xs
xsm
sm
md
lg

'หัวเว่ย' มั่นใจไทยได้ใช้ 5G ปี 2020

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เจมส์ อู๋
ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้บริหารหัวเว่ยมองประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีแนวโน้มสดใสสำหรับการขยายธุรกิจ 5G ของหัวเว่ย เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่มั่นคงและเครือข่าย 4G รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัลที่ดีมาก หยอดคำหวานตลาดไทยมีความสำคัญเช่นเดียวกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มั่นใจคนไทยมีโอกาสได้ใช้งาน 5G ภายในปี 2020 แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและผู้ให้บริการในท้องถิ่นที่ต้องพร้อมเต็มที่ก่อน

เจมส์ อู๋ (James Wu) ประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) กล่าวในงานโมบายเวิลด์ครองเกรส 2018 (MWC2018) ว่าหัวเว่ยจะบุกตลาด 5G ในภูมิภาคนี้โดยการขยายการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ซึ่งบรอดแบนด์ยังเข้าไม่ถึง และการกระตุ้นให้เกิดนานาบริการที่สามารถใช้ประโยชน์จากความเร็วที่เห็นได้ชัดของ 5G แต่ภาครัฐของทุกประเทศจำเป็นต้องมีนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน 5G ในประเทศ และการจัดการคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่โอเปอเรเตอร์ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือและเครือข่ายคลาวด์ให้ทันเพื่อให้สามารถบริการได้อย่างเหมาะสม

'หัวเว่ยพร้อมที่จะให้คำแนะนำ บริการที่ปรึกษา และได้เสนอโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแก่รัฐบาลไทยแล้ว เราเชื่อว่าเราสามารถช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Thailand 4.0 เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัลได้'



ผู้บริหารหัวเว่ยชี้ว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หัวเว่ยจึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นหลายประเทศในภูมิภาคเปิดตัวยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งโครงการ Thailand 4.0 และ Digital-connected Myanmar ของพม่า ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ไม่เพียงต้องมีนโยบายรัฐที่เหมาะสม แต่ยังมีเรื่องการขาดโครงสร้างพื้นฐาน ICT รวมถึงการรับรู้ และการลงทุนด้านดิจิทัลที่อาจทำให้เกิด 'ความแตกแยกทางดิจิทัล' ช่องว่างในสังคมที่จะขยายกว้างขึ้น และผลประโยชน์ของเศรษฐกิจดิจิทัลที่กระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งยังไม่ได้เป็นที่รับรู้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในมุมของหัวเว่ย ผู้บริหารระบุว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะเร่งดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 5G ในอาเซียนทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ผลจากการทุ่มเทเริ่มงานวิจัย 5G ตั้งแต่ปี 2009 และได้ลงทุนในแผนกวิจัยและพัฒนากว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.88 หมื่นล้านบาท

'5G สำคัญที่การลงทุนเรื่อง R&D เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ จะแข่งขันกับคนอื่นได้ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ ในส่วนของหัวเว่ยมีการลงทุนเรื่องวิจัยและพัฒนาในแต่ละปีกว่า 10% บางปีมากถึง 15%'

***จัดทัพอุปกรณ์ 5G ทุกระดับพร้อมลุย

เจมส์ อู๋ ระบุว่า หัวเว่ยมีแผนเปิดตัวอุปกรณ์ 5G ในเชิงพาณิชย์แบบครบทุกระดับ (full range) ซึ่งรวมถึงเครือข่ายการเข้าถึงแบบไร้สาย (wireless access network) เครือข่ายรับส่งข้อมูล (transport network) และเครือข่ายหลัก (core network) ในเร็ววันนี้ โดยที่ผ่านมา หัวเว่ยเปิดตัวสุดยอดเทคโนโลยีและการออกแบบคลื่นความถี่ซึ่งมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ทางอากาศ (air interface) แล้ว

ปัจจุบัน หัวเว่ยกำลังหนุนตลาดเครือข่าย Narrow Band Internet of Things หรือ NB-IoT เครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเชื่อมต่อเกิน 100 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์มทุกมุมโลกภายในปี 2025 เพื่อใช้ในบริการหลายอุตสาหกรรม ทั้งวงการสาธารณูปโภค การขนส่ง ภาคการผลิต บริการเพื่อดูแลสุขภาพ การเกษตร การเงิน และภาคอื่น ๆ ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล

สำหรับปีนี้ หัวเว่ยคาดว่าจะลงทุนเพิ่มอีก 5 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 2.47 ล้านล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G

***อุปกรณ์บรอดแบนด์ไร้สายที่รองรับ 5G ตัวแรก

กองทัพอุปกรณ์ที่หัวเว่ยนำมาโชว์ตัวบนเวทีงาน MWC2018 ปีนี้ถูกเรียกว่า Customer-Premises Equipment หรือ CPE ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณปลายทางเชิงพาณิชย์อุปกรณ์แรกของโลกที่รองรับมาตรฐานการสื่อสาร 3GPP สำหรับเทคโนโลยี 5G อุปกรณ์นี้ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญของหัวเว่ยที่จะพลิกโฉมวงการสื่อสารและวางรากฐานอนาคตของการเชื่อมต่อแบบไร้สาย

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดจาก 5G CPE หัวเว่ยใช้ชิปเซ็ต Balong 5G01 ซึ่งหัวเว่ยพัฒนาขึ้นเองเพื่อเป็นชิปเซ็ตเชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกที่รองรับมาตรฐาน 3GPP สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยตามทฤษฎีสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 2.3Gbps นอกจากนี้ยังสามารถรองรับ 5G ได้ในทุกย่านความถี่ทั้ง sub-6GHz และคลื่นมิลลิเมตร (mmWave)

นอกจากนี้ ชิปเซ็ต Balong 5G01 ยังทำให้หัวเว่ยเป็นบริษัทแรกที่สามารถนำเสนอโซลูชัน 5G ได้อย่างครอบคลุมทั้งเครือข่าย อุปกรณ์ และในระดับความสามารถของชิปเซ็ต

ผู้บริหารหัวเว่ยอธิบายว่าเทคโนโลยี 5G คือหัวใจสำคัญของการวางรากฐานก้าวต่อไปในโลกอัจฉริยะแห่งอนาคต โลกที่ผู้คน ยานพาหนะ ที่พักอาศัย และทุกอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อถึงกันหมด โดยเงินลงทุนรวมกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมทั้งเรื่องการวางโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเครือข่าย การใช้งาน การตรวจสอบ และอีกมากมาย ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงถึงกันและสมาร์ทโฮม เรื่อยไปจนถึงเทคโนโลยี AR/VR และวิดีโอโฮโลแกรม

วันนี้ อุปกรณ์ 5G CPE จากหัวเว่ยมี 2 โมเดล ได้แก่ อุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่ต่ำ (sub6GHz) และอุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่สูง (mmWave) อุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่ต่ำจะมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา รองรับการใช้งานในเครือข่าย 4G และ 5G และรองรับการดาวน์โหลดด้วยความเร็วสูงสุด 2 Gbps ซึ่งถือว่าเร็วกว่าไฟเบอร์ 100 Mbps ประมาณ 20 เท่า ส่วนอุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่สูงเป็นอุปกรณ์ประเภทที่มีทั้งแบบภายในอาคารและภายนอกอาคาร

ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถดูวิดีโอ VR และเล่นเกม หรือดาวน์โหลดรายการทีวีได้ในเวลาเพียงวินาทีเดียว ขณะที่เครือข่าย 5G สร้างมาตรฐานสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตไฮสปีด ด้วยแบนด์วิธที่กว้างขึ้น การเชื่อมต่อแบบไร้สายที่มีอัตราการบีบอัดสัญญาณต่ำ และความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดที่ 20 Gbps รองรับอุปกรณ์ 1 ล้านอุปกรณ์ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และอัตราการบีบอัดสัญญาณต่ำเพียง 0.5ms ทำให้เทคโนโลยี 5G เชื่อมต่อระหว่างคนกับไอโอที (Internet of Things) ได้ดียิ่งขึ้น รองรับอุปกรณ์จำนวนมากขึ้น และแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้ดีกว่า

