xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจ 5G ไทยไม่ช้า อาจทันญี่ปุ่นให้บริการปี 2020

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฮิโรยาสุ อาซามิ รองประธานอาวุโส บริษัทเอ็นทีที โดโคโมะ (NTT Docomo)
สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ร่วมสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น จุดพลุกระตุ้นคนไทยเตรียมพร้อมรับยุค 5G ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเผชิญ ด้าน “หมอลี่” เชื่อ 5G ไทยไม่ช้าซ้ำรอย 3G แต่มี 3 ภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องรีบทำ เชื่อบริการ 5G ไทยจะแจ้งเกิดได้พร้อมกันนานาประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่จะใช้ “โอลิมปิกส์ 2020” ที่โตเกียวเป็นมหกรรมจุดพลุ 5G ในแดนอาทิตย์อุทัย

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างเปิดงานสัมนา “5G & Disruptive Technology supporting Thailand 4.0 : Challenges and Opportunities” งานที่จัดขึ้นเป็นครั้งล่าสุด หลังจากจัดงานครั้งแรกเมื่อ 28 ปีที่แล้ว หรือปี 2533 ว่า คนไทยทุกฝ่ายควรเตรียมพร้อมรับมือก่อนที่ประเทศไทยจะหมุนเข้าสู่ยุคบริการ 5G ซึ่งหากทำได้ ประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดกับประเทศไทย

ความคืบหน้าล่าสุดเรื่อง 5G ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปีนี้ คือ การประกาศมติที่ประชุมไอทียู (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ : ITU) ครั้งล่าสุด ที่เห็นพ้องนำคลื่นย่าน 27000-28000 MHz ที่ใช้ในกิจการดาวเทียมมาให้บริการ 5G จุดนี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ว่า 1 ใน 3 สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำก่อนมี 5G คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้แบบไม่รบกวนกัน

“เดือนที่ผ่านมา ITU เพิ่งประกาศมาตรฐานโลก สิ่งแรกที่ไทยต้องทำ คือ การเคลียร์แบนด์ เพราะมาตรฐานที่ประกาศมา คือ Hi band ที่ใช้ร่วมกันได้เหมือนไว-ไฟ เพราะฉะนั้น ไทยต้องคิด และกำหนดมาตรฐานใช้งานให้ชัด เนื่องจาก 5G ไม่ใช่เรื่องของสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตธรรมดา แต่เป็นอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก ต้องไม่ให้รบกวนอุปกรณ์อื่น”

สิ่งที่ 2 ที่รัฐบาลไทยต้องทำ คือ ความปลอดภัย ทั้งเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะหากเกิดการแฮกที่ระบบที่สำคัญ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบธุรกรรมการเงิน และระบบยานยนต์อัตโนมัติ จะเกิดวิกฤตในสังคมแน่นอน

“สิ่งที่ 3 คือ การสร้างความชัดเจนเรื่องกำกับดูแล ว่าจะให้ใครให้บริการได้บ้าง เพราะ 5G ไม่ต้องประมูลคลื่นแล้ว ใครก็ทำได้”

เบื้องต้น ประวิทย์ มองว่า 3G ไทยอาจเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่ 4G ถือว่าไม่ช้า และ 5G ก็คาดว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกับต่างประเทศ

“เชื่อว่า ปี 2020 ไทยเราจะสามารถให้บริการได้ แต่ปัญหาอยู่ที่อุปกรณ์ การจัดการดีไวซ์ และแอปพลิเคชัน แต่ก็ยังมีความท้าทาย คือ ความเป็นไปได้เรื่องคลื่นไม่พอ อาจต้องดูปริมาณ การใช้งานของคนไทยในอนาคตร่วมด้วย”
มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
***จับตา “โอลิมปิกส์ 2020” ที่โตเกียวจุดพลุ 5G บูม

ไม่ว่า 5G ไทยจะช้าเร็วอย่างไร แต่ญี่ปุ่นนั้น มีแผนจุดพลุบริการ 5G อย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 ปีหลังจากไทม์ไลน์ที่สหรัฐอเมริกา วางไว้ว่าจะเปิดศักราช 5G ได้ในปี 2019

ฮิโรยาสุ อาซามิ รองประธานอาวุโส บริษัทเอ็นทีที โดโคโมะ (NTT Docomo) ให้ข้อมูลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของโอเปอเรเตอร์ยุคหน้า คือ ความพยายามทำรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ ทั้งการให้บริการคอนเทนต์อื่น และการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิม

