ระบุอีกว่า แว่น AR จะรู้ว่า ผู้สวมกำลังหันหน้าไปทางใด หรือกำลังพบเจอกับวัตถุหรือสถานการณ์ใด ก่อนจะลงมือเชื่อมต่อสถานที่ เวลา เข้ากับเสียงที่ปรากฏอย่างไร้รอยต่อ ดังนั้น ไม่เพียงเกม หูฟังนี้จะเหมาะกับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเสมือนจริง การเรียนรู้อื่น ดนตรี และอีกหลายเนื้อหาที่ต้องการเพิ่มความเสมือนจริง
จุดนี้ แว่น AR ยังสามารถใช้กับบริการหรือแอปพลิเคชันที่แต่ละคนใช้งานหรือชื่นชอบอยู่แล้ว ทำให้แว่น AR นี้ สามารถกำจัดอุปสรรคที่ทำให้ AR จำกัดอยู่เฉพาะในวงการเกมเท่านั้น
ต้นแบบ AR แรกของ Bose จึงถูกอธิบายว่าเป็น “แว่นตาสำหรับการได้ยิน” แทนที่จะทำให้ผู้สวมได้เห็นภาพกราฟิกบนภาพวิวของโลกแห่งความจริง เหมือนที่แว่นตา AR อื่นนิยมทำ แต่ Bose จะเพิ่ม “ชั้นข้อมูลเสียงและประสบการณ์ที่ควรได้ยิน” เบื้องต้น Bose ระบุว่า จะไม่มีชุดหูฟังหรือลำโพงติดตั้งอยู่ในแว่นตาเหล่านี้ แต่บริษัทใช้อุปกรณ์ชื่อ minuscule acoustics package ที่พัฒนามาเพื่อแพลตฟอร์ม AR โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งเข้ากับหูฟัง แว่นตา และหมวกนิรภัยได้
รายงานชี้ว่า แว่นตาต้นแบบของ Bose มีบลูทูธ (Bluetooth) ในตัวและสามารถใช้งานร่วมกับบริการผู้ช่วยส่วนตัวเช่นสิริ (Siri) หรือกูเกิลแอสซิสแทนต์ (Google Assistant) ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์ผ่านแว่นนี้โดยไม่ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือในกระเป๋า แว่นตา AR ต้นแบบนี้ยังมีเซ็นเซอร์เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของศีรษะสำหรับการควบคุมท่าทาง และยังทำงานร่วมกับ GPS จากโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อติดตามตำแหน่งได้ตลอดเวลา
Bose ยืนยันว่าแว่นตา AR เหล่านี้จะวางจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนปีนี้ แต่จะเป็นการจำหน่ายแก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ผลิตในปริมาณที่จำกัด
แน่นอนว่า Bose ไม่ใช่แบรนด์เดียวที่พัฒนาแว่นตา AR อัจฉริยะ เพราะยังมีแบรนด์อย่างอินเทล (Intel), เมจิกลีป (Magic Leap), แอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung) และแอมะซอน (Amazon) และอื่น ๆ อีกมากมายที่มีข่าวว่าจะเดินตามกูเกิล (Google) ซึ่งเป็น บริษัทแรกที่ส่งแว่นตาอัจฉริยะในรูปกูเกิลกลาส (Google Glass) ในปี 2011 แม้ว่าถูกตราหน้าว่า ล้มเหลวในการทำตลาด.