วันนี้ หัวเว่ยร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมกว่า 30 รายทั่วโลก อาทิ โวดาโฟน ซอฟท์แบงค์ ที-โมบาย บีที เทโลโฟนิกา ไชน่าโมบาย และไชน่าเทเลคอม ในปี 2017 หัวเว่ยเริ่มต้นทดสอบการใช้เครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ร่วมกันกับพันธมิตรเหล่านี้จนแล้วเสร็จ และเริ่มต้นเปิดการใช้งานเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วในปีนี้ (2018)

***4G จะยังอยู่

แม้เทคโนโลยี 5G จะร้อนแรงเพียงใด แต่ผู้บริหารหัวเว่ยเชื่อว่า 5G จะไม่แทนที่เทคโนโลยี 4G ในทันที แต่ทั้ง 2 มาตรฐานจะอยู่ร่วมกันและส่งเสริมกัน เบื้องต้นคาดว่าเกาหลีใต้จะใช้การเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ก่อนปี 2020 ขณะที่จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นในยุโรปจะดำเนินการปรับใช้ 5G ในปีหน้า ซึ่งหากมองที่เอเชีย ฮ่องกง-ไทย-อินเดีย จะเป็น 3 ประเทศผู้นำเรื่อง 5G

'ถ้าเรามองประเทศในเอเชีย ฮ่องกง ไทย และอินเดียจะเป็นผู้นำในการปรับใช้ระบบ 5G โดย เทคโนโลยี 5G จะไม่แทนที่ 4G ทันที แต่มันจะอยู่ร่วมกันและเสริมกัน โดย 5G จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบริการบรอดแบนด์บนมือถือได้'

นอกจากเชื่อว่าเกาหลีใต้จะนำหน้าชาวโลกเรื่อง 5G ก่อนที่จีน ญี่ปุ่น และยุโรปจะเดินตามมาในปีหน้า ผู้บริหารหัวเว่ยเชื่อว่าการใช้งาน 5G ที่แท้จริงทั่วโลกน่าจะเกิดขึ้นในปี 2020

'สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเติบโตจะเกิดขึ้นจากประชากรกลุ่มใหญ่ เราเชื่อมั่นมากในเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเติบโต รวมถึงความสามารถในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม'

ข้อมูลล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรกว่า 653 ล้านคนคิดเป็น 8.59% ของประชากรโลก ตลาดที่มีศักยภาพสูงทำให้หัวเว่ยมุ่งที่ตลาด CLMV ด้วย (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งจะทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านี้ติดต่อสื่อสารกับธุรกิจ หรือหน่วยงานรัฐได้ดีขึ้นแบบเรียลไทม์

เบื้องต้น หัวเว่ยย้ำว่าได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ระบบดิจิทัลหรือ digital transformation จุดนี้ผู้บริหารหัวเว่ยสรุปว่าได้ร่วมมือกับพันธมิตรในอาเซียนครบทั้ง 4 ขั้นตอนสำคัญของ digital transformation ได้แก่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที, การสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นทั้งบนโลกจริงและโลกดิจิทัล, การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้อุตสาหกรรมปรับตัวเป็นรูปแบบดิจิทัล และการเปิดทางให้ทุกฝ่ายสามารถแบ่งปันและประมวลผลข้อมูลได้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เมืองและรัฐบาลต่างๆ สามารถจัดการกระบวนการ digitization ได้ดีขึ้น

ผู้บริหารหัวเว่ยยังฝากถึงภาครัฐของหลายประเทศ ว่าควรให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิตอลด้วยการมุ่งเน้นไปที่บรอดแบนด์และคลาวด์เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและการพัฒนาที่ครอบคลุม ขณะเดียวกันก็ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิม ทั้งการขนส่ง (รถไฟ ถนน) สาธารณูปโภค (น้ำและไฟฟ้า) ให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม

'ด้วยการสนับสนุนและนโยบายของรัฐบาลที่เข้มแข็ง ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประตูสู่โลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ก็จะเปิดกว้าง'เจมส์ อู๋ ระบุตอนท้าย








กำลังโหลดความคิดเห็น