“มันคือความท้าทายของทุกโอเปอเรเตอร์ เราใช้เวลาเปลี่ยนจาก 1G ไป 2G ประมาณ 10 ปี แต่ใช้เวลาไม่กี่ปีเปลี่ยนเป็น 3G, 4G และ 5G เราพบว่า จำนวนผู้ใช้บริการไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เพราะตลาดเริ่มอิ่มตัว ยุคแรกคนใช้สมาร์ทโฟนคุยสนทนากัน แต่สนทนาก็เริ่มลดลง ต้องการใช้เมลมากขึ้น ทุกวันนี้รายได้จากบริการสื่อสารด้วยเสียงลดลง จากดาต้าเพิ่มขึ้น รายได้จากดาต้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

กลยุทธ์ที่ NTT Docomo วางไว้จากนี้ถึงช่วง 3 ปีข้างหน้า คือ จะเพิ่มคุณค่าบริการทั้งฝั่งคอนซูเมอร์ และฝั่งธุรกิจ โดยบริษัทมองว่า เน็ตเวิร์กที่เร็วขึ้นอย่าง 5G จะเป็นประโยชน์กับองค์กรอย่างมาก จึงไปหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือกับบริษัทอย่างจริงจังแต่เนิ่น ๆ ทำให้วันนี้จำนวนพันธมิตรของ NTT Docomo เพิ่มจาก 321 ราย เป็น 394 เพิ่มในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

NTT Docomo ขีดเส้นปี 2020 เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ เนื่องจากปีดังกล่าวจะมีการจัดมหกรรมโอลิมปิกส์ฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว จุดนี้ NTT Docomo ระบุว่าจะใช้ 3 คลื่นทำ 5G ทำให้ความเร็วการรับส่งข้อมูลเพิ่มเป็น 1Gbps ในฤดูร้อนปีนี้ จาก 4G ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2014 บนความเร็ว 225Mbps
บรรยากาศ งานสัมนา “5G & Disruptive Technology supporting Thailand 4.0 : Challenges and Opportunities”
พันธมิตรของ NTT Docomo มีทั้งบริษัทกล้องวงจรปิด “ALSOK” ที่ 5G สามารถเปลี่ยนจากกล้องความละเอียด 2K มาเป็น 4K ได้ ทำให้เห็นหน้าคนร้ายได้ชัดกว่าเดิม ยังมีพันธมิตรด้านเกม ให้ผู้ใช้สามารถเล่นเกม VR ไม่สะดุด ที่น่าสนใจ คือ การใช้คนควบคุมแขนกลหุ่นยนต์ได้แบบเรียลไทม์ ไร้ปัญหาเวลาเลื่อมล้ำกัน

“เราเริ่มทดสอบ 5G ผ่านระบบควบคุมเครื่องมือการก่อสร้างจากทางไกล ผู้ควบคุมนั่งที่อาคาร NTT Docomo ใช้ 5G ควบคุมเครนยกของได้เรียลไทม์ คาดว่าจะขยายไปควบคุมอุปกรณ์ในต่างประเทศได้ด้วย”

สำหรับการใช้โอลิมปิกส์เป็นหลักชัยในการจุดพลุ 5G ที่ญี่ปุ่น ผู้บริหาร NTT Docomo ระบุว่า เพราะโอลิมปิกส์จัดที่ญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ช่วงปี 1964 มีการเปิดให้บริการชินคังเซนครั้งแรก เป็นเส้นทางที่เชื่อมสนามบินฮาเนดะ กับรถไฟปกติ โอลิมปิกส์ครั้งนั้นยังเป็นหลักไมล์เปิดใช้งานทางด่วนสายหลักในญี่ปุ่น แสดงว่าปี 1964 ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

“ปี 2020 เราก็หวังว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ด้วย 5G เพื่อให้นักกีฬาทุกคนดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด NTT Docomo เป็นผู้สนับสนุนหลักกีฬาโอลิมปิกส์ครั้งนี้ ได้มีการรวบรวมพาร์ตเนอร์ เพื่อให้ 5G เป็นประโยชน์กับทั้งสื่อมวลชน นักท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัย และหมู่บ้านนักกีฬา”


กำลังโหลดความคิดเห